“อีคอมเมิร์ซ”ดวลเดือดชิงไฮซีซั่น การันตี”ส่งเร็ว-ของแท้-เคลมไว”

อีคอมเมิร์ซ 8.12 แสนล้านดวลเดือด หลัง 3 ขาใหญ่เอเชียอาลีบาบา-เจดีฯ-ช้อปปี้ ลงสนามพร้อมหน้า งัดกลยุทธ์ใหม่ทั้งส่งด่วน การันตีไม่แท้คืนเงิน 2-3 เท่า หวังแก้โจทย์เชื่อมั่น-สร้างความแตกต่างสู้สงครามราคา เจดีเซ็นทรัลเดินหน้าอัพเกรดโลจิสติกส์ปั้นบริการส่งด่วน กทม.ไม่เกิน 24 ชั่วโมง ด้านลาซาด้าผุดลาซมอลล์การันตีเจอสินค้าไม่แท้คืนเงิน 2 เท่า ส่วนช้อปปี้ตั้งบริษัทลูกลุยขนส่ง

โค้งท้ายปีค้าปลีกออนไลน์กำลังทวีความร้อนแรง บรรดาผู้เล่นขาใหญ่เอเชียทั้ง ลาซาด้า ช้อปปี้ และเจดีเซ็นทรัล ต่างผุดกลยุทธ์ใหม่ ๆ มาประชันกันในสนามรบ “เมืองไทย” สร้างความแตกต่างท่ามกลางสงครามราคา ไม่ว่าจะเป็นด้านโลจิสติกส์อย่างส่งสินค้าภายใน 24 ชั่วโมง หรือสร้างความเชื่อมั่นด้วยการการันตีสินค้าแท้ 100% พร้อมแถมเงินเพิ่มหากเจอของปลอมไปจนถึงการจูงใจด้วยอินฟลูเอนเซอร์

ดวลเดือดทุกพื้นที่

แหล่งข่าวผู้บริหารในธุรกิจอีคอมเมิร์ซ เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ค้าปลีกออนไลน์มีมูลค่า 8.12 แสนล้านบาท มีความพร้อมทั้งเทคโนโลยี ระบบการขนส่ง จ่ายเงิน รวมถึงการซื้อสินค้าแบบไม่เห็น-จับต้องของก่อน ทำให้ออนไลน์มาร์เก็ตเพลซขยายตัวและแข่งขันรุนแรงขึ้น โดยเฉพาะด้านราคา ซึ่งมีผู้เล่นรายหลักถึง 3 ราย ได้แก่ ลาซาด้า ช้อปปี้ และเจดีเซ็นทรัล เชื่อว่าปลายปีนี้จะดุเดือดเป็นพิเศษโดยเฉพาะช่วงสำคัญ อย่าง 11 เดือน 11 และ 12 เดือน 12 เนื่องจากยอดขายช่วงไตรมาส 4 นี้ มีสัดส่วนกว่า 60% ของทั้งปี

“ใครอยู่ในตลาดมานานอาจจะไม่มีผลต่อการแข่งขัน เพราะระบบ-ผู้บริโภคพร้อมแล้ว ทุกรายต้องเร็วขึ้น โดยมีลาซาด้าที่เก่งในช่องทางเว็บไซต์ และผู้ท้าชิงรายใหญ่อย่างช้อปปี้ เก่งช่องทางโมบาย ถือเป็นมวยถูกคู่ที่สูสีกัน ส่วนเจดีเซ็นทรัลแม้มาช้าต้องรอดูหมัดเด็ด ด้าน 11 สตรีตต้องรอดูว่าหลังจากเปลี่ยนมือแล้วจะกลับมาสู้อย่างไร”

การันตีคืนเงิน 3 เท่า

นายวินเซนต์ หยาง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เจดีเซ็นทรัล กล่าวว่า แม้จะแข่งขันราคาดุเดือด แต่ยังมีจุดขายอื่นที่ใช้ชิงฐานลูกค้าได้ อาทิ ความมั่นใจในแพลตฟอร์ม ร้านค้า ว่าสินค้าเป็นของแท้หรือไม่ เช่นเดียวกับระยะเวลาจัดส่งที่ผู้บริโภคไทยให้น้ำหนักในการช็อปจึงตัดสินใจโฟกัส 2 ปัจจัยนี้โดยเตรียมเปิดบริการส่งด่วนถึงผู้รับในวันเดียว เมื่อสั่งสินค้าที่ขายโดยเจดีเซ็นทรัลก่อน 11 โมงเช้า เริ่มจากในพื้นที่ กทม.ก่อนสิ้นปีนี้ และจะขยายครอบคลุมปริมณฑลในปีหน้าและทั่วประเทศในอนาคต ซึ่งกำลังอัพเกรดระบบบริหาร ทีมงาน และขยายโกดังสินค้าอีก 3 แห่งในภาคเหนือ อีสาน และใต้ จากเดิมมีเพียง 2 แห่งใน กทม.ให้เสร็จสิ้นก่อนสิ้นปี

