“ซิตี้มาร์ท” เร่งสาขายึดหัวเมือง รับศึกกลุ่มทุนตปท.แห่ชิงค้าปลีกเมียนมา

“ซิตี้มาร์ท” จัดทัพครั้งใหญ่ ย้ำภาพผู้นำค้าปลีกเมียนมา หลังกฎหมายใหม่ “ปลดล็อก” เอื้อต่างชาติลงทุน คาด 1-2 ปี คู่แข่งรายใหม่เพิ่มขึ้นอีกเพียบ ชูแผน 5 ปี ผุดสาขาอีกเท่าตัว ยึดหัวเมืองเศรษฐกิจ-เมืองใหม่ทั่วประเทศ พร้อมตั้งเทรนนิ่งฮับผลิตคนป้อนธุรกิจไม่หยุด ก่อนเดินหน้ารุกอีคอมเมิร์ซ-อีวอลเลต รับเทรนด์ลูกค้ายุค 4.0

กฎหมายใหม่ของเมียนมาซึ่งปลดล็อกให้ต่างชาติสามารถถือหุ้นใหญ่ในกิจการค้าปลีกได้ ถือเป็นสัญญาณเริ่มต้นการแข่งขันดุเดือดในวงการธุรกิจที่ผ่านมา บริษัทยักษ์ต่างชาติจากหลายประเทศต่างจับจ้องหาโอกาสเจาะเข้าสู่ตลาดนี้มานาน แต่ต้องเผชิญอุปสรรคหลายด้าน รวมถึงข้อกฎหมายเดิมซึ่งบังคับให้ต้องร่วมทุนกับชาวเมียนมา

เช่นเดียวกับ “ซิตี้มาร์ท โฮลดิ้ง” เจ้าตลาดค้าปลีกเมียนมา ซึ่งครองบัลลังก์มานานหลายสิบปีต้องปรับตัวรับมือ ทั้งการเสริมแกร่งซัพพลายเชนและการไลน์อัพสินค้าของตนเอง รวมถึงการจับมือกับพาร์ตเนอร์ธุรกิจต่างชาติสำหรับพัฒนาระบบโลจิสติกส์ เพื่อรับมือการแข่งขันที่ส่งสัญญาณร้อนแรงและดุเดือดจากนี้

ตปท.บุกค้าปลีกเมียนมา

นายแพทริก ไซมอน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท ซิตี้มาร์ท โฮลดิ้ง คัมพานี จำกัด กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ภาพรวมของธุรกิจค้าปลีกในเมียนมา ภายหลังจากที่รัฐบาลออกกฎหมายใหม่ให้ผู้ประกอบการต่างชาติเข้ามาลงทุนในค้าปลีกและค้าส่งได้อย่างเต็มที่ รวมถึงการนำเข้าและขายโดยไม่ต้องผ่านคนกลางที่เป็นชาวเมียนมาเหมือนในอดีต ทำให้มีนักลงทุนจากต่างชาติจำนวนมากให้ความสนใจ โดยคาดว่าในช่วง 1-2 ปีนี้จะเห็นภาพของกลุ่มทุนรายใหม่ ๆ เข้ามาลงทุนในธุรกิจค้าปลีกและค้าส่งหลายราย

เนื่องจากเมียนมาถือเป็นตลาดที่มีศักยภาพสูง สามารถขยายตัวได้อีกมาก จากระบบเศรษฐกิจและกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ที่เริ่มผ่อนคลายมากขึ้น เพื่อดึงดูดการค้าและการลงทุน หลังจากที่ช่วงก่อนหน้า เมียนมามีระบบเศรษฐกิจที่ค่อนข้างปิดเป็นระยะเวลานาน และมีการแข่งขันน้อยราย โดยนอกจากซิตี้มาร์ทที่เป็นของกลุ่มทุนท้องถิ่นแล้ว มีคู่แข่งที่เป็นบริษัทต่างชาติ ซึ่งมาร่วมทุนกับโลคอลพาร์ตเนอร์เพียง 2 ราย คือ อิออนและเมโทร ซึ่งยังมีจำนวนสาขาไม่มาก และโฟกัสการทำตลาดอยู่เพียง 2-3 เมืองหลักเท่านั้น

