ยุทธศาสตร์…รพ.กรุงเทพ พัทยา แตกแบรนด์ใหม่เจาะคนไทย

กลายเป็นสมรภูมิการแข่งขันที่ร้อนแรงอีกพื้นที่หนึ่ง สำหรับการแข่งขันของธุรกิจโรงพยาบาลแถบภาคตะวันออก โดยเฉพาะจังหวัดชลบุรี เนื่องจากเป็นเมืองที่มีกลุ่มอุตสาหกรรมเข้ามาลงทุน และมีเมืองท่องเที่ยวสำคัญอย่าง พัทยา ทำให้ดีมานด์ความต้องการด้านการรักษาสุขภาพในภูมิภาคนี้โตขึ้นอย่างต่อเนื่อง

“ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์ “นายแพทย์สีหราช โลหชิตรานนท์” ผู้อำนวยการโรงพยาบาลกรุงเทพ พัทยา บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) หรือบีดีเอ็มเอส ถึงยุทธศาสตร์และการขยายธุรกิจของโรงพยาบาลกรุงเทพ พัทยา เพื่อรองรับความต้องการด้านการรักษาที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต

นายแพทย์สีหราชเริ่มเล่าถึงสมรภูมิการแข่งขันของธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนย่านชลบุรีว่า ตลาดนี้แข่งขันกันค่อนข้างสูงในทุกๆ ด้าน ทั้งแพ็กเกจการรักษา บริการทางด้านการแพทย์ ซึ่งกลุ่มบีดีเอ็มเอสเองก็มีโรงพยาบาลที่เปิดบริการในภาคตะวันออกนี้ถึง 3 แบรนด์ ได้แก่ โรงพยาบาลกรุงเทพ สมิติเวช และพญาไท กระจายตัวอยู่ในจังหวัดต่าง ๆ แถบภาคตะวันออก และในจังหวัดชลบุรีมีถึง 4 โรง 3 แบรนด์ ได้แก่ โรงพยาบาลกรุงเทพ พัทยา, สมิติเวช ศรีราชา, สมิติเวช ชลบุรี และพญาไท ศรีราชา โดยมีจำนวนเตียงรวมกันแล้วคิดเป็นสัดส่วนมากกว่า 50% จากทั้งหมด 1,500 เตียง ของโรงพยาบาลเอกชนในชลบุรี

อย่างไรก็ตาม ในจังหวัดชลบุรีเอง โดยเฉพาะเมืองพัทยาที่ถือเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ อีกทั้งจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศก็เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ทำให้ความต้องการด้านการรักษา และธุรกิจเฮลท์แคร์โตขึ้นตามไปด้วย ซึ่งโรงพยาบาลกรุงเทพ พัทยา ถือเป็นผู้เล่นรายใหญ่ในจังหวัดนี้ เนื่องจากมีจำนวนเตียงมากที่สุดในชลบุรี โดยมีถึง 300 เตียง และด้วยแนวโน้มความต้องการทางด้านการรักษาที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้ปัจจุบันพื้นที่การบริการผู้ป่วยของโรงพยาบาลกรุงเทพ พัทยา เริ่มเต็ม ทำให้ต้องขยายโรงพยาบาลเพิ่มเพื่อรองรับดีมานด์ที่มากขึ้น

“ฐานลูกค้าหลักของโรงพยาบาลกรุงเทพ พัทยา คือ คนไทย 45% และต่างประเทศ 55% ซึ่งจำนวนผู้ป่วยที่เข้ามาใช้บริการก็เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เพราะพัทยาเป็นเมืองท่องเที่ยว ทำให้เราต้องขยายโรงพยาบาลเพิ่ม รวมถึงพัฒนาโรงพยาบาลกรุงเทพ พัทยา ให้เป็นโรงพยาบาลที่รักษาโรคที่มีความซับซ้อนมากขึ้น เพื่อให้สามารถดูแลผู้ป่วยให้ครอบคลุมมากขึ้น ทั้งคนในพื้นที่และคนต่างชาติ”

นายแพทย์สีหราชบอกว่า ล่าสุดได้เริ่มก่อสร้างโรงพยาบาลแห่งใหม่ภายใต้ชื่อ “โรงพยาบาลจอมเทียน” ขนาด 230 เตียง บนพื้นที่ 6 ไร่ บริเวณพัทยาใต้ ถนนสุขุมวิท ต.หนองปรือ อ.บางละมุง จ.ชลบุรี ซึ่งห่างจากโรงพยาบาลกรุงเทพ พัทยา 5 กิโลเมตร เน้นรักษาโรคทั่วไป โรคไม่ซับซ้อน เจาะกลุ่มคนไทยเป็นหลัก คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ต้นปี 2563

สำหรับทิศทางธุรกิจ 3 ปีจากนี้ โรงพยาบาลกรุงเทพ พัทยา จะเดินหน้าด้วย 3 ยุทธศาสตร์หลัก ได้แก่ การพัฒนาศักยภาพการรักษาพยาบาลขั้นสูง และศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ (Center of Excellence Network) ด้วยการร่วมมือทางการแพทย์กับสถาบันการแพทย์ชั้นนำในต่างประเทศ เช่น Oregon Health & Science University (OHSU) เป็นต้น เพื่อยกระดับทางด้านการรักษาให้เทียบเท่ากับต่างประเทศ ตามด้วยการเดินหน้าขยายตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มตลาดใหม่ ๆ

