ส่องเทรนด์ ความงามอินโดฯ เรื่องต้องรู้…ของผู้ประกอบการ

คอลัมน์ จับกระแสตลาด

จำนวน 265 ล้านคน คือตัวเลขคาดการณ์ของประชากร “อินโดนีเซีย” ในปัจจุบัน ซึ่งถือว่าเป็นประเทศที่มีขนาดของประชากรมากที่สุดในอาเซียน 39 ล้านคน คือคนที่อยู่ในกลุ่ม young generation หรือคนที่เกิดในช่วงปี 2532-2537

69 ล้านคน คือคนที่อยู่ในกลุ่มของ Gen Z หรือคนที่เกิดในช่วงปี 2538-2555 ในแวดวงธุรกิจตัวเลขนี้มีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะนั่นหมายถึงตลาดขนาดใหญ่ที่มีศักยภาพมหาศาล จากแรงซื้อของกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่จะกลายเป็นกำลังในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจหลัก ๆ ของประเทศ ทั้งในแง่ของแรงงาน การจับจ่าย การบริโภคสินค้าและบริการต่าง ๆ ซึ่งจะสร้างโมเมนตัมในการเติบโตให้ต่อเนื่องไปอีกหลายปี

อินโดนีเซียจึงกลายเป็นตลาดที่ผู้ประกอบการจากทั่วโลกให้ความสนใจ เช่นเดียวกับผู้ประกอบการไทยหลาย ๆ บริษัทที่ต้องการหาโอกาสการเติบโตใหม่ ๆ มาขับเคลื่อนธุรกิจ ซึ่งหนึ่งในเซ็กเมนต์ที่น่าสนใจ และเป็นตลาดที่สินค้าไทยค่อนข้างมีความแข็งแกร่งก็คือ “เครื่องสำอาง”

ภายในงาน Beyond Beauty ASEAN Bangkok 2018 “คิลาลา ทิลลา” ผู้อำนวยการฝ่ายสร้างสรรค์และนวัตกรรม บริษัทมาธา ทิลลา กรุ๊ป ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายเครื่องสำอางรายใหญ่ในอินโดนีเซีย ฉายภาพว่า สินค้าที่เข้ามาตอบโจทย์กลุ่มลูกค้าวัยรุ่น คนรุ่นใหม่อย่างเครื่องสำอางนั้น มีแนวโน้มการเติบโตสูงอย่างต่อเนื่อง

จากการสำรวจของบริษัทพบว่าในอีก 5 ปีข้างหน้า ตลาดเครื่องสำอางอินโดนีเซียจะขยายตัวถึง 21.3% ต่อปี สูงสุดในภูมิภาคอาเซียน ในขณะที่ไทยมีการเติบโต 12.3% ต่อปี อินเดีย 19.9% ต่อปี หรือญี่ปุ่น 0.2% ต่อปี

“คิลาลา” ชี้ว่า ไลฟ์สไตล์ ความชอบ และการบริโภคของคนอินโดฯมีความคล้ายคลึงกับคนไทยบางประการ เช่น ชื่นชอบของอิมพอร์ต นั่นเป็นเหตุผลว่าแบรนด์ที่มาจากต่างประเทศ รวมถึงแบรนด์ไทย หากมีจุดขายที่แข็งแกร่ง มีสินค้าที่ดี มีคุณภาพ มีการทำมาร์เก็ตติ้งที่โดนใจ จะได้รับความชื่นชอบจากคนที่นี่ได้ไม่ยาก

แต่ที่สำคัญการจะขายอะไรนั้นจำเป็นที่จะต้องคำนึงถึงปัจจัยที่มีผลต่อการซื้อของคนที่นี่ อันได้แก่ 1.สีผิว เนื่องจากคนอินโดฯมีหลายเชื้อชาติ ทำให้มีโทนสีผิวตั้งแต่น้ำตาลเข้ม น้ำตาลอ่อน เหลืองไปจนถึงขาว และ 2.สภาพอากาศ การอยู่ในเขตร้อน มีอุณหภูมิเฉลี่ย 30 องศาเซลเซียสตลอดทั้งปี และมีความชื้นสูง 70-90% ซึ่งทำให้คนมีสภาพผิวค่อนข้างมัน มีรูขุมขนกว้าง และมีเม็ดสีหรือเมลานินสูง ทำให้สินค้าที่ขายดีจะเป็นพวกสกินแคร์สูตรควบคุมความมัน, เมกอัพที่เน้นการปกปิด คงทน, ครีมบำรุงที่มีสาร SPF และ UV protection สูง ๆ และเน้นเรื่องความกระจ่างใส

