“ลูกหนังเอเชีย” ฮอต ธุรกิจญี่ปุ่น…ต่อคิวสปอนเซอร์

คอลัมน์ Market Move

สปอร์ตมาร์เก็ตติ้งในภูมิภาคเอเชียกลับมาเป็นที่จับตามองอีกครั้ง หลังจำนวนผู้ชมการแข่งขันฟุตบอลพุ่งสูงขึ้นตลอดช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา โดยล่าสุดสำนักวิจัยยูโรมอนิเตอร์และเด็นสึระบุว่า ลีกฟุตบอลระดับท็อปของไทย, อินโดนีเซีย, เวียดนาม และอินเดีย ต่างสามารถเรียกผู้ชมแตะ 1 ล้านคนต่อปีได้แล้ว และหากรวมลีกในประเทศอื่น ๆ ด้วยจะมีผู้ชมรวมกันถึง 15 ล้านคน ซึ่งจำนวนไม่น้อยเป็นคนรุ่นใหม่กำลังซื้อสูง ข้อมูลนี้ดึงดูดให้แบรนด์สินค้า-บริการ รวมถึงสโมสรฟุตบอลจากยุโรปแห่เข้ามาลงทุนหวังกวาดแฟนบอลมาเป็นลูกค้า

สำนักข่าว “นิกเคอิ เอเชีย รีวิว” รายงานว่า กลุ่มธุรกิจทั้งของจีน, ญี่ปุ่น และยุโรป ต่างเดินหน้าลงทุนด้านสปอร์ตมาร์เก็ตติ้งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และจีนกันอย่างคึกคัก

โดยจีนเป็นหนึ่งในตลาดมาแรง สะท้อนจากผลงานของสโมสร กว่างโจว เอเวอร์แกรนด์ เถาเป่า ทีมฟุตบอลที่ประสบความสำเร็จสูงสุดของแดนมังกร ซึ่ง อาลีบาบา ถือหุ้นและรายได้ปี 2559 สูงถึง 89 ล้านเหรียญสหรัฐ สูงกว่ารายได้ของสโมสรอันดับ 1 ของญี่ปุ่นอย่าง อุราวะเรดไดมอนด์ ที่มีรายได้ 69.7 ล้านเหรียญสหรัฐในปีงบฯ 2560 ทั้งที่ตลาดฟุตบอลญี่ปุ่นมีประวัติยาวนานกว่า

ทั้งนี้หนึ่งในผู้บริหารของทีมกว่างโจวฯ กล่าวว่า ในอีก 10 ปีข้างหน้า จะได้เห็นชื่อสโมสรฟุตบอลจากจีน 1-3 ราย ติดท็อป 20 ในทำเนียบสโมสรฟุตบอลทั่วโลกแน่นอน

นอกจากอาลีบาบาแล้ว ธุรกิจอื่น ๆ ยังมองเห็นโอกาสในตลาดนี้เช่นกัน อาทิ บริษัทประกัน “ผิงอัน อินชัวรันซ์” ซึ่งเข้าเป็นสปอนเซอร์การแข่งขัน ไชนีส ซูเปอร์ลีก ต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2557 หวังใช้เป็นช่องทางสร้างการรับรู้แบรนด์นกลุ่มผู้บริโภควัยรุ่นและวัยเริ่มทำงานที่มักไม่สันทัดกับธุรกิจประกัน

ขณะเดียวกันในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเอเชียใต้ เทรนด์ลูกหนังกำลังมาแรงยิ่งขึ้น ด้วยแรงหนุนจากการเข้าถึงสมาร์ทโฟนและโซเชียลเน็ตเวิร์ก ช่วยสร้างและขยายฐานแฟนคลับ แม้แต่อินเดียซึ่งนิยมกีฬาคริกเก็ตมาอย่างยาวนาน นอกจากนี้สโมสรของหลายประเทศ เริ่มมีผลงานระดับภูมิภาคมากขึ้น ทำให้แฟนคลับเหนียวแน่นขึ้นทั้งในและต่างประเทศ ความคึกคักนี้สร้างความมั่นใจให้บรรดาธุรกิจจากญี่ปุ่น เพิ่มเม็ดเงินลงทุนด้านสปอร์ตมาร์เก็ตติ้ง ไม่ว่าจะเป็น “ยันม่าร์” ผู้ผลิตเครื่องจักรกลการเกษตร ซึ่งต่อสัญญาสปอนเซอร์การแข่งขันฟุตบอลระดับภูมิภาค “เอเอฟเอฟ ซูซูกิ คัพ” ออกไปอีก เช่นเดียวกับบริษัทรถยนต์ซูซูกิ ที่เป็นสปอนเซอร์หลักต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2551 ส่วนโตโยต้าเป็นสปอนเซอร์การแข่งขันฟุตบอลในไทยมานานกว่า 31 ปี

นอกจากภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมแล้ว สโมสรฟุตบอลยุโรปอาศัยกระแสนี้เข้าไปตั้งสำนักงานและเปิดศูนย์ฝึกในเมืองสำคัญ ๆ ของแต่ละประเทศ ไม่ว่าจะเป็นสโมสร บาเยิร์นมิวนิก จากเยอรมนี เตรียมเปิดศูนย์ฝึกในเมืองไท่หยวน มณฑลซานซี เป็นแห่งที่ 3 ต่อจากศูนย์ในชิงเต่าและเสิ่นเจิ้น เช่นเดียวกับ เอฟซีบาร์เซโลนา จากสเปน ซึ่งปั้นเครือข่ายศูนย์ฝึกทั่วเอเชีย-แปซิฟิก รวมถึงเซ็นสัญญาพันธมิตรกับ ราคุเท็น อีคอมเมิร์ซ รายใหญ่ของญี่ปุ่น ส่วนสโมสรเรอัล มาดริด ผุดออฟฟิศในจีนและจับมือพันธมิตรในฮ่องกงสร้างเอ็นเตอร์

เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ด้านฟุตบอลในกวางตุ้งภายในปี 2564ไปในทิศทางเดียวกับลีกฟุตบอลอาชีพของญี่ปุ่นหรือเจลีกได้เซ็นสัญญาพันธมิตรกับลีกระดับอาชีพใน 8 ประเทศ อาทิ ไทย เวียดนาม และอื่น ๆ โดย “ทาเคะยูกิ โอยะ” หัวหน้าฝ่ายการตลาดต่างประเทศของเจลีก กล่าวว่า ความนิยมฟุตบอลในเอเชียเพิ่มขึ้นมาก และมีศักยภาพการเติบโตสูงกว่าญี่ปุ่นแล้ว