“ลักเซอรี่ยุโรป” เนื้อหอม มะกันจ้องฮุบเจาะตลาดไฮเอนด์

คอลัมน์ Market Move

การแย่งซื้อกิจการแบรนด์แฟชั่นระดับซูเปอร์ไฮเอนด์ในยุโรปส่อเค้าดุเดือดเป็นพิเศษในช่วง 1-2 ปีจากนี้ หลังจากที่ผู้ก่อตั้งและเจ้าของแบรนด์ดังหลายแบรนด์อย่างพราด้า, จิออร์จิโอ อาร์มานี่ และอื่น ๆ เริ่มส่งสัญญาณว่า ต้องการเกษียณตัวเองหลังจากนั่งกุมบังเหียนธุรกิจมานาน

เปิดโอกาสให้กลุ่มแฟชั่นเฮาส์สัญชาติอเมริกัน ใช้โอกาสนี้เป็นสปริงบอร์ดดันตัวเองขึ้นสู่ตลาดลักเซอรี่ ที่เดิมถูกผูกขาดโดย 2 ยักษ์ใหญ่สัญชาติฝรั่งเศส อย่าง “โมเอ็ท เฮนเนสซี่ หลุยส์ วิตตอง” (LVMH) ผู้ครอบครองแบรนด์แฟชั่น เครื่องประดับ นาฬิกา และน้ำหอมระดับไฮเอนด์รวมกันกว่า 40 แบรนด์ อย่างหลุยส์ วิตตอง, ดิออร์, แทค ฮอยเออร์ และอื่น ๆ และ “เคอริ่ง” (Kering) เจ้าของแบรนด์ไฮเอนด์กว่า 16 แบรนด์ อาทิ กุชชี่, เซนต์ ลอเรนต์ ฯลฯ มาอย่างยาวนาน

ล่าสุดสำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า “ไมเคิล คอร์ส” (Michael Kors) แบรนด์แฟชั่นสัญชาติสหรัฐประสบความสำเร็จในการเจรจาซื้อกิจการบริษัท “จิอานนี่ เวอร์ซาเช่” (Gianni Versace) เจ้าของแบรนด์ลักเซอรี่แฟชั่นสัญชาติอิตาเลียน “เวอร์ซาเช่” ในมูลค่า 2.1 พันล้านเหรียญสหรัฐ

ซึ่งนับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่ผู้ประกอบการอเมริกันสามารถเจาะเข้าสู่แวดวงลักเซอรี่ระดับซูเปอร์ไฮเอนด์ของยุโรปได้ และเป็นก้าวกระโดดของไมเคิล คอร์ส หลังจากที่ก่อนหน้าได้ทุ่มเงิน 1.2 พันล้านเหรียญสหรัฐซื้อกิจการแบรนด์รองเท้าจิมมี่ ชู (Jimmy Choo) ไปเมื่อปีที่แล้ว พร้อมกันนี้ “ไมเคิล คอร์ส” ยังได้ประกาศเปลี่ยนชื่อบริษัทจาก “ไมเคิล คอร์ส โฮลดิงส์” เป็น “คาปรี โฮลดิงส์”(Capri Holdings) โดยทางบริษัทให้เหตุผลว่า ได้แรงบันดาลใจจากเกาะคาปรี แหล่งท่องเที่ยวสำคัญของอิตาลี มีชื่อเสียงด้านความสวยงามและหรูหรา

สำหรับโครงสร้างของแบรนด์แฟชั่นอิตาเลียนนั้น “โดนาเทลลา เวอร์ซาเช่” ผู้บริหารและน้องสาวของ “จิอานนี่ เวอร์ซาเช่” ผู้ก่อตั้งแบรนด์ จะรับหน้าที่บริหารแบรนด์ต่อไป เพื่อรักษาตัวตนของแบรนด์และการยอมรับของกลุ่มลูกค้า ส่วนด้านกองทุนแบล็กสโตนซึ่งถือหุ้น 20% จะขายหุ้นทั้งหมดและถอนตัวออกไป

“จอห์น ไอดอล” ซีอีโอของไมเคิล คอร์ส ได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อเมื่อเดือน ส.ค. ระบุว่า หากสามารถพลิกให้ธุรกิจในยุโรปกลับมาแข็งแกร่งได้ จะทำให้บริษัทสามารถเข้าไปอยู่ในกลุ่มผู้เล่นระดับกลางของตลาดลักเซอรี่โลกได้ โดยในช่วงไตรมาสที่ผ่านมาบริษัทมียอดขายลดลง 1.6% มีสาขาทั้งหมด 192 แห่งในยุโรป

ด้านนักวิเคราะห์มองว่า ความเคลื่อนไหวนี้เป็นเพียงคลื่นลูกแรกของกระแสการเข้าซื้อกิจการแบรนด์แฟชั่นยุโรป เนื่องจากขณะนี้ผู้บริโภคระดับไฮเอนด์เป็นกลุ่มเดียวที่ยังจับจ่ายต่อเนื่อง สวนทางกับสภาพเศรษฐกิจสหรัฐและโลก โดยคาดว่าตลาดสินค้าไฮเอนด์มีแนวโน้มเติบโตจาก 3.07 แสนล้านเหรียญสหรัฐในปี 2560 เป็น 4.46 แสนล้านเหรียญสหรัฐในปี 2568 ทำให้ผู้ประกอบการพยายามต้องการจับผู้บริโภคกลุ่มนี้ให้ได้

แหล่งข่าวผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์รายหนึ่ง อธิบายว่า การมีสินค้าไฮเอนด์ในพอร์ตโฟลิโอเหมือนเป็นหลักประกัน ในการรับมือสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ สังเกตได้จากผู้บริโภคที่สามารถซื้อเวอร์ซาเช่ได้ มีแนวโน้มจะใช้จ่ายต่อเนื่องแม้เศรษฐกิจฝืด ต่างจากกลุ่มที่ซื้อแบรนด์ระดับกลางหรือบนซึ่งมักชะลอการซื้อในช่วงเวลาเดียวกัน ทำให้แบรนด์ระดับกลาง-บนอย่างไมเคิล คอร์สถูกกระทบหนักจนต้องเร่งปรับตัว

อย่างไรก็ตาม แผนอัพเกรดตัวเองนี้ยังมีความท้าทายอยู่เช่นกัน โดยเฉพาะในตลาดสหรัฐ ซึ่งทั้งไมเคิล คอร์สและคู่แข่งอย่าง “ทาเพสทรี” (Tapestry) บริษัทแม่ของโค้ช (Coach) กำลังสูญเสียภาพลักษณ์แบรนด์หรู เนื่องจากทำโปรโมชั่นราคามากเกินไป รวมถึงต้องเร่งหาช่องทางขายใหม่ ๆ มาทดแทนห้างสรรพสินค้าที่ปิดตัวอย่างต่อเนื่อง


ส่วนไมเคิล คอร์สจะใช้อาวุธใหม่ชิ้นนี้พลิกฟื้นสถานการณ์ในตลาดสหรัฐและยุโรปอย่างไรนั้น ยังต้องจับตาดูอย่างใกล้ชิดต่อไป