
จับกระแสตลาด
เป็นความเคลื่อนไหวที่น่าจับตาไม่น้อย สำหรับ “โอสถสภา” บริษัทเก่าแก่ที่อายุกว่า 127 ปี ที่ได้มีการปรับโครงสร้างการบริหารครั้งใหญ่จากแฟมิลี่บิสซิเนสไปสู่การดึงมืออาชีพเข้ามาบริหาร และเตรียมจะนำบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ โดยจะเสนอขายหุ้นต่อประชาชนทั่วไปครั้งแรก (IPO) ในวันที่ 17 ตุลาคมที่จะถึง
โดยการระดมทุนในครั้งนี้ คาดว่าจะมีมูลค่าสูงถึง 1.5 หมื่นล้านบาท จากการขายหุ้นไอพีโอ 603.75 ล้านหุ้น ในช่วงราคาที่กำหนดเบื้องต้นระหว่าง 22-25 บาทต่อหุ้น ซึ่งจะมีการสรุปราคาอีกครั้งในวันที่ 5 ตุลาคมนี้
“เพชร โอสถานุเคราะห์” ประธานกรรมการบริหาร บริษัท โอสถสภา จำกัด (มหาชน) ย้ำว่า การนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯนั้น หากมองระยะยาวถือว่าเป็นเรื่องจำเป็น เพราะธุรกิจของโอสถสภาไม่ได้
มีเฉพาะในเมืองไทย แต่กำลังขยายต่อไปในเอเชียและภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วโลก ดังนั้น การบริหารด้วยมืออาชีพจะช่วยให้องค์กรมีความยั่งยืน ต่อยอดความแข็งแกร่ง สู่การเป็นผู้ผลิตและจัดจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคชั้นนำของไทยและอาเซียน
สำหรับ “ขุมทรัพย์” ที่สำคัญของโอสถสภา ที่ “เพชร” เน้นย้ำมาโดยตลอดก็คือ “แบรนด์” ภายใต้พอร์ตโฟลิโอที่ครอบคลุมกลุ่มสินค้าทั้งหมด 4 กลุ่ม ได้แก่ 1.เครื่องดื่ม อาทิ เครื่องดื่มชูกำลัง, ภายใต้แบรนด์เอ็ม-150, ลิโพวิตัน-ดี, ฉลาม, โสมอินซัม ฯลฯ ซึ่งรวมแล้วมีมาร์เก็ตแชร์กว่า 54% เป็นผู้นำตลาด 2.ผลิตภัณฑ์ของใช้ส่วนบุคคล อาทิ เบบี้มายด์ และทเวลฟ์พลัส 3.บริหารจัดการด้านซัพพลายเชน อาทิ ซี-วิต และคาลพิส และธุรกิจอื่น ๆ อาทิ โอเล่และโบตัน
“เราจะใช้กลยุทธ์แบรนด์พอร์ตโฟลิโอ สร้างการเติบโตทั้งไทยและต่างประเทศ ทิศทางต่อจากนี้ไม่เพียงจะผลักดันให้กลุ่มเครื่องดื่ม ที่เป็นรายได้ในปัจจุบันหลักให้เติบโตมากขึ้น แต่กลุ่มของสินค้าส่วนบุคคล รวมถึงช่องทางออนไลน์ก็จะผลักดัน เนื่องจากเป็นโอกาสที่มีศักยภาพไม่แพ้กัน”
จากหนังสือชี้ชวนของบริษัท ได้ระบุถึงไทม์ไลน์ในระยะกลางว่า จะมีการเปิดตัวผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มใหม่อีก 6-9 แบรนด์ เพื่อรองรับความต้องการของผู้บริโภคและกระแสตลาด โดยจะโฟกัสไปที่กลุ่มเครื่องดื่มเกี่ยวกับสุขภาพ ที่เจาะผู้บริโภคคนเมือง คนรุ่นใหม่ และกลุ่มผู้หญิง โดยเรียกกลุ่มดังกล่าวว่า “look good, feel good” ซึ่งปัจจุบันโอสถสภายังไม่มีสินค้าในเซ็กเมนต์นี้
ตลอดจนการใช้แพลตฟอร์มของอีคอมเมิร์ซและเอ็มคอมเมิร์ซ ช่วยในการเพิ่มยอดขาย ซึ่งปัจจุบันได้เข้าไปเป็นพันธมิตรกับเทสโก้ บิ๊กซี ท็อปส์ และลาซาด้าแล้ว และกำลังหาพาร์ตเนอร์เพื่อบุกต่างประเทศผ่านช่องทางนี้มากขึ้น
