“เบอร์เกอร์คิง” ขายเบียร์ช้าง รับเทรนด์คนรุ่นใหม่-เพิ่มยอดฟู้ดแชนเนล

เบียร์เปิดแนวรบใหม่ เจาะ “ฟาสต์ฟู้ด” ไทยเบฟเร่งเครื่องส่งเบียร์ช้าง ปูพรมเบอร์เกอร์คิง รับไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่-นักท่องเที่ยว ก่อนเพิ่มดีกรีบุกช่องทางฟู้ดแชนเนล ผนึกเชนดังพร้อมเสิร์ฟถึงโต๊ะ ด้าน “ไฮเนเก้น” จับมือเกรฮาวด์ ส่งเมนูค็อกเทลเบียร์สูตรเฉพาะสร้างความต่าง

ความเคลื่อนไหวของแวดวงร้านอาหาร เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ มีความคึกคักอีกครั้ง เมื่อร้านอาหารฟาสต์ฟู้ดอย่างเบอร์เกอร์คิง ได้นำเบียร์ช้างเข้ามาจำหน่าย แม้ในช่องทางร้านอาหารจะมีเบียร์จำหน่ายเป็นปกติ แต่ก็ไม่ได้เห็นการเสิร์ฟเบียร์ในร้านฟาสต์ฟู้ดมากนัก

ขายเบียร์ในฟาสต์ฟู้ด

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า เบียร์ช้างได้เข้าไปจำหน่ายในร้านฟาสต์ฟู้ดอย่าง “เบอร์เกอร์คิง” แล้วในบางสาขา ในรูปแบบของแพ็กเกจจิ้งกระป๋อง ขนาด 320 มล. โดยจะให้บริการตามเวลาที่กฎหมายกำหนด เช่นเดียวกับการขายผ่านช่องทางอื่น ๆ คือ ช่วง 11.00-14.00 น.และ 17.00-24.00 น. ในเบื้องต้นเน้นทำเลที่เป็นแหล่งท่องเที่ยว ทั้งในกรุงเทพฯ เชียงใหม่ ภูเก็ต สมุย ชลบุรี เป็นต้น

จากการสอบถามไปยังผู้บริหารเบียร์ช้าง นายเอ็ดมอนด์ เนียว คิมซูน รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่และผู้บริหารสูงสุด กลุ่มบริหารการลงทุนตราสินค้า บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายเบียร์ช้างและเฟเดอร์บรอย พบว่า ได้นำเบียร์ช้างเข้าไปขายผ่านช่องทางดังกล่าวจริง โดยเริ่มตั้งแต่ช่วง 1-2 เดือนที่ผ่านมา และได้รับฟีดแบ็กที่ดีจากลูกค้าอย่างต่อเนื่อง

เนื่องจากเบอร์เกอร์คิงและเบียร์เป็นเมนูอาหารและเครื่องดื่มที่เติมเต็มซึ่งกันและกัน จึงมองเห็นว่าเป็นโอกาสที่ช้างจะเข้าไปตอบรับกับพฤติกรรมการบริโภคของคนรุ่นใหม่ ๆ ตลอดจนนักท่องเที่ยวที่คุ้นชินกับสไตล์การบริโภคดังกล่าวที่แพร่หลายในต่างประเทศ

โอกาสใหม่ ฟู้ดแชนเนล

นายเอ็ดมอนด์ยังระบุต่อไปอีกว่า บริษัทยังเล็งเห็นความสำคัญของช่องทางร้านอาหารทั้งหมด (total food chain) เพราะเบียร์ก็เป็นเครื่องดื่มที่สามารถทานคู่กับอาหารได้หลายประเภท ซึ่งนอกจากร้านเบอร์เกอร์คิงแล้ว ยังได้เข้าไปจำหน่ายภายในร้านอาหาร เช่น เอ็มเค สุกี้ ภายใต้แบรนด์ช้าง รวมถึงซิซซ์เล่อร์ ภายใต้แบรนด์เฟเดอร์บรอย เป็นต้น

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ก่อนหน้านี้ “เบียร์สิงห์” ได้รับสิทธิ์ให้เข้าไปวางจำหน่ายในร้านเบอร์เกอร์คิงในช่วงปี 2558-2559 ที่ผ่านมา โดยจัดจำหน่ายในรูปแบบของเบียร์สด และมีวางขายเฉพาะสาขาทองหล่อเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม เทรนด์ของการขายเบียร์ในร้านฟาสต์ฟู้ดต่างประเทศเริ่มแพร่หลายมากขึ้นในทวีปเอเชีย โดยเชนดัง ๆ เช่น เคเอฟซี ก็เปิดสาขาที่เสิร์ฟเบียร์และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อีกหลายชนิดไปแล้วที่ประเทศญี่ปุ่น เมื่อปี 2559 ที่ผ่านมา หรือแมคโดนัลด์เองก็เปิดสาขาพรีเมี่ยม โดยมีเสิร์ฟเบียร์ภายในร้านที่ประเทศเกาหลีแล้วเช่นกัน

ในขณะที่เมืองไทย การขายผ่านฟาสต์ฟู้ดยังเป็นที่แพร่หลายไม่มากนัก เมื่อเทียบกับช่องทางหลักอย่าง “ออฟพรีมิส” หรือการซื้อกลับไปบริโภคที่บ้าน เช่น โมเดิร์นเทรด ซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านสะดวกซื้อ ฯลฯ ที่เป็นสัดส่วนหลักกว่า 70% ของตลาดเบียร์ที่มีมูลค่ารวมทั้งหมดประมาณ 1.8 แสนล้านบาท แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ามีโอกาสทำให้ช่องทาง “ออนพรีมิส” หรือการรับประทานที่ร้าน เช่น ผับ บาร์ ร้านอาหาร ฯลฯ เติบโตได้มากขึ้น

กิมมิกปลุกตลาด

สำหรับช่องทางการขายผ่านร้านอาหารประเภทเชนต่าง ๆ พบว่า ทั้งสิงห์ ช้าง ไฮเนเก้น ต่างก็เข้าไปจัดจำหน่ายกันอย่างครบครัน แต่ก็จะมีแบรนด์อย่างไฮเนเก้น ที่พยายามสร้างความแตกต่างและย้ำภาพลักษณ์ความเป็นเบียร์พรีเมี่ยม โดยการจับมือกับร้านอาหารเกรฮาวด์ คิดเมนูค็อกเทลจากเบียร์ร่วมกัน อาทิ Iced Tea Returns, Distorted Mary เป็นต้น

ทั้งนี้ ตลาดร้านอาหารภาพรวมมีมูลค่าประมาณ 4 แสนล้านบาท โดยกลุ่มฟาสต์ฟู้ดมีมูลค่ากว่า 3.4 หมื่นล้านบาท มีการเติบโตเฉลี่ย 10% ทุกปี สำหรับตลาดใหญ่สุดในฟาสต์ฟู้ด ได้แก่ ไก่ทอด รองลงมาคือพิซซ่าและแฮมเบอร์เกอร์ โดยถือเป็นตลาดที่มีศักยภาพในการเติบโตอย่างต่อเนื่อง