ถอน พ.ร.บ.ยา ต้านไม่ไหว…หรือถอยเพื่อตั้งหลัก

คอลัมน์ จับกระแสตลาด

หลังกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แสดงจุดยืนชัดเจนว่า ต้องการนำร่างพระราชบัญญัติยาฉบับใหม่นี้เสนอแก่คณะรัฐมนตรี (ครม.) อย่างช้าที่สุดในเดือนตุลาคมนี้ ก็เกิดกระแสตีกลับจากเภสัชกรในหลาย ๆ กลุ่มแบบลงลึกเป็นรายภูมิภาค รายจังหวัด ลามไปทั่วประเทศ ทั้งกลุ่มเครือข่ายเภสัชกรภาคใต้ เครือข่ายเภสัชกรภาคตะวันออก-อีสาน กลุ่มเภสัชกรขอนแก่น ชมรมเภสัชชุมชนจังหวัดภูเก็ต ชมรมเภสัชกรชุมชนจังหวัดสุราษฎร์ธานี ชมรมเภสัชสาธารณสุขจังหวัดแห่งประเทศไทย ที่ต่างออกมาต่อต้านร่าง พ.ร.บ.นี้เป็นระลอก ๆ อย่างต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา

ยอมถอย…ตั้งหลักใหม่

ความคืบหน้าล่าสุดเมื่อวันที่ 22 ตุลาคมที่ผ่านมา นายปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้ทำหนังสือด่วนถึงเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เรื่องถอนร่างพระราชบัญญัติยา พ.ศ. …โดยอ้างถึงหนังสือกระทรวงสาธารณสุข ด่วนที่สุด ที่ สธ.1009.3.1/3828 ลงวันที่ 3 ตุลาคม 2561

โดยมีรายละเอียดว่า ตามที่ได้ขอให้นำเสนอคณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับเรื่องพระราชบัญญัติยา พ.ศ. …รายละเอียดแจ้งแล้วนั้น ทางกระทรวงสาธารณสุขมีความประสงค์จะขอถอนเรื่องดังกล่าวไปก่อน เพื่อดำเนินการทบทวนและปรับปรุงร่างพระราชบัญญัติยา พ.ศ. … ในบางมาตราให้เกิดความเหมาะสมและชัดเจนมากยิ่งขึ้นในสถานการณ์ปัจจุบัน

สอดรับกับแหล่งข่าวระดับสูงจากวิทยาลัยการคุ้มครองผู้บริโภคด้านยาและสุขภาพแห่งประเทศไทย ให้ข้อมูลว่า ขณะนี้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้นำร่าง พ.ร.บ.ยา (ฉบับที่…) พ.ศ. …(ฉบับที่ 6) ออกมารับฟังความคิดเห็นอีกครั้งบนเว็บไซต์ www.lawamendment.com ตั้งแต่เมื่อวันที่ 19 ตุลาคมที่ผ่านมา และจะปิดรับฟังความคิดเห็นวันที่ 3 พฤศจิกายนนี้

พร้อมกับขอถอนร่าง พ.ร.บ.ยา พ.ศ. …ฉบับเสนอเลขาธิการคณะรัฐมนตรีในวันที่ 3 ตุลาคม 2561 ออกจากการพิจารณาของ ครม.ก่อน และคาดการณ์ว่าหลังจากรับฟังความคิดเห็นฉบับที่ 6 แล้วเสร็จก็อาจจะส่งเข้า ครม.ใหม่อีกครั้ง