“วรรณิภา ภักดีบุตร” กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โอสถสภา จำกัด (มหาชน) เสริมว่า การทำตลาดในประเทศจะมีการออกสินค้าใหม่อย่างต่อเนื่อง ทั้งกลุ่มเครื่องดื่มใหม่ ๆ โดยเฉพาะฟังก์ชั่นนอลดริงก์และเพอร์ซันนอลแคร์ ซึ่งมองว่ามีโอกาสอีกมหาศาลในช่องทางออนไลน์ พร้อมกับการปรับโพซิชันนิ่งของสินค้าบางแบรนด์ให้ทันสมัย เช่น การรีแบรนด์ 12 พลัส ให้มีภาพลักษณ์เหมาะกับคนรุ่นใหม่ โดยการใช้ไอดอลมาร์เก็ตติ้ง ดึงศิลปินวง BNK48 เป็นพรีเซ็นเตอร์ เพื่อขยายฐานลูกค้าไปยังกลุ่มนักศึกษา และวัยเริ่มทำงานเพิ่มเติม ตลอดจนโสมอินซัม ที่รีแบรนด์สร้างความชัดเจนว่าเป็นเครื่องดื่มชูกำลังสำหรับผู้หญิงโดยเฉพาะ
ขณะเดียวกันก็ต้องเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้า เช่น การใช้บรรจุภัณฑ์แบบกระป๋อง ตอบโจทย์ลูกค้าวัยรุ่น อย่างเอ็มสตอร์มและชาร์ค พร้อมกับการนำเอาบิ๊กดาต้าเข้ามาใช้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการออกสินค้าและทำตลาดได้อย่างตรงจุด และเข้าใจอินไซต์ของผู้บริโภคมากขึ้น
ส่วนในตลาดต่างประเทศ แม้ว่าปัจจุบันโอสถสภาจะส่งออกสินค้าไปจำหน่ายแล้ว 25 ประเทศทั่วโลก แต่กลุ่มที่เข้าไปลงทุนอย่างจริงจัง ยังอยู่แค่ในประเทศเพื่อนบ้านโดยรอบ ซึ่งขณะนี้กำลังก่อสร้างโรงงานเครื่องดื่มในเมียนมา คาดว่าจะสามารถเดินเครื่องผลิตภายในปลายปี 2562 ตลอดจนปรับกลยุทธ์การจัดจำหน่ายในกัมพูชา ลาว อินโดนีเซีย
พร้อมกับศึกษาโอกาสการเข้าไปขยายตลาดใน “เวียดนามและจีน” เร็ว ๆ นี้ ในรูปแบบของการจับมือกับพาร์ตเนอร์ เพื่อรับกับกำลังซื้อของตลาดที่มีขนาดใหญ่ เติบโตสูง
“การเข้าระดมทุนครั้งนี้ ต้องการเสริมศักยภาพการดำเนินธุรกิจให้มีความแข็งแกร่ง รองรับแผนการรุก
ขยายครั้งใหญ่ในภูมิภาคอาเซียน ที่มีมูลค่าการลงทุนในช่วง 2 ปีนี้กว่า 5,000 ล้านบาท ทั้งการสร้างโรงงานในเมียนมา โรงผลิตขวดแก้วแห่งใหม่ การเพิ่มสายผลิต ฯลฯ ซึ่งจะผลักดันให้โอสถสภาเติบโตแบบก้าวกระโดด และรักษาความเป็นผู้นำในผลิตภัณฑ์เครื่องดื่ม
และของใช้ส่วนบุคคล”
สำหรับยอดขายของบริษัทในช่วงครึ่งปีแรกอยู่ที่ 12,543 ล้านบาท กำไร 1,444 ล้านบาท ส่วนปี 2560 มีรายได้รวมทั้งปีอยู่ที่ 24,571 ล้านบาท (ไม่รวมยูนิชาร์มและฟิวเจอร์ กรุ๊ป) มีกำไรสุทธิ 2,833 ล้านบาท โดยสัดส่วนหลักมาจากเครื่องดื่ม 73.3% ผลิตภัณฑ์ของใช้ส่วนบุคคล 8.5% ธุรกิจบริหารจัดการด้านซัพพลายเชน 14.1% ธุรกิจการขายสินค้าอื่น ๆ 0.8% ธุรกิจการให้บริการ 3.3%
นี่เป็นอีกก้าวหนึ่งที่โอสถภากำลังจะสร้างแรงสั่นสะเทือนให้กับตลาดอีกครั้งหนึ่ง