ภารกิจ อะโพสโทรฟีเอส ปั้นเครื่องมือใหม่ เชื่อมโลกออนไลน์

เมื่อสถานการณ์การแข่งขันทุกอย่างเปลี่ยนเร็ว จากฟีเจอร์ใหม่ ๆ (Feature) บนโลกออนไลน์ที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เปลี่ยนให้พฤติกรรมของผู้บริโภคยุคนี้หมุนเร็วขึ้นตามไปด้วย และตัดทอนความสนใจของผู้บริโภคลดลง กลายเป็นโจทย์ใหญ่ ความท้าทายใหม่ของทุกธุรกิจ ที่ต้องคาดการณ์สิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตให้เร็วขึ้น พร้อมเปลี่ยนและตั้งรับให้ทันกับทุกสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้น

ขณะเดียวกัน ธุรกิจอีเวนต์ที่เป็นอีกเครื่องมือสื่อสารสำคัญที่ยิงตรงระหว่างแบรนด์กับผู้บริโภคก็ต้องมีรูปแบบการสื่อสารใหม่เช่นกัน

พันธวิศ ลวเรืองโชค” กรรมการผู้จัดการ บริษัท อะโพสโทรฟีเอส กรุ้ป จำกัด ผู้ดำเนินธุรกิจอีเวนต์ออนกราวนด์และผู้สร้างสรรค์คอนเสิร์ต-ออกแบบอินเตอร์แอ็กทีฟมีเดียต่าง ๆ ให้สัมภาษณ์กับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า พฤติกรรมของผู้บริโภคขณะนี้เปลี่ยนเร็วมากจนน่าตกใจ วันนี้คนสนใจอะไรลดลง หรือน้อยกว่า 10 วินาทีแล้ว การวางแผนธุรกิจจากเดิมที่เคยวางแผนเป็น 10 ปี 5 ปี ก็ลดลงมาเป็นการวางแผนแบบรายเดือน และสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นขณะนี้ คือการวางแผนธุรกิจแบบรายวัน ซึ่งเป็นผลจากฟีเจอร์ใหม่ (Feature) ที่โลกออนไลน์สร้างขึ้น ทั้งจากเฟซบุ๊ก ยูทูบ แอปพลิเคชั่นต่าง ๆ เทคโนโลยีต่าง ๆ เหล่านี้ทำให้พฤติกรรมของคนเปลี่ยนอย่างรวดเร็ว

ผุดบริษัทที่ 4

การเปลี่ยนแปลงเร็วที่เกิดขึ้นก็ส่งผลกระทบต่อทุกธุรกิจ ขณะเดียวกันธุรกิจอีเวนต์ออนกราวนด์อย่าง อะโพสโทรฟีเอส ก็ต้องเปลี่ยนตัวเองด้วย ล่าสุดอยู่ระหว่างตั้งบริษัทใหม่ ซึ่งเป็นบริษัทที่ 4 นี้จะดูแลเกี่ยวกับด้านการตลาดทั้งหมด คาดว่าจะเปิดได้เร็ว ๆ นี้ หรืออย่างช้าที่สุดคือกลางปี 2561 พร้อมเตรียมย้ายสำนักงานใหม่ ซึ่งจะรวมทุกบริษัทเข้าไว้ในพื้นที่เดียวกัน เพื่อความคล่องตัวและประสิทธิภาพการทำงาน จากปัจจุบันที่มี 3 บริษัท โดยแยกออกจากกันอย่างชัดเจน ได้แก่ อะโพสโทรฟีเอส ดูแลธุรกิจอีเวนต์ออนกราวนด์ บีโลว์เดอะไลน์, บริษัท เซนซ์ดอทเอส จำกัด บริการออกแบบสื่ออินเตอร์แอ็กทีฟ ให้เช่า ซื้อ ขายอุปกรณ์ และบริษัท ซีโนนีม จำกัด ดูแลออกแบบพื้นที่เชิงพาณิชย์ เช่น ออกแบบสร้างบรรยากาศในศูนย์การค้า ตลาดนัด บ้านตัวอย่าง เป็นต้น