และที่ขาดไม่ได้เลยก็คือ จากการที่คนส่วนใหญ่ของประเทศเป็นคนมุสลิม การได้รับรองมาตรฐาน “ฮาลาล” ของสินค้าประเภทต่าง ๆ จะเป็นตัวแปรสำคัญที่มีผลต่อการตัดสินใจซื้อของคนจำนวนมากกว่า 66% ของคนอินโดนีเซีย เลือกที่จะไม่ซื้อ หากสินค้านั้นไม่ได้รับมาตรฐานฮาลาล

ขณะที่ช่องทางของการจัดจำหน่ายก็ต้องวางให้สอดคล้องกับพฤติกรรมการจับจ่ายของคนรุ่นใหม่ ๆ ด้วย ปัจจุบันการค้าขายของคนอินโดฯอยู่ในโมเดิร์นเทรด อาทิ ซูเปอร์มาร์เก็ต ไฮเปอร์มาร์เก็ต มินิมาร์ต ร้านค้าปลีกความงาม ฯลฯ ถึง 58% ขณะที่เทรดิชั่นนอลเทรดอยู่ที่ 42%

“คิลาลา” ขยายความต่อว่า พฤติกรรมการช็อปของคนอินโดฯเปลี่ยนมาในช่องทางโมเดิร์นเทรดเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมถึงช่องทางออนไลน์ด้วยเช่นกัน

โดยการใช้สื่อในช่องทางออนไลน์ คาดการณ์ว่าจะเติบโตเฉลี่ย 21.8% ต่อปี (ระยะเวลาตั้งแต่ปี 2555-2564) ขณะที่การใช้สื่อในช่องทางโทรทัศน์เติบโตเฉลี่ย 10.4% ต่อปี และยังคงเป็นช่องทางหลักของงบฯโฆษณาในภาพรวมอยู่ในขณะนี้

“ฮานิฟา แอมมาดา” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ฟีเมล เดลี่ เน็ตเวิร์ค จำกัด ผู้ให้บริการแอปพลิเคชั่นรีวิวเครื่องสำอางฟีเมล เดลี่ เสริมว่า จากฐานข้อมูลการรีวิวสินค้ากว่า 30,000 โปรดักต์ รวม 3,000 แบรนด์ จากสมาชิกกว่า 4.2 แสนราย พบว่า คนรุ่นใหม่ของอินโดฯใช้ผลิตภันฑ์เครื่องสำอางกันเร็วขึ้น จากการสำรวจพบว่ากลุ่มคนอายุต่ำกว่า 18 ปี เริ่มใช้สกินแคร์อย่างน้อย 3 รายการ เป็นสัดส่วนถึง 45% และเริ่มใช้เมกอัพคิดเป็นสัดส่วน 28%

เช่นเดียวกับการเข้าถึงสื่อในช่องทางดิจิทัลที่เพิ่มขึ้น ทำให้ยูทูบกลายเป็นช่องทางแรกที่กลุ่มบล็อกเกอร์ หรืออินฟลูเอนเซอร์เลือกใช้สื่อสาร รองลงมาคืออินสตาแกรม โดยวัยรุ่นจะเลือกติดตามยูทูบเบอร์ หรืออินสตาแกรมเมอร์ มากกว่าเซเลบริตี้แบบเดิม ๆ ในโลกออฟไลน์

นอกจากนี้เรื่องของ “แบรนด์ลอยัลตี้” ก็ไม่มีบทบาทอะไรกับคนรุ่นใหม่มากนัก เพราะถ้าหากแบรนด์ไม่สามารถตอบโจทย์ในสิ่งที่ต้องการ ทั้งในด้านของฟังก์ชั่น และการสื่อสารที่เกาะติดกับกระแส และเทรนด์ที่เกิดขึ้นในโลกโซเชียลได้อย่างรวดเร็ว ผู้บริโภคก็พร้อมที่จะสวิตช์ หรือไปลองอะไรที่เป็นกระแสมากกว่า”73% ของคนที่เราทำผลสำรวจไม่แคร์ว่าแบรนด์คุณจะอยู่มานานหรือยัง แต่พวกเขาแคร์ว่าคุณอยู่ในกระแสหรือไม่ และคนส่วนใหญ่ถึง 99% มองหาการรีวิวสินค้าก่อนตัดสินใจซื้อโปรดักต์ ทำให้ KOL (key opinion leader) ที่อินโดนีเซียสำคัญมาก”


รู้ให้รอบก่อนคิดจะไป “ตลาดใหญ่” จะได้ไม่ไกลเกินเอื้อม