บะหมี่นอกทะลักแย่งตลาด “มาม่า-ไวไว”ดิ้นพลิกเกมสู้

บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปฝุ่นตลบ หลังยอดขายโตลดลงต่อเนื่อง 4-5 ปี ผลพวงพิษเศรษฐกิจ เทรนด์บะหมี่อิมพอร์ตจากเกาหลี-จีนมาแรง เบียดแย่งส่วนแบ่งตลาด “มาม่า-ไวไว” ดิ้นงัดกลยุทธ์พัฒนาสินค้าใหม่เจาะตลาดพรีเมี่ยม ทุ่มงบฯหวังดึงตลาดกลับ

แหล่งข่าวจากบริษัทผู้ผลิตและจำหน่ายบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปรายใหญ่ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา ตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปมีอัตราการเติบโตลดลงอย่างต่อเนื่อง หรือมีมูลค่าตลาดอยู่ที่ 1.6-1.7 หมื่นล้านบาทเท่านั้น ถึงวันนี้ตลาดก็ยังชะลอตัว โดยมีปัจจัยหลักมาจากปัจจัยทางเศรษฐกิจและกำลังซื้อ ประกอบกับปัจจุบันคนไทยมีพฤติกรรมลดการบริโภคบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปลง และยังมีบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปจากต่างประเทศ จากเกาหลีและญี่ปุ่น ที่เข้ามาตีตลาดและได้รับความนิยมมากขึ้น แม้จะมีราคาแพงกว่าบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปแบรนด์ไทยหลายเท่าตัวก็ตาม ทำให้สถานการณ์การแข่งขันมีความรุนแรงขึ้น

แหล่งข่าวรายนี้ยอมรับว่า ปัจจุบันบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปอิมพอร์ต ได้รับความนิยมจากกลุ่มวัยรุ่นและมีการเติบโตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง สามารถเบียดแย่งส่วนแบ่งการตลาดจากบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปในประเทศได้มากขึ้น เป็นตัวเลขเกือบ 2 หลัก

โดยเฉพาะบะหมี่จากเกาหลีกำลังมาแรงในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งเนื่องจากรสชาติที่แปลกใหม่ โดยเฉพาะรสเผ็ดสไตล์เกาหลี ที่มีทั้งรสต้มยำกุ้ง หมาล่า ซีฟู้ดทะเล และรสชีส มีราคาเริ่มต้นที่ 45-165 บาท

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” ได้สำรวจตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปในช่องทางโมเดิร์นเทรด พบว่า ปัจจุบันมีบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปที่นำเข้าจากประเทศเกาหลีและจีน วางจำหน่ายมากกว่า 10 แบรนด์ อาทิ แบรนด์กิมจิราเมียน นู้ดเดิล, กิมจิชีส ราเมียน, เคอรี่ ราเมียน, จาจังเมียน, ชินราเมียน นำเข้าโดยบริษัท โปรไทย จำกัด ขณะที่แบรนด์โอโตกิจิน ราเมง, พาลโด ฮวา นู้ดเดิล, นู้ดเดิล ทาคาโมริ ยากิ, นู้ดเดิล ทาคาโมริ มิโซะ นำเข้าโดยบริษัท แพรรี่มาร์เก็ตติ้ง จำกัด

“มาม่า” รุกตลาดพรีเมี่ยม

นายพิพัฒ พะเนียงเวทย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป “มาม่า” เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปัจจุบันมาม่ายังครองความเป็นผู้นำตลาดด้วยส่วนแบ่งตลาดกว่า 46% อย่างไรก็ตาม ในภาวะที่ตลาดตกอยู่ในภาวะที่เริ่มจะอิ่มตัว โดยมีอัตราการบริโภคเฉลี่ยประมาณ 49 ชิ้น/คน/ปี ความท้าทายของแบรนด์มาม่า จึงไม่ได้อยู่ที่การเพิ่มส่วนแบ่งตลาด แต่จะทำอย่างไรให้ตลาดมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง

กลยุทธ์ของ “มาม่า” จะมุ่งไปที่การพัฒนาสินค้ารสชาติใหม่ ทั้งรูปแบบ ซอง และถ้วย ในราคาเฉลี่ยที่ 7-15 บาท เพื่อขยับฐานขึ้นมาจับกลุ่มตลาดพรีเมี่ยม ซึ่งเป็นเซ็กเมนต์ที่มีแนวโน้มการเติบโตที่ดี โดยจะมีรสชาติใหม่ ๆ ทยอยออกมาอีก 2-3 รสชาติ อาทิ มาม่า คัพ เอ็กซ์ตรีม รสซีฟู้ด, รสผัดขี้เมาแห้ง และรสผัดขี้เมา รวมถึงมีแผนจะพัฒนาสินค้าสำหรับคนรักสุขภาพมากขึ้น เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของตลาด

