ทำไมต้อง 20

คอลัมน์ Market-think

โดย สรกล อดุลยานนท์

ถ้าใครทำข่าวธุรกิจมานาน เห็นข่าวเรื่องแบงก์ชาติออกนโยบายกำกับดูแลสินเชื่อที่อยู่อาศัยก็จะไม่แปลกใจ

เป็นเรื่องปกติธรรมดาเวลาที่ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์คึกคัก

แบงก์ชาติจะกังวลเป็นพิเศษ

เพราะเขากลัว “ฟองสบู่” แตก

ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เป็นธุรกิจที่ใช้เงินกู้จำนวนมาก ถ้ามีปัญหาขึ้นมาจะส่งผลต่อสถาบันการเงิน

คนกำกับดูแลก็ต้องออกมาตรการเข้มงวดขึ้นเป็นธรรมดา

ครั้งนี้เขาเริ่มต้นจัดการกับ “บ้านหลังที่ 2” ก่อน

ด้วยการเพิ่มยอดเงินดาวน์บ้านหรือคอนโดมิเนียมขั้นต่ำจาก 10% เป็น 20%

เพราะตัวเลขยอดคนกู้ซื้อบ้านหลังที่สองเริ่มขยับตัวสูงขึ้น

ผมเชื่อว่าแบงก์ชาติคงคิดว่าคนกลุ่มนี้คือคนที่เก็งกำไร

ไม่ใช่คนที่ต้องการที่อยู่อาศัยจริง

เงินดาวน์น้อย หมายถึง ใช้เงินสดน้อย

ใช้เงินสดแค่ 10% แต่กู้ได้ถึง 90%

และสินเชื่อที่อยู่อาศัยมีเสน่ห์มาก คือ ดอกเบี้ยต่ำ

โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับสินเชื่อประเภทอื่น

ถ้าให้เพิ่มเงินดาวน์จาก 10 เป็น 20% กลุ่มนี้ต้องมีปัญหาอย่างแน่นอน

เพราะต้องควักเงินสดเยอะขึ้น

เริ่มไม่คุ้มกับความเสี่ยงในการเก็งกำไร

นั่นคือ มุมมองของแบงก์ชาติ

ซึ่งก็ไม่ “ผิด” แต่ไม่ใช่ว่าจะ “ถูก”

เพราะนักเก็งกำไรนั้นส่วนใหญ่เขาไม่รอจนโอนบ้านแล้วค่อยขาย

แต่เขาขาย “ใบจอง” ดีกว่า

และรายใหญ่มักมีเส้นสายกับสถาบันการเงิน

ถ้าจะกู้เขาสามารถทำตัวเลขให้กู้ได้ 100%

ซื้อแล้วมีเงินเหลือ

เรื่องนี้ในแวดวงเขารู้กันดี

แต่ที่น่าสนใจก็คือในโลกแห่งความเป็นจริงในวันนี้ ยังมีคนที่ซื้อคอนโดฯหรือบ้านหลังที่ 2 เพราะต้องการยกระดับความเป็นอยู่ให้ดีขึ้น

โดยเฉพาะคนโสดที่แต่งงาน

หรือคนแต่งงานที่มีลูก

เขาต้องการขยับจากคอนโดฯ ราคาถูก เป็นคอนโดฯที่มีขนาดพื้นที่มากขึ้น

หรือขยับเป็นทาวน์เฮาส์หรือบ้านเดี่ยว

ช่วงเปลี่ยนผ่าน คือ บ้านหลังแรกยังผ่อนไม่หมด แต่ต้องการขยับขยาย

เขาก็จะจ่ายเงินดาวน์บ้านหลังที่ 2 ไปเรื่อย ๆ

พอบ้านเสร็จจึงจะย้ายไปอยู่

แล้วค่อยขายบ้านหลังแรกที่ยังผ่อนอยู่

เจอมาตรการนี้ของแบงก์ชาติเข้าไปก็เหนื่อยสิครับ

เพราะต้องควักเงินสดเพื่อดาวน์บ้านหลังที่ 2 เพิ่มขึ้นอีกเท่าตัว

จาก 10 เป็น 20

หนักนะครับ

คำถามง่าย ๆ ก็คือ เวลาขยับตัวเลข “เงินดาวน์”

ทำไมต้องจาก 10 เป็น 20 เลย

15 ก็มีนะครับ

14 ก็ได้

16 ก็ยังดี

เพราะแค่เพิ่มเงินดาวน์ 15% หรือเพิ่มขึ้น 50% จากเดิม นักเก็งกำไรก็สะดุ้งแล้ว

“เงินดาวน์” สำหรับ “นักเก็งกำไร” คือ “ต้นทุน” ทางธุรกิจ

แต่ “เงินดาวน์” สำหรับคนที่ต้องการซื้อบ้านจริง

มันคือ “ค่าใช้จ่าย” ในชีวิตจริง

ถ้า “เงินดาวน์” เพิ่มขึ้นเท่าตัวเป็น 20%

นักเก็งกำไรหยุด

แต่คนซื้อบ้านหนัก

บางคนอาจจะหยุดไปเลย

แต่ถ้า “เงินดาวน์” เพิ่มเป็น 15%

นักเก็งกำไรจะหยุด

เพราะต้องจ่ายเงินสดเพิ่มจากเดิม 50%

แต่ผมเชื่อว่าคนซื้อบ้านยังสู้

“พลัง” ความอยากได้บ้านมัน

ต่างกันครับ