ซึ่งที่ผ่านมาได้โรดโชว์ในตลาดต่างประเทศต่อเนื่อง ทำให้มีลูกค้าใหม่ ๆ จากกลุ่มตะวันออกกลางเพิ่มขึ้น จากเดิมที่มีโอมานเป็นกลุ่มลูกค้าหลักเท่านั้น โดยครึ่งปีหลังนี้จะมีลูกค้าจากดูไบ และประเทศในกลุ่มยูเออี เข้ามารักษาเพิ่มขึ้น

นอกจากนี้ ตลาดอินโดนีเซียถือเป็นอีกโอกาสสำคัญ เนื่องจากที่ผ่านมาทางอินโดนีเซียส่งต่อผู้ป่วยไปทางสิงคโปร์ แต่ช่วงหลังราคาค่ารักษาพยาบาลสูงขึ้น ทำให้อินโดนีเซียเริ่มหาตลาดด้านการรักษาใหม่ ๆ จึงเป็นจังหวะของโรงพยาบาลไทย เพราะค่ารักษาไม่แพงและมาตรฐานการรักษาใกล้เคียงกับสิงคโปร์ ซึ่งโรงพยาบาลก็เริ่มมีกลุ่มลูกค้าจากอินโดนีเซียเข้ามารักษามากขึ้นเช่นกัน

“ลูกค้าต่างชาติที่เข้ามาก็ต้องการการรักษาที่แตกต่างกัน เช่น กลุ่มตะวันออกกลางจะเข้ารักษาโรคที่มีความซับซ้อน ขณะที่คนจีนจะเข้ามาตรวจสุขภาพ และใช้บริการเวชศาสตร์แห่งการชะลอวัย ส่วนกลุ่มนิวซีแลนด์ ออสเตรเลีย จะเข้ามารักษาโรคทั่วไป ซึ่งปัจจุบันโรงพยาบาลดูแลลูกค้าต่างประเทศมากกว่า 20 ชาติ และทำงานร่วมกับบริษัทประกันจากทั่วโลกกว่า 600 บริษัท”

ส่วนยุทธศาสตร์สุดท้าย คือ การแก้ปัญหาการขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์ โดยนายแพทย์สีหราชยอมรับว่า แม้โรงพยาบาลกรุงเทพ พัทยา จะเป็นโรงพยาบาลใหญ่ แต่ก็ไม่สามารถแข่งขันได้ในทุก ๆ เรื่อง โดยเฉพาะเรื่องผลตอบแทนของบุคลากรที่เพิ่มสูงขึ้น จากปัญหาการแย่งตัวบุคลากรในธุรกิจนี้

ดังนั้น สิ่งที่ต้องทำ คือ การสร้างวัฒนธรรมองค์กร โดยให้ความสำคัญกับคุณภาพของการรักษาผู้ป่วยเป็นหลัก รวมถึงการปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงาน การจ้างงานให้สอดรับกับคนรุ่นใหม่ เช่น บางกลุ่มต้องการทำงาน 2 สัปดาห์ พัก 2 สัปดาห์ หรือบางกลุ่มต้องการทำงานเฉพาะช่วงเย็น ซึ่งที่ผ่านมาบริษัทก็จัดรูปแบบการทำงานให้เหมาะสมกับคนกลุ่มนี้ เป็นต้น รวมถึงมีการนำระบบเทคโนโลยี ไอที และปัญญาประดิษฐ์ (AI : artificial intelligence) เข้ามาใช้ในบางแผนก เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่บุคลากร ปัจจุบันมีทีมแพทย์ 130 ท่าน และพนักงานทั้งหมด 1,600 คน

นายแพทย์สีหราชทิ้งท้ายถึงโอกาสที่จะเกิดจากโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ว่า ที่ผ่านมากลุ่มบีดีเอ็มเอสก็ติดตามความคืบหน้าของโครงการนี้มาเป็นระยะ และกลุ่มโรงพยาบาลบีดีเอ็มเอสในภาคตะวันออกก็มีการทำงานร่วมกันอยู่แล้ว ยกตัวอย่างเช่น โรงพยาบาลกรุงเทพ ระยอง จะดูแลด้านอาชีวเวชศาสตร์ในอุตสาหกรรมต่าง ๆ ส่วนโรงพยาบาลกรุงเทพ พัทยา ทำหน้าที่ในการส่งต่อผู้ป่วย และรักษาผู้ป่วยที่มีความซับซ้อน รวมถึงมีคลินิกโรงพยาบาลกรุงเทพ พัทยา ในสนามบินอู่ตะเภาด้วย อย่างไรก็ตาม หากโครงการอีอีซีเริ่มต้นขึ้นจริง ๆ กลุ่มบีดีเอ็มเอสก็พร้อมจะขยายบริการรองรับโอกาสที่เกิดขึ้นทันที

ด้วยศักยภาพของโรงพยาบาลกรุงเทพ พัทยา ที่มีบริการทางการรักษา 40 แผนก ประกอบกับมีระบบบริหารจัดการที่ดี รวมถึงมีกลุ่มโรงพยาบาลเครือข่ายที่พร้อมสนับสนุนในทุก ๆ ด้าน ก็กลายจุดขายสำคัญในการดึงความสนใจจากลูกค้าทั้งไทยและต่างประเทศ พร้อม ๆ กับการสร้างรายได้ให้เติบโตขึ้นในอนาคต