วิกฤตญี่ปุ่นขาดแรงงาน สะดวกซื้อแห่อัดโปรมัดใจลูกจ้าง

คอลัมน์ Market Move

สภาพสังคมสูงวัยยังคงเป็นความท้าทายหลักของญี่ปุ่น ซึ่งมีสัดส่วนประชากรอายุ 65 ปีขึ้นไปสูงถึง 28% ของประชากร หรือเกือบ 1 ใน 3 และคาดว่าจะเพิ่มเป็น 35.3% ในปี 2583 ส่งผลให้เกิดการขาดแคลนแรงงานทั่วทุกภาคส่วน แม้แต่ธุรกิจร้านสะดวกซื้อที่มักมีนักเรียนนักศึกษา-แม่บ้านมาสมัครเป็นพนักงานพาร์ตไทม์หมุนเวียนอยู่เสมอยังได้รับผลกระทบ เนื่องจากการขยายสาขาอย่างรวดเร็วสะท้อนจาก 7 เชนใหญ่ มีสาขารวมกันถึง 55,483 สาขา สูงกว่า 10 ปีก่อน 30%

ทำให้ไม่สามารถหาพนักงานมาประจำสาขาได้มากพอ แม้จะขึ้นค่าแรงอีก 2.4% เป็น 1,039 เยนต่อชั่วโมงแล้วก็ตาม ส่งผลให้บริษัทแม่ของแต่ละเชนต้องออกโรงลงมาบริหารจัดการสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ของพนักงานพาร์ตไทม์ด้วยตัวเอง จากเดิมที่ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของแฟรนไชส์บริหารจัดการได้โดยอิสระ

สำนักข่าว “นิกเคอิ เอเชียน รีวิว” รายงานว่า เชนร้านสะดวกซื้อ 3 รายหลักทั้งเซเว่นอีเลฟเว่น แฟมิลี่มาร์ท และลอว์สัน ต่างเร่งลอนช์สารพัดโปรโมชั่นพิเศษสำหรับพนักงาน เช่น ส่วนลดสินค้าในเครือ, เครื่องใช้ไฟฟ้า, โรงแรม, ค่าเดินทาง รวมถึงสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นศูนย์รับเลี้ยงเด็ก รวมถึงเปิดกว้างรับชาวต่างชาติเข้ามาเป็นพนักงานมากขึ้น หวังดึงดูดผู้สมัครให้ได้มากที่สุด

โดย “แฟมิลี่มาร์ท” จับมือกับ “ไอริส โอยาม่า” (Iris Ohyama) บริษัทผู้ผลิตของใช้ในบ้าน เพื่อให้ส่วนลดสูงสุดถึง 60% กับพนักงานพาร์ตไทม์สำหรับซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้า อาทิ หม้อหุงข้าว และอื่น ๆ รวมถึงวางแผนขยายรายการสินค้าที่ร่วมรายการ ไม่ว่าจะเป็นอาหาร, ของใช้ในชีวิตประจำวัน ไปจนถึงการท่องเที่ยว รวมถึงให้สิทธิกับพนักงานประจำกว่า 2 แสนคนของแฟมิลี่มาร์ททั้ง 1.7 หมื่นสาขาทั่วประเทศญี่ปุ่นด้วย โดยจะหมุนเวียนจัด 4 ครั้งต่อปี หลังจากประสบความสำเร็จในการทดลองจัดที่ฮอกไกโดและภูมิภาคโทโฮคุ

ด้าน “เซเว่นอีเลฟเว่น” ได้อัพเกรดระบบอินเซนทีฟสำหรับพนักงาน โดยเฉพาะกลุ่มแม่บ้านด้วยการเปิดศูนย์รับเลี้ยงเด็กบริเวณชั้น 2 ของสาขา เพื่อตอบโจทย์กลุ่มแม่ลูกอ่อน ทั้งพนักงานปัจจุบันให้สามารถมาทำงานได้ตามปกติ เช่นเดียวกับดึงดูดคนกลุ่มนี้ให้มาสมัครเป็นพนักงาน โดยล่าสุดเปิดศูนย์รับเลี้ยงเด็กที่สาขาเซนไดเป็นแห่งที่ 3 หลังเริ่มทดลองมาตั้งแต่ช่วงฤดูใบไม้ร่วงปีที่แล้ว

นอกจากนี้ ตั้งแต่ เม.ย. 2560 ที่ผ่านมาพนักงานพาร์ตไทม์ยังได้รับส่วนลดสำหรับการใช้จ่ายด้านท่องเที่ยว ทั้งค่าเดินทางและที่พัก โดยยักษ์สะดวกซื้อเปิดเผยว่า 1 ปีที่ผ่านมามีการใช้สิทธิจากพนักงานใน 1 หมื่นสาขา หรือประมาณครึ่งหนึ่งของสาขาทั้งหมดในประเทศญี่ปุ่น

สำหรับ “ลอว์สัน” เป็นอีกหนึ่งรายที่เสนอส่วนลดสินค้าและบริการกับพนักงานพาร์ตไทม์ โดยเน้นด้านสื่อบันเทิงอย่าง หนังสือ ซีดี และดีวีดี จากบริษัทในเครือ

ในขณะเดียวกัน หลายรายหันไปดึงแรงงานต่างชาติจากประเทศต่าง ๆ เข้ามาทดแทนตำแหน่งที่วางอยู่ โดยปีงบประมาณ 2560 (เม.ย. 60-มี.ค. 61) ที่ผ่านมา เซเว่นอีเลฟเว่นมีพนักงานพาร์ตไทม์ต่างชาติมากถึง 2.8 หมื่นคน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 40% และคิดเป็น 7.4% ของพนักงานพาร์ตไทม์ทั้งหมดไปในทิศทางเดียวกับลอว์สัน ซึ่งปีงบฯที่แล้วจ้างชาวต่างชาติมาทำพาร์ตไทม์กว่า 1 หมื่นคน หรือคิดเป็น 5% ของพนักงานพาร์ตไทม์ทั้งหมด เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 70% อาศัยจุดแข็งด้านตารางงานที่ยืดหยุ่น ช่วยจูงใจกลุ่มชาวต่างชาติที่เข้ามาเรียนภาษา

ความเคลื่อนไหวนี้สอดคล้องกับความเห็นของนักวิเคราะห์ที่ระบุว่า ธุรกิจร้านสะดวกซื้อในญี่ปุ่นกำลังสะดุดกับดักจากการเร่งแข่งขันขยายสาขาท่ามกลางสภาวะขาดแคลนแรงงานในเซ็กเมนต์ค้าปลีก ตามข้อมูลของกระทรวงแรงงานธุรกิจค้าปลีกมีตำแหน่งงานมากกว่าใบสมัครถึง 2.59 เท่า สูงกว่าค่าเฉลี่ยรวมทุกอุตสาหกรรมซึ่งอยู่ที่ 1.46 เท่า แม้จะมีความพยายามนำเทคโนโลยี เช่น ระบบคิดเงินด้วยตนเองเข้ามาใช้ แต่ยังไม่สามารถทดแทนแรงงานมนุษย์ได้ทันกับความต้องการทำให้ได้เห็นการระดมเพิ่มสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ให้พนักงานพาร์ตไทม์เพื่อเร่งดึงคนเข้ามาในระบบให้มากที่สุด ระหว่างที่ทยอยใส่ระบบอัตโนมัติเข้าไปทดแทน