“ดร.สมชาย” แตกธุรกิจใหม่ หนีตลาดแข่งเดือดลุย CLMV

หนีเรดโอเชี่ยน “ดร.สมชาย” แตกไลน์ธุรกิจใหม่ “ดีปเทคโนโลยีชีวภาพ” เล็งขายไลเซนส์/จับมือพาร์ตเนอร์พัฒนาวิธีรักษาโรค “ธาลัสซีเมีย” ต่อยอดยารักษาสิว หลังตลาดคลินิกความงาม-รักษาสิวแข่งเดือด ก่อนเดินหน้ารุกสื่อสาร-ขายผ่านออนไลน์ ขยายฐานลูกค้าวัยรุ่น พร้อมส่งสินค้าใหม่สร้างสีสันทุกปี ตั้งเป้า 3 ปี ขยายครบใน CLMV

แพทย์หญิงอรอินท์ เรืองวัฒนสุข กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอส.เอส. แมนูแฟคเจอริ่ง จำกัด ผู้ผลิตเวชสำอางแบรนด์ ดร.สมชาย กล่าวว่า บริษัทมีความเชี่ยวชาญ และมีรายได้หลักมาจากเวชสำอางด้านการรักษาสิว โดยปัจจุบันตลาดนี้มีมูลค่าประมาณ 1,000 ล้านบาท มีการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ ทั้งผู้เล่นรายเดิม และผู้เล่นรายใหม่ที่ทยอยเข้ามาเพื่อรับมือกับการแข่งขัน และสร้างการเติบโตให้กับธุรกิจแบรนด์ ดร.สมชาย จึงปรับภาพลักษณ์ให้ดูทันสมัยขึ้น เข้าไปสื่อสารในช่องทางดิจิทัล เพื่อสร้างแบรนด์ในกลุ่มวัยรุ่น ซึ่งเป็นวัยที่มีปัญหาเรื่องสิว รวมถึงขยายช่องทางการเข้าถึงสินค้าใหม่ ๆ ในออนไลน์ อาทิ เว็บไซต์อีคอมเมิร์ซของบริษัท และมาร์เก็ตเพลซของคู่ค้า เช่น ช้อปปี้ ลาซาด้า วัตสัน ฯลฯ เพื่อเสริมจากช่องทางออฟไลน์ ที่วางขายในซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านสะดวกซื้อ ไฮเปอร์มาร์เก็ตทั่วประเทศ ทั้งนี้ได้ตั้งเป้าเพิ่มสัดส่วนยอดขายจากออนไลน์เป็น 10% ภายในปี 2562 จากปัจจุบันมีน้อยกว่า 5% ตลอดจนการเข้าไปบุกตลาดต่างประเทศ

โดยระยะแรกจะเลือกโฟกัสในกลุ่มประเทศ CLMV หรือกัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม ซึ่งที่เมียนมาและกัมพูชาทำตลาดผ่านตัวแทนจำหน่าย ขณะที่ลาวเข้าไปทำตลาดเอง และเวียดนามอยู่ระหว่างการหาพาร์ตเนอร์ที่เหมาะสม สำหรับกลยุทธ์บุกตลาดต่างประเทศจะเข้าไปวางแผนการขายและการตลาดกับพาร์ตเนอร์เข้มข้นขึ้น และภายใน 3 ปี ตั้งเป้าเป็นผู้นำตลาดรักษาสิวในภูมิภาคนี้

แพทย์หญิงอรอินท์ระบุต่อไปอีกว่า ตลาดเวชสำอางรักษาสิว เป็นตลาดที่เล็กเมื่อเทียบกับตลาดสกินแคร์ทั่วไปที่มูลค่าสูงกว่าหมื่นล้านบาท แม้แบรนด์ ดร.สมชายจะแตกไลน์ผลิตภัณฑ์ในกลุ่มสกินแคร์อื่น ๆ ออกมา แต่ก็ไม่ใช่สินค้าที่สร้างรายได้หลักได้ จึงมองโอกาสการต่อยอดไปยังธุรกิจใหม่ โดยใช้ฐานความรู้ของบุคลากรในบริษัท โนว์ฮาวด้านการวิจัยและพัฒนา จนเกิดเป็นธุรกิจใหม่ด้านเทคโนโลยี

ล่าสุด บริษัทได้พัฒนาดีปเทคโนโลยีทางชีวภาพด้านการปรับแต่งจีโนม หรือยีน เพื่อการรักษาโรค อาทิ การปรับแต่งยีนเพื่อไม่ให้ไวรัส HIV เข้าสู่เซลล์ และการปรับแต่งเพื่อแก้ไขความผิดปกติของยีนในโรคธาลัสซีเมีย ซึ่งเป็นโรคที่พบได้ใน 2-4% ของคนไทยกว่า 67 ล้านคน

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากเรื่องดังกล่าวเป็นเทคโนโลยีใหม่ ซึ่งกว่าจะนำมาผลิตเป็นยารักษาโรคและใช้ได้กับคน จะต้องผ่านกระบวนการต่าง ๆ ตลอดจนการทดลองจำนวนมาก ซึ่งหากเป็นการขึ้นทะเบียนในไทย โดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือ อย. อาจต้องใช้เวลาถึง 10 ปี จึงอาจใช้วิธีขายไลเซนส์ของเทคโนโลยีนี้ให้กับพันธมิตร ซึ่งอาจจะเป็นองค์กรเอกชน หรือภาครัฐ ทั้งในและต่างประเทศ ตลอดจนการเข้าไปจับมือกับพาร์ตเนอร์ที่มีทรัพยากร โนว์ฮาว ด้านการค้นคว้าวิจัยในประเทศที่มีความก้าวหน้าด้านไบโอเทคโนโลยี เพื่อที่จะขึ้นทะเบียนเป็นยาได้เร็วขึ้น หรือเป็นรูปแบบของการนำตัวยาที่มีอยู่แล้วมาพัฒนาสูตรให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น แทนการจดทะเบียนเป็นยาแบบใหม่ ซึ่งจะมีระยะเวลาการจดทะเบียนที่รวดเร็วกว่า

ทั้งนี้ หากธุรกิจดีปเทคโนโลยีประสบความสำเร็จ จะสามารถสร้างรายได้มหาศาล ซึ่งจะเป็นสัดส่วนที่สูงกว่าเวชสำอางเดิม อย่างไรก็ตาม สำหรับการเติบโตของยอดขายในปีนี้ ได้ตั้งเป้าไว้ที่ 15% โดยช่วงครึ่งปีหลังจะมีสินค้าใหม่ลอนช์สู่ตลาดอีกประมาณ 2 รายการ