“พันธวิศ” บอกว่า ตอนนี้ ซีโนนีม เติบโตมาก เรียกว่าโตแซงหน้าอะโพสฯไปแล้ว เพราะพฤติกรรมคนเปลี่ยนเร็ว สินค้าก็เปลี่ยนการใช้งบฯการสื่อสาร จากเดิมที่มุ่งกับช่องทางการสื่อสารเก่า ๆ ก็หันโฟกัสที่ออนไลน์มากขึ้น ดังนั้นถ้าทำอีเวนต์รูปแบบเดิม ๆ ก็คงจะเกิดปัญหาแน่ ๆ ทำให้ธุรกิจอีเวนต์ต้องเปลี่ยนตัวเอง โดยให้อีเวนต์ทำหน้าที่เชื่อมต่อทุกแพลตฟอร์ม ทั้งออนไลน์ ออฟไลน์เข้าด้วย ด้วยการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจึงทำให้บริษัทตัดสินใจเปิดบริษัทที่ 4 เพื่อทำหน้าที่นำคอนเทนต์ หรืออีเวนต์ของทั้ง 3 บริษัทในเครือมาเชื่อมต่อเข้าด้วยกันและทำให้ผู้บริโภครู้จักมากที่สุด โดยไม่จำเป็นต้องมางานอีเวนต์อีกแล้ว

ยุคนี้ สวยและแปลก คงไม่พอ

“พันธวิศ” กล่าวว่า เมื่อก่อนได้โจทย์จากลูกค้า (สินค้า) ก็มาสร้างงานอีเวนต์ ให้แปลกตา โดดเด่น ดึงให้คนมางาน แต่ตอนนี้หน้าที่ของอีเวนต์ต้องเปลี่ยน การคิดอีเวนต์สักงาน ต้องคิดตั้งแต่ต้นทางว่าจะนำอีเวนต์ไปเชื่อมต่อกับแพลตฟอร์มอื่น ๆ อย่างไร เพื่อให้คนสนใจ แต่ยังคงใช้หลักการทำงานของอีเวนต์มาร์เก็ตติ้งในเวอร์ชั่นใหม่ที่เรียกว่า ออนกราวนด์มาร์เก็ตติ้ง ที่นำอีเวนต์ไปเชื่อมโยงกับแพลตฟอร์มบนออนไลน์

“หน้าที่หลักของบริษัทใหม่ คือ การนำคอนเทนต์ของทั้ง 3 บริษัท ไปพูดต่อบอกต่อบนสื่อออนไลน์ ดังนั้นการทำงานก็เปลี่ยนไป วันนี้ ซีโนนีม จะออกแบบพื้นที่เชิงพาณิชย์ จะออกแบบให้สวย แปลกใหม่ อย่างเดียวไม่ได้แล้ว แต่ต้องออกแบบแล้วให้ผู้บริโภครู้สึกว่า มีประโยชน์ หรือนำไปไอเดียเหล่านั้นไปใช้ต่อได้อย่างไร เพราะยุคนี้ถ้าผู้บริโภคไม่รู้สึกว่าดูแล้ว อ่านแล้วได้ประโยชน์อย่างไร ก็จะไม่สนใจ”