ย้อนไทม์ไลน์…จุดชนวนเพิ่ม

หากย้อนกลับตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา พบว่า อย.ได้นำร่างดังกล่าวออกมารับฟังความคิดเห็นแล้วหลายครั้ง และปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา นายแพทย์วันชัย สัตยาวุฒิพงศ์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยาในขณะนั้นได้ออกมาย้ำชัดว่า จะไม่รอประเด็นที่ยังเป็นข้อถกเถียงอยู่ แต่จะตั้งคณะกรรมการพิเศษขึ้นเพื่อพิจารณาเรื่องร่าง พ.ร.บ.ยา และจะเริ่มเสนอร่างใหม่นี้แก่ ครม.อย่างช้าภายในเดือนตุลาคมนี้ เพราะได้เปิดรับฟังความคิดเห็นจากทุกฝ่ายไปแล้วตั้งแต่ต้นปี และความเห็นกว่า 90% ของร่างทั้งหมดเป็นไปในทิศทางเดียวกัน มีเนื้อหาแค่ 10% เท่านั้นที่ยังเป็นประเด็นถกเถียงกัน โดยเฉพาะกรณีการให้วิชาชีพอื่นเข้ามาจ่ายยาแทนได้

พร้อมย้ำวัตถุประสงค์ชัดเจนว่า การแก้ไขร่างนี้เพื่อให้สอดรับกับสถานการณ์ปัจจุบันมากขึ้น และให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนมากที่สุดด้วยสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ก็เพิ่มชนวนให้แก่กลุ่มวิชาชีพเภสัชกรอีกครั้ง ทำให้เกิดการรวมตัวกันมากขึ้น ทั้งระดับจังหวัด ภูมิภาค เพื่อคัดค้านการนำร่างดังกล่าวเสนอต่อ ครม. และสถานการณ์ลุกลามขึ้นเมื่อ สธ.ส่งหนังสือนำเสนอร่าง พ.ร.บ.ยาใหม่แก่ ครม.เมื่อวันที่ 3 ตุลาคมที่ผ่านมาเพราะร่าง พ.ร.บ.ยาที่เสนอครั้งนี้ได้เพิ่มเนื้อหาในบางมาตราเข้ามาทั้งที่ไม่เคยปรากฏในร่าง พ.ร.บ.ยา ที่เปิดรับฟังความคิดเห็นไปแล้วหลายครั้งกลายเป็นการเพิ่มชนวนและประเด็นถกเถียงในวงกว้างมากขึ้น

ลับ ลวง พราง

แหล่งข่าวจากสภาเภสัชกรรมให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ที่ผ่านมา อย.ได้เปิดรับฟังความคิดเห็นไปแล้ว แต่ไม่ได้นำหลักการที่เสนอไปแก้ไขหรือปรับปรุง รวมถึงไม่มีการคุ้มครองความปลอดภัยของผู้บริโภค อีกทั้งยังได้มีการเปลี่ยนเอกสารร่าง พ.ร.บ.ยา พ.ศ. …ที่ได้รับฟังความคิดเห็นไปแล้ว

ยกตัวอย่าง เช่น มาตรา 24 (3) ให้การขายปลีกยาแผนปัจจุบันที่ไม่ใช่ยาที่จ่ายโดยเภสัชกร หรือยาตามใบสั่ง ผู้มีหน้าที่ปฏิบัติการจะเป็นผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรม ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ผู้ประกอบการวิชาชีพทันตกรรม ผู้ประกอบวิชาชีพการพยาบาลและผดุงครรภ์ หรือผู้ผ่านการอบรมจาก อย. ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด มาตรา 25 (6) ใบอนุญาตขายปลีกยาแผนปัจจุบันที่ไม่ใช่ยาที่จ่ายโดยเภสัชกรหรือยาตามใบสั่งยา เป็นต้น

ทำให้เกิดคำถามว่า พ.ร.บ.ฉบับนี้กำลังเปิดช่องให้กลุ่มนายทุน ตลอดจนร้านสะดวกซื้อเข้ามาเปิดร้านขายยาได้โดยไม่จำเป็นต้องมีเภสัชกรประจำร้าน แต่สามารถให้ผู้ที่ผ่านการอบรมจาก อย.เข้ามาจ่ายยาได้แทน

อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 18 ตุลาคมที่ผ่านมา นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา

จึงได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาประชุม ซึ่งประกอบด้วย สภาเภสัชกรรม ชมรมเภสัชกรรมสาธารณสุขจังหวัดแห่งประเทศไทย และชมรมเภสัชสาธารณสุขแห่งประเทศไทย พร้อมยืนยันว่า ไม่ได้สอดไส้หรือเปลี่ยนแปลงเนื้อหา แต่ด้วยเทคนิคการเขียนกฎหมายบางคำ และหากไม่ได้อ่านข้อกฎหมายทั้งหมดอาจทำให้ตีความต่างไป

ซึ่งจะไปปรับวิธีการเขียนกับการใช้คำ ให้ร่าง พ.ร.บ.ยาเป็นไปตามเจตนารมณ์ร่วมกัน คือ ยึดประโยชน์ของประชาชนและไม่ได้เอื้อต่อร้านสะดวกซื้อและร้านประเภท ขย.2 (ไม่มีเภสัชกร แต่ใช้ผู้ที่ผ่านการอบรมจากกระทรวงสาธารณสุข ปัจจุบันมีประมาณ 2,800 ร้าน) อีกทั้งจะไม่อนุญาตให้เปิดร้าน ขย.2 เพิ่มด้วย

หลังสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ทำให้กลุ่มเภสัชกรรวมตัวกันอีกครั้ง โดยวันที่ 19 ตุลาคมที่ผ่านมา กลุ่มวิทยาลัยการคุ้มครองผู้บริโภคด้านยาและสุขภาพแห่งประเทศไทย สภาเภสัชกรรม ศูนย์วิชาการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมูลนิธิวิทยาลัยการคุ้มครองผู้บริโภคด้านยาและชุมชน ได้ยื่นหนังสือชี้แจงข้อเท็จจริงกรณีร่าง พ.ร.บ.ยา พ.ศ. …และส่งความคิดเห็นต่อร่างดังกล่าว

โดยใจความสำคัญของหนังสือชี้แจงนี้ได้นำเสนอเชิงนโยบาย 3 ทางเลือก ได้แก่ 1.ไม่รับร่าง พ.ร.บ.ฉบับใหม่นี้ 2.รับร่าง แต่แก้ไขในหลักการ เช่น นิยามศัพท์ มาตรา 4 ยกตัวอย่างเช่น ยาควบคุมพิเศษตามใบสั่งยา ขอตัดคำว่า ตามใบสั่งยาออก เนื่องจากยาทุกรายการสามารถเขียนในใบสั่งยาได้ และเภสัชกรสามารถจ่ายได้ ซึ่งการตัดออกครั้งนี้เพื่อความชัดเจนและไม่ให้ประชาชนเกิดความสับสน

อีกทั้งให้ตัดมาตรา 24 (3) และมาตรา 25 (6) ออก เพื่อไม่เปิดโอกาสให้ร้าน ขย.2 เปิดบริการอีก เพื่อความปลอดภัยของประชาชน เพราะเทคโนโลยีทางยาก้าวหน้าขึ้น และยามีอันตรายมากขึ้น ประกอบกับที่ผ่านมาได้เปิดโอกาสให้ร้าน ขย.2 เปลี่ยนประเภทเป็นร้าน ขย.1  (ร้านที่มีเภสัชกรประจำ) ด้วยการให้โควตาพิเศษสำหรับทายาทร้าน ขย.2 เข้าศึกษาในคณะเภสัชศาสตร์มาตั้งแต่ปี 2530 เป็นต้น

และ 3.ร่าง พ.ร.บ.ฉบับใหม่นี้ที่แก้ข้อบกพร่องของ พ.ร.บ.ยา พ.ศ. 2510 และแก้ไขเพิ่มเติมที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน โดยตั้งคณะทำงานจัดทำร่าง พ.ร.บ.ยาที่มีองค์ประกอบของ อย. สภาเภสัชกรรม สมาคมวิชาชีพ นักวิชาการ พนักงานเจ้าหน้าที่ และองค์กรผู้บริโภค

อย่างไรก็ตาม การยอมถอนร่าง พ.ร.บ.ยาฉบับใหม่นี้ ก็อาจจะเป็นการถอย…เพื่อตั้งหลักใหม่เท่านั้น