สปีดสาขาเท่าตัว

ขณะที่กลุ่มซิตี้มาร์ทมีสาขาในปัจจุบันกว่า 220 แห่ง (รวมทุกแพลตฟอร์ม เช่น ไฮเปอร์มาร์เก็ต ซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านอาหาร ร้านหนังสือ ฯลฯ) คิดเป็นมาร์เก็ตแชร์ 75% ของค้าปลีกแบบโมเดิร์นเทรด และมีพื้นที่การจัดจำหน่ายอยู่ใน 7 เมือง ครอบคลุมทั่วประเทศ ทั้งเมืองเศรษฐกิจอย่างย่างกุ้ง มัณฑะเลย์ และเมืองใหม่ เช่น โมนยวา, ตองยี เป็นต้น

เพื่อรับมือกับการแข่งขัน และโอกาสที่เกิดขึ้น บริษัทมีเป้าหมายที่จะเพิ่มจำนวนสาขาเป็น 2 เท่าภายในระยะเวลา 5 ปี เร่งการเข้าถึงและขยายฐานลูกค้ามากขึ้น โดยได้ลงทุนจัดตั้งเทรนนิ่งเซ็นเตอร์ เพื่อผลิตบุคลากรป้อนให้ทันกับการขยายตัวของธุรกิจด้วยในช่วงที่ผ่านมา

พัฒนาแพลตฟอร์มออนไลน์

พร้อมกับลงทุนด้านระบบเทคโนโลยีต่าง ๆ เช่น การพัฒนาแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ “ซิตี้ มอลล์ ออนไลน์” https://www.citymall.com.mm รองรับการสั่งซื้อผ่านอินเทอร์เน็ตของร้านค้าฟอร์แมตต่าง ๆ ของบริษัท ไม่ว่าจะเป็นซิตี้มาร์ท ซูเปอร์มาร์เก็ต โอเชียน, ซูเปอร์เซ็นเตอร์, ซิตี้แคร์ เฮลท์แอนด์บิวตี้สโตร์ เป็นต้น โดยการันตีการส่งภายในพรุ่งนี้ หลังจากได้รับออร์เดอร์ไม่เกินเวลา 15.00 น. และบริการส่งฟรีเมื่อช็อปครบ 20,000 จ๊าต หรือประมาณ 420 บาท และเร็ว ๆ นี้จะเปิดให้ผู้บริโภคได้ใช้ระบบการชำระสินค้าและบริการแบบอีวอลเลต พร้อมกับเพิ่มน้ำหนักการสื่อสาร ตลอดจนสร้างเอ็นเกจเมนต์ในช่องทางออมนิแชนเนลมากขึ้น รับกับเทรนด์ของตลาดที่เปลี่ยนไปและผู้บริโภคในปัจจุบัน

“ตลาดเมียนมายังไม่อิ่มตัวง่าย ๆ อย่างน้อยในช่วง 20-25 ปีนี้อย่างแน่นอน หากจะมองให้เห็นภาพ ก็ลองเทียบกับค้าปลีกในประเทศไทยดู แค่ร้านสะดวกซื้อก็มีกว่าหมื่นสาขา มีอยู่ทุกหัวมุมถนน ไฮเปอร์มาร์เก็ตอีก 600 กว่าแห่ง ในขณะที่เมียนมาเราเป็นเจ้าใหญ่สุด มีอยู่ 220 สาขา นั่นเป็นเหตุผลที่ทำไมทุกคนให้ความสนใจ และอยากเข้ามาที่นี่”

ราคาที่ดินแพงลิ่ว

อย่างไรก็ตาม แม้ว่ากฎเกณฑ์ด้านการลงทุนจะเอื้อให้รายใหม่เข้ามาได้ง่ายขึ้น แต่อุปสรรคอีกประการในการเข้ามาทำธุรกิจที่นี่ก็คือ “ราคา” ของที่ดินซึ่งถือว่าแพงมาก ซึ่งบริษัทนับว่ามีความได้เปรียบทั้งในด้านของแบรนด์ การเป็นที่รู้จัก ความไว้วางใจจากผู้บริโภค และดีเวลอปเปอร์ที่พัฒนาโครงการต่าง ๆ ให้เข้าไปตั้งอยู่ภายในพื้นที่ โดยหวังที่จะเป็นแม็กเนตดึงคนเข้ามาในศูนย์ พร้อมกับโนว์ฮาวในการทำตลาด และรู้ความต้องการของผู้บริโภคเป็นอย่างดี