นอกจากนี้ จะอาศัยความร่วมมือกับเครือเซ็นทรัลช่วยดึงพันธมิตรผู้ค้าแบรนด์ดัง และเอสเอ็มอีที่เชื่อถือได้ เพื่อขยายไลน์อัพสินค้า รวมถึงสร้างความเชื่อมั่นว่าสินค้าเป็นของแท้ 100% โดยการันตีคืนเงิน 3 เท่าของราคา เพื่อย้ำความน่าเชื่อถือ พร้อมร่วมกันพัฒนาออมนิแชนเนล โดยกำลังศึกษาการเปิดร้านค้าอัตโนมัติและการส่งหรือรับคืนสินค้าผ่านห้าง เชื่อว่ากลยุทธ์เหล่านี้จะผลักดันให้บริษัทชิงตำแหน่งอีคอมเมิร์ซอันดับ 1 ของไทยได้แน่นอน

“ราคาเป็นปัจจัยสำคัญ แต่การท็อปอัพด้วยประเด็นของแท้และส่งเร็วช่วยจูงใจนักช็อป ซึ่งเจดีฯ ได้เปรียบจากการร่วมมือกับเซ็นทรัล ทั้งด้านชื่อเสียงและโนว์ฮาวค้าปลีก สะท้อนจากยอดผู้ใช้ช่วงซอฟต์ลอนช์ที่สูงกว่า คาดแม้ไม่ได้ทำตลาด และส่งสินค้าในบางพื้นที่ของ กทม.ได้ภายในวันเดียวแล้ว”

ส่งด่วน 1 ชม.

ความเคลื่อนไหวนี้สอดคล้องกับทิศทางของ “ลาซาด้า” โดยนายเจมส์ ตง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ลาซาด้า ประเทศไทย กล่าวว่า จะรับมือการแข่งขันด้วยการโฟกัสที่โจทย์ของลูกค้าด้านความเร็วของการส่งสินค้าและความเชื่อมั่น เพื่อให้เกิดการซื้อซ้ำ โดยเปิด “ลาซมอลล์” (Lazmall) โมเดลห้างสรรพสินค้าพร้อมการันตีหากได้สินค้าปลอมจะได้รับเงิน 2 เท่าของราคา และคืนสินค้าได้ภายใน 15 วันหากไม่พอใจ รวมถึงส่งสินค้าภายใน 24 ชั่วโมง ทั้งเร่งลงทุนโลจิสติกส์เพื่อให้อัพเกรดให้ส่งสินค้าถึงผู้รับภายใน 1 ชั่วโมง รวมถึงเตรียมนำเทคโนโลยีและการลงทุนโลจิสติกส์ในอีอีซีของอาลีบาบา ซึ่งเป็นบริษัทแม่มาต่อยอดเสริมความแข็งแกร่ง หลังจากก่อนหน้านี้เริ่มใช้ระบบวอลเลตหรือกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ช่วยให้จ่ายค่าสินค้าได้ง่ายขึ้น

ตั้งบริษัทลูกเสริมทัพ

เช่นเดียวกับ “ช้อปปี้” ซึ่งนายเทอเรนซ์ แพง ประธานฝ่ายปฏิบัติการช้อปปี้ ระบุว่า แม้อีคอมเมิร์ซไทยมีโอกาสเติบโตสูง จากตัวเลขนักช็อปในปี 2564 ที่จะเพิ่มเป็น 14 ล้านคน และใช้จ่าย 1.27 หมื่นบาทต่อคน จากปัจจุบัน 12.1 ล้านคน ยอดซื้อเฉลี่ยคนละ 8,000 บาท แต่ความเชื่อมั่นจะกลายเป็นปัจจัยแข่งขันสำคัญ เพราะผู้บริโภคชาวไทยยังไม่เชื่อมั่นในแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซมากนัก แต่เชื่อมั่นในอินฟลูเอนเซอร์ โดยจากการวิจัย 74% ของนักช็อปตัดสินใจซื้อหลังเห็นโฆษณาที่ใช้อินฟลูเอนเซอร์ที่ตนชอบ เพื่อตอบโจทย์จึงเน้นทำตลาดผ่านบุคคลเหล่านี้ เช่น ไลฟ์เฟซบุ๊ก โฆษณาทีวี และสื่อบนรถไฟฟ้า พุ่งเป้าไปยังกลุ่มวัยทำงานซึ่งมีกำลังซื้อสูงและยังช็อปออนไลน์น้อยกว่าวัยรุ่นที่เป็นฐานลูกค้าปัจจุบัน ทั้งนี้บริษัทตั้งเป้ายอดขายเติบโตเป็นเลข 2 หลักต่อเนื่องทุกเดือน

