DKSH ขยับทัพแฟชั่น ขน “ลักเซอรี่” เจาะกลุ่มมิลเลนเนียล

คอลัมน์ จับกระแสตลาด

แม้บรรยากาศของเศรษฐกิจ กำลังซื้อในปีนี้จะไม่คึกคักมากนัก แต่ภาพของการลงทุน โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าที่จับกำลังซื้อกลาง-บนขึ้นไป ยังคงมีให้เห็นอย่างต่อเนื่อง

หนึ่งในนั้นคงปฏิเสธถึงการเข้ามาของกลุ่มแบรนด์แฟชั่นและไลฟ์สไตล์รายใหม่ ๆ ไปไม่ได้ จากการขยายตัวของกลุ่มชนชั้นกลางที่มาพร้อมกำลังซื้อและพฤติกรรมคนรุ่นใหม่ โดยเฉพาะกลุ่มมิลเลนเนียล (คนที่เกิดในช่วงปี 2523-2545) ที่ตื่นตัวในเรื่องของแฟชั่นมากขึ้น ชื่นชอบความหลากหลาย และต้องการความแตกต่าง เปิดกว้างมากขึ้นสำหรับแบรนด์ที่มีเอกลักษณ์ มีความแปลกใหม่ ทั้งหมดกลายเป็นโอกาสและกำลังซื้อสำคัญของสินค้ากลุ่มนี้

“ดีเคเอสเอช” ผู้จัดจำหน่ายและให้บริการด้านการตลาดรายใหญ่ในไทย ก็เล็งเห็นโอกาสนี้เช่นกัน ทำให้กลุ่มธุรกิจลักเซอรี่และไลฟ์สไตล์มีการขยับทัพครั้งใหญ่ เพื่อเข้าไปตอบโจทย์ช่องว่างตรงนั้นให้ได้

“ดักลาส จอห์น ฮัมฟรีย์” ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ดีเคเอสเอช (ประเทศไทย) จำกัด ย้ำถึงความมั่นใจในตลาดลักเซอรี่ไลฟ์สไตล์ของไทยว่า เป็นตลาดที่มีการเติบโตอย่างน่าสนใจ และมีศักยภาพที่จะเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง ด้วยกำลังซื้อของกลุ่มคนมิลเลนเนียล ไม่ว่าจะเป็นคนที่เพิ่งเริ่มทำงาน หรือทำงานแล้ว ซึ่งมีอำนาจการใช้จ่ายสูง และมีความพร้อมที่จะใช้จ่ายเพื่อตอบไลฟ์สไตล์ของตนเอง

ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา บริษัทจึงได้ปรับทิศทางการทำธุรกิจในกลุ่มนี้ใหม่ โดยให้ความสำคัญกับการเจาะลูกค้ากลุ่มนี้มากขึ้น สะท้อนจากการคัดเลือกแบรนด์ใหม่ ๆ เข้ามาทำตลาดเพิ่มขึ้น ซึ่งปีนี้ได้นำเข้ามาถึง 3 แบรนด์ ได้แก่ บาลลีย์ (BALLY) เครื่องหนังจากอิตาลีไฮเอนด์จากสวิตเซอร์แลนด์, ลามี่ (LAMY) ปากกาและเครื่องเขียนจากเยอรมนี และเบลล์รอย (BELLROY) เครื่องหนังพรีเมี่ยม สไตล์มินิมอล จากออสเตรเลีย

พร้อมกับการเดินหน้าสื่อสารผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น ล่าสุดได้จับมือกับเอคอมเมิร์ซ ผู้ให้บริการด้านอีคอมเมิร์ซรายใหญ่ ที่มีความพร้อมทั้งด้านคลังสินค้าสำหรับการซื้อออนไลน์ โลจิสติกส์ ตลอดจนความรู้ในการเปิดอีช็อป พัฒนาสู่การเป็นออมนิแชนเนล รองรับทุกโอกาสในการจับจ่ายของผู้บริโภค

นอกจากนี้เตรียมจะนำเข้าแบรนด์จากอิตาลีอีก 1 แบรนด์มาทำตลาดในปีหน้า เพื่อสร้างความหลากหลายให้แก่สินค้ากลุ่มลักเซอรี่มากขึ้น จากเดิมที่มีพอร์ตโฟลิโอของสินค้ากลุ่มนี้อยู่แค่ 3 แบรนด์เท่านั้น ได้แก่ มงต์บลองค์, มอริส ลาครัวซ์ และแอคเนอร์

“ดักลาส” ชี้ว่า แบรนด์ที่คัดเลือกมาต้องเป็นผู้นำในแคทิกอรี่ของสินค้านั้น ๆ และเป็นสินค้าที่สามารถใช้ได้เป็นประจำทุกวัน มีฟังก์ชั่นการใช้งานที่ตอบโจทย์ โดยถ้าเป็นสินค้าลักเซอรี่จะเน้นราคาที่เข้าถึงง่าย ประมาณ 20,000 บาทขึ้นไป เช่น บาลลีย์ มีราคาของรองเท้ารุ่นแคชวลอยู่ที่ประมาณ 10,000-20,000 บาท ขณะที่สินค้าไลฟ์สไตล์จะเน้นราคาพรีเมี่ยม เช่น ลามี มีราคาของปากกาเริ่มต้นตั้งแต่ 800 บาทขึ้นไป

“ภาพรวมกลุ่มลักเซอรี่ตอนนี้ก็มีหลาย ๆ แบรนด์ที่ส่งไลน์สินค้าในราคาที่เข้าถึงง่ายเข้ามาทำตลาด เพื่อจับกำลังซื้อระดับเอนทรีด้วยเหมือนกัน เราเองก็โฟกัสไปที่ตลาดนี้ พร้อมกับการแนะนำลูกค้า (แบรนด์) ให้เซตโครงสร้างราคาที่สามารถแข่งขันกับตลาดประเทศอื่น ๆ ได้ จากเดิมที่สินค้าลักเซอรี่มักจะมีช่องว่างราคาที่สูงมากเมื่อเทียบกับตลาดต่างประเทศ”

ซึ่งภายหลังจากการจัดพอร์ตโฟลิโอใหม่ ทำให้ผลการดำเนินงานของธุรกิจลักเซอรี่และไลฟ์สไตล์ในไทยมีการเติบโตเร็วที่สุดเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ ทั่วโลก ทั้งจำนวนจุดขายที่เพิ่มขึ้นมากกว่า 100 แห่ง และเตรียมลงทุนเพื่อขยายเพิ่มขึ้นอีกเท่าตัวในปีหน้า ตลอดจนยอดขายที่สามารถสร้างการเติบโตได้อย่างต่อเนื่องในส่วนของแบรนด์ที่มีอยู่เดิมและฐานลูกค้าไฮเอนด์

“เราเป็นผู้ให้คำปรึกษาและบริการการขายธุรกิจค้าปลีกสำหรับแบรนด์ต่าง ๆ ที่ต้องการเข้ามาขยายตลาดในไทย โดยมีบริการที่ครอบคลุมตั้งแต่กระจายสินค