ปั้นเครื่องมือใหม่สู่ออนไลน์

เขาอธิบายเพิ่มว่า สื่อออนไลน์ที่ขยายตัวขึ้นเปลี่ยนทุกอย่างให้กลับด้านกันหมด เมื่อก่อนคนกลุ่มแมส คือ คนที่รวมตัวกันอยู่จำนวนมาก และคนที่ชอบอะไรเฉพาะเจาะจง (Niche Market) จะกระจายอยู่รอบ ๆ คนกลุ่มนี้ ดังนั้นเมื่อต้องการสร้างการรับรู้ก็ยิงโฆษณาลงในทีวี เพราะมีคนดูมากที่สุด แต่ปัจจุบันกลุ่มแมส คือ การรวมตัวกันของคนกลุ่มนิชมาร์เก็ตหลาย ๆ กลุ่มมารวมตัวกันให้มากที่สุด เพราะสื่อออนไลน์ทำให้คนเลือกเสพคอนเทนต์ในสิ่งที่ตัวเองต้องการ การสร้างการรับรู้ผ่านคนกลุ่มแมสยุคนี้จึงจะใช้แค่สื่อใดสื่อเดียวไม่ได้ แต่ต้องผสมผสานระหว่างสื่อออนไลน์ ออฟไลน์ ในสัดส่วนที่เหมาะสมตามทาร์เก็ตที่ต่างกัน

พฤติกรรมคนเสพออนไลน์เพิ่มขึ้น

ทำให้ธุรกิจกำลังปรับเปลี่ยนอีกครั้ง และแนวโน้มที่กำลังค่อย ๆ เกิดขึ้น คือ การย้ายฐานคนจากออฟไลน์สู่โลกออนไลน์ แต่เป็นการเปลี่ยนแบบเงียบ ๆ ของหลาย ๆ บริษัทใหญ่ ทั้งกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ ค้าปลีก โดยข้อดีของการย้ายคนจากออฟไลน์สู่ออนไลน์คือ เพิ่มโอกาสทางการขาย แบบทุกที่ ทุกเวลา สร้างรายได้และการเติบโตให้แก่ธุรกิจ

ยกตัวอย่าง ไนกี้ ซึ่งจะออกรองเท้าตระกูล Air Max ทุกวันที่ 2 มีนาคมทุกปี และมีการจัดอีเวนต์ตาม ขณะที่ปีนี้ทุกอย่างเปลี่ยนไป ไนกี้ตัดสินใจสร้างแพลตฟอร์มออนไลน์ขึ้น พร้อมจัดอีเวนต์ วัตถุประสงค์เปลี่ยนไป ไม่ได้ต้องการดึงให้คนไปอีเวนต์ แต่ต้องการย้ายคนส่วนหนึ่งที่เคยซื้อของจากออฟไลน์ (หน้าร้าน) สู่ออนไลน์ ด้วยการดึงให้คนเข้าไปลงทะเบียนเว็บไซต์ ไลน์ เมื่อได้ฐานส่วนนี้ก็สามารถสื่อสาร หรือขายสินค้าได้โดยตรง

“พันธวิศ” บอกว่า การสร้างชุมชนบนโลกออนไลน์ นั่นหมายถึงการคัดกรองคนระดับหนึ่งว่า คนกลุ่มนี้คือคนที่ชื่นชอบแบรนด์ หรือสินค้านั้น ๆ ซึ่งจะเป็นกลุ่มเป้าหมายที่สนใจสินค้าจริง แตกต่างกับการทำตลาดแบบบีโลว์เดอะไลน์ที่ผ่านมา เพราะแม้ดึงคนมางานได้ แต่ก็อาจจะไม่ใช่กลุ่มเป้าหมายของแบรนด์ ซึ่งภารกิจของบริษัทจากนี้ไปก็ต้องเดินทางธุรกิจไปในทิศทางนี้ นั่นคือการสร้างคอนเทนต์ เพื่อดึงคนเข้ามาที่ชุมชนบนโลกออนไลน์ เพื่อให้แบรนด์สามารถต่อยอดใหม่ให้แก่ธุรกิจในอนาคตได้เท่ากับว่าวัตถุประสงค์ของออนกราวนด์มาร์เก็ตติ้งยุคนี้ ไม่เน้นขายสินค้า แต่เน้นการสร้างชุมชนบนโลกออนไลน์ คัดกรองแฟนพันธุ์แท้ของแต่ละแบรนด์ ก่อนที่จะต่อยอดสู่การขายสินค้าในอนาคต นั่นคือการสร้างเมืองใหม่ ย้ายนักช็อปจากออฟไลน์สู่ออนไลน์