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า เมื่อ ก.ย.ที่ผ่านมา ช้อปปี้ได้ตั้งบริษัทโลจิสติกส์เพิ่มอีก 2 แห่งในชื่อ ช้อปปี้ เอ๊กซ์เพรส โฮลดิ้ง 1 (ประเทศไทย) จำกัด และช้อปปี้ เอ๊กซ์เพรส โฮลดิ้ง 2 (ประเทศไทย) โดยมีนางสาวมณีรัตน์ อนุโลมสมบัติ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Sea Group (ประเทศไทย) ผู้บริหารแพลตฟอร์มช้อปปี้เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่สัดส่วน 50.9995% ร่วมกับบริษัท ช้อปปี้ เอ๊กซ์เพลส ซึ่งถือหุ้น 48.9985%

เซเว่นฯออนไลน์ลุย CLMV

แหล่งข่าวจากบริษัท ซีพี ออลล์ กล่าวว่า ได้เริ่มทดลองตลาดด้วยการขายสินค้าออนไลน์ในต่างประเทศผ่านช่องทาง “ช็อปแอตทเวนตี้โฟร์” (shop at 24) โดยนำร่องที่ลาว ซึ่งมีการตอบรับที่ดีโดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าเสื้อผ้าและเครื่องสำอาง สอดคล้องกับนายปิยะวัฒน์ ฐิตะสัทธาวรกุล รองประธานกรรมการบริหาร บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) กล่าวก่อนหน้านี้ว่า ช่วง 3 ปีจากนี้ไป 2560-2563 ตลาดค้าปลีกจะขยายตัวได้กว่า 4-6% ขณะที่ช่องทางออนไลน์และอีคอมเมิร์ซจะโตมากกว่า 30-40% ซึ่งทิศทางของธุรกิจร้านสะดวกซื้อเซเว่นอีเลฟเว่นจะเน้นสร้างการเติบโตทั้ง 2 ช่องทางไปพร้อม ๆ กัน โดยเป้าหมายการเปิดสาขาใหม่ในปี 2564 จะครอบคลุม 13,000 สาขา

ไปรษณีย์เร่งอัพเกรดบริการ


นางสมร เทิดธรรมพิบูล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด เปิดเผยว่า กระแสอีคอมเมิร์ซบูมทำให้ตลาดโลจิสติกส์เติบโตมาก โดยเฉพาะการขนส่งพัสดุชิ้นย่อยและการส่งด่วน บริษัทจึงลงทุนเพิ่มเพื่อรับการเติบโต และเปลี่ยนรูปแบบพาหนะการขนส่ง เพิ่มจำนวนรถนำจ่ายอีก 600 คัน โดยเตรียมงบประมาณส่วนนี้ไว้ 480 ล้านบาท รวมถึงเพิ่มบริการใหม่ อาทิ กล่องสำเร็จรูปสำหรับส่งเหมาจ่ายได้โดยไม่ต้องชั่งน้ำหนัก ปรับปรุงเคาน์เตอร์บริการอัจฉริยะ เพิ่มบริการ “pick up” รับพัสดุถึงบ้านให้มีหลายจังหวัดมากขึ้นที่เปิดกว้างให้ลูกค้ารายย่อยมากขึ้น จากเดิมต้องมีปริมาณส่ง 3,000 ชิ้นต่อวัน ให้เหลือแค่ 20 ชิ้นต่อวันก็ใช้บริการได้ รวมถึงขยายเวลาทำการในเขตเมืองใหญ่ โดยตั้งเป้าสิ้นปีทุกที่ทำการทั่วประเทศต้องเปิดให้บริการในวันเสาร์เต็มวัน จากเดิมเปิดครึ่งวัน ทั้งจัดโปรโมชั่นดึงดูดลูกค้ารองรับกลุ่มอีคอมเมิร์ซโดยเฉพาะ รวมถึงเข้าไปสนับสนุนวิสาหกิจชุมชน ร้านค้าชุมชนให้ค้าขายออนไลน์ได้ผ่านแอปพลิเคชั่นและเว็บไซต์ “ไทยแลนด์โพสต์มาร์ท” โดยสิ้นปีนี้ ตั้งเป้าเพิ่มรายได้จากธุรกิจขนส่งอีก 18% จากปีก่อน 12,700 ล้านบาท