ศูนย์เรียนรู้กาแฟ ‘เดอะ คอฟฟีเนอรี่’ ธุรกิจใหม่ ‘แม็ค เอ็ดดูเคชั่น’

เทรนด์การดื่มกาแฟนอกบ้านกาแฟสด ในกลุ่มคนรุ่นใหม่ และความพยายามในการเอดูเคตตลาดของผู้ประกอบการรายใหญ่ ๆ ทำให้ตลาดกาแฟมูลค่ากว่า 6.4 หมื่นล้านบาท คึกคักขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการลงทุนในธุรกิจกาแฟในภาคเหนือ ซึ่งเป็นแหล่งปลูกกาแฟสายพันธุ์อราบิก้า ที่มีผู้เล่นรายใหม่ ๆ เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ล่าสุด “พานาคอฟฟี่” ผู้ผลิตกาแฟดริป กาแฟคั่ว ภายใต้แบรนด์ “สด” (SOD) และผู้จัดตั้งศูนย์การเรียนรู้กาแฟ “เดอะ คอฟฟีเนอรี่” (The Coffeenery) ได้ใช้เวลากว่า 5-6 ปี ในการเริ่มต้นธุรกิจนี้ ด้วยการปลูกต้นกาแฟประมาณ 500 ไร่ ในอำเภอเชียงดาว และอำเภอดอยสะเก็ด จนเมื่อต้นกาแฟเริ่มให้ผลผลิตเต็มที่ในปีที่ 7 จึงเริ่มลงทุนสร้างโรงงานแปรรูปและผลิตภัณฑ์กาแฟแบบครบวงจร

“พีระ พนาสุภน” ประธาน บริษัท พานาคอฟฟี่ จำกัด เล่าให้ฟังถึงที่มาที่ไปของการก้าวเข้าสู่ธุรกิจกาแฟต่อจากธุรกิจการศึกษาอย่าง “แม็ค เอ็ดดูเคชั่น” เจ้าของโรงเรียนกวดวิชา MAC และผู้ผลิตตำรา หนังสือเรียนมากว่า 40 ปีว่า หลังจากวางแผนที่จะรีไทร์ในธุรกิจสำนักพิมพ์ ประกอบกับการมีที่ดินในจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งมีทั้งทำเล สภาพแวดล้อม ความสูงที่เหมาะสมกับการปลูกต้นกาแฟ ตลอดจนการที่บุตรชายก็มีความชอบในด้านนี้ จึงเกิดเป็นพานาคอฟฟี่ขึ้น

นอกจากการทำธุรกิจกาแฟที่ครบวงจรตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำแล้ว “พีระ” ก็ยังไม่ลืมที่จะสอดแทรกเรื่องการศึกษาลงไป จึงเกิดเป็นศูนย์การเรียนรู้อย่าง “เดอะ คอฟฟีเนอรี่” ซึ่งจะมีเซอร์วิส และสินค้าที่ครอบคลุมทั้งการจัดอบรมให้ความรู้แก่เกษตรกร หน่วยงานรัฐและเอกชน, คอร์สกาแฟระดับเริ่มต้น ไปจนถึงระดับสูง สำหรับบาริสต้าบริการสีกาแฟกะลา คัดแยกขนาด และคัดคุณภาพเมล็ดกาแฟ, บริการคั่วกาแฟ, บริการบรรจุกาแฟดริป, บริการผลิตกาแฟแบบโออีเอ็ม ตลอดจนการผลิตกาแฟภายใต้แบรนด์ของตัวเองอย่าง “สด” ทั้งเมล็ดกาแฟคั่ว และกาแฟดริปสำเร็จรูปซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการปูพรมช่องทางจำหน่ายเข้าไปในโมเดิร์นเทรด และออนไลน์ เช่น ท็อปส์ (อยู่ระหว่างพูดคุย) ลาซาด้า และช่องทางออนไลน์ของบริษัท ในราคาแพ็กละ 200 บาท มี 5 ซอง สำหรับกาแฟดริป และแพ็กละ 500 กรัม ราคา 600 บาท สำหรับเมล็ดกาแฟคั่ว

แม้จะราคาสูงกว่าท้องตลาด แต่”พีระ” เน้นจุดขายที่การเป็นกาแฟออร์แกนิก ไร้สารเคมี ซึ่งกลุ่มผู้บริโภคจะเป็นผู้ที่ชื่นชอบในการดื่มกาแฟพรีเมี่ยมอยู่แล้ว และยินดีที่จะจ่าย ตลอดจนตลาดต่างประเทศ เช่น ญี่ปุ่น ซึ่งวัฒนธรรมการดื่มกาแฟพัฒนาไปค่อนข้างไกล

“เทรนด์ของการบริโภคกาแฟในปัจจุบัน จะมาที่กลุ่มพรีเมี่ยม และสเปเชียลตี้ (กาแฟที่ได้คะแนนจากสมาคมกาแฟพิเศษ (SCA) มากกว่า 80 คะแนนขึ้นไป) โดยเฉพาะการที่คนรุ่นใหม่ใส่ใจกับการดูแลสุขภาพมากขึ้น ทำให้คนหันมาดื่มกาแฟดำ กาแฟดริป ฯลฯ เพิ่มมากขึ้น”

ทำให้บริษัทเตรียมเปิดตัวแบรนด์กาแฟ “คลาวดี้ ฮิลล์” ซึ่งจะมีความพรีเมี่ยมกว่าสด เนื่องจากใช้กาแฟจากแหล่งผลิตเพียงที่เดียว (single-origin) เพิ่มอีกแบรนด์ในเร็ว ๆ นี้ โดยมีเป้าหมายทำตลาดทั้งในไทยและต่างประเทศ

“พีระ” มองว่า รายได้ของธุรกิจกาแฟจะมาจาก 4 ส่วนหลัก ๆ คือ 1.ทัวริสต์ และผู้ที่สนใจ มาเยี่ยมชมศูนย์การเรียนรู้ 2.ผลิตภัณฑ์กาแฟ ทั้งแบรนด์สด และคลาวดี้ ฮิลล์ 3.แฟรนไชส์ โดยระยะแรกเตรียมจับมือกับสถาบันการศึกษา เปิดคีออสก์ให้นักศึกษาได้เรียนรู้ ก่อนที่จะวางแผนขยายโมเดลอื่นต่อไป และ 4.การรับจ้างผลิต (OEM) รวมถึงบริการอื่น ๆ

“มีคนถามว่าลงทุนไปขนาดนี้ อีก 20 ปีจะคืนทุนไหม ผมคิดว่าถ้ามันไม่คืนทุนไม่เป็นไร แต่อย่าขาดทุนก็พอ ตอนนี้อายุ 68 ปีแล้ว อยากสร้างผลงานชิ้นสุดท้ายของชีวิต และฝากไว้ให้กับคนรุ่นหลัง”

ปัจจุบันที่คอฟฟีเนอรี่มีกลุ่มที่มาศึกษาดูงาน 2 -3 กรุ๊ปต่อวัน และมีผู้ให้ความสนใจเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่ง “พีระ” ก็ยอมให้ความรู้แบบไม่มีกั๊ก แม้คู่แข่งต้องการมาดู เขาก็ยินดีที่จะต้อนรับ แม้แต่ขั้นตอนในโรงคั่ว ที่คนส่วนใหญ่มักไม่เปิดให้คนจากภายนอกเข้าชมก็ตาม