นายพิพัฒย้ำว่า พร้อมกันนี้บริษัทจะทุ่มงบประมาณในการจัดกิจกรรมการตลาดทุกรูปแบบ ทั้งสื่อโฆษณา โทรทัศน์ วิทยุ บิลบอร์ด รวมทั้งการทำโปรโมชั่นร่วมกับโมเดิร์นเทรด ทั้งการจัดพื้นที่พิเศษสำหรับรสชาติที่ขายดี ทั้งต้มยำกุ้ง หมูสับ และต้มยำกุ้งน้ำข้น โปรโมชั่นซื้อ 2 แถม 1 หรือซื้อสินค้าครบตามจำนวนรับสินค้าพรีเมี่ยม เพื่อกระตุ้นยอดขายและเป็นทางเลือกให้ผู้บริโภค

แหล่งข่าวจากบริษัท สหพัฒนพิบูล จำกัด (มหาชน) ระบุว่า จากเทรนด์ที่ผู้บริโภคใส่ใจเรื่องสุขภาพมากขึ้น ที่ผ่านมา มาม่าได้พัฒนาระบบการผลิต ด้วยการใช้วิธีการอบเส้นบะหมี่หรือเส้นอื่น ๆ แทนการทอดในบางรสชาติ เพื่อทำให้มีแคลอรีน้อยลง พร้อมกับตอบโจทย์ด้านรสชาติใหม่ ๆ ที่ได้รับความนิยม เช่น มาม่าซิกเนเจอร์ เส้นเล็กรสเล้งแซบ ที่ลอนช์เมื่อปลายเดือนตุลาคมที่ผ่านมา และเพื่อรองรับการเติบโตของกลุ่มบะหมี่แห้งและบะหมี่อิมพอร์ต ที่ผ่านมา ในไลน์โปรดักต์ มาม่า ออเรียนทัล คิตเช่น ก็ได้ออกรสชาติใหม่อย่างต่อเนื่อง เช่น รสฮอตโคเรียน และรสกุ้งผัสซอสต้มยำ เพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภคที่ต้องการมาม่าแห้งสไตล์เกาหลี ซองละ 15 บาท ขณะที่บะหมี่อิมพอร์ตส่วนใหญ่ราคาจะอยู่ที่ 40-50 บาท/ซอง นอกจากนี้ มาม่ายังให้ความสำคัญกับการแตกไลน์สินค้าไปยังตลาดใหม่ ๆ ทั้งโจ๊ก ข้าวต้ม เพื่อสร้างการเติบโตอีกทางหนึ่ง

“ไวไว” พลิกตำราแข่ง

นายยศสรัล แต้มคงคา ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด บริษัท โรงงานผลิตภัณฑ์อาหารไทย จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ภายใต้แบรนด์ “ไวไว” และ “ไวไว ควิก” กล่าวว่า ภาพรวมตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปในช่วง 6 เดือนแรกที่ผ่านมาเติบโตไม่มากนัก และปัจจุบันตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปมีการแข่งขันรุนแรงขึ้น เห็นได้จากบะหมี่ที่อิมพอร์ตจากต่างประเทศเข้ามาแย่งส่วนแบ่งตลาดมากขึ้น โดยเฉพาะบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปที่นำเข้าจากประเทศที่มาแรงมากในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา เพื่อรองรับตลาดที่เติบโตไม่มากนักและมีการแข่งขันสูง ไวไวจะให้ความสำคัญกับการพัฒนาสินค้าและรสชาติใหม่ ๆ รวมทั้งการขยายตลาดไปเจาะกลุ่มเป้าหมายในพรีเมี่ยมมากขึ้น ปรับสูตร ปรับแพ็กเกจจิ้งสินค้า 3 รสชาติ ไวไว รสหมูสับ และไวไว รสต้มยำสูตรดั้งเดิม ทุ่มงบประมาณ 50 ล้านบาท ปรับกลยุทธ์ทำการตลาด “มิวสิกมาร์เก็ตติ้ง” และโปรเจ็กต์พิเศษ เพลง “ทำวันนี้ ทำไวไว” แต่งโดยบอย โกสิยพงษ์ ขับร้องโดยปู พงษ์สิทธิ์ คำภีร์ รวมทั้งเน้นทำกิจกรรมในโมเดิร์นเทรด และวางจำหน่ายตามร้านสะดวกซื้อหรือช่องทางร้านค้าปลีก เพื่อให้เข้าถึงกลุ่มผู้บริโภควัยทำงานในช่วงอายุ 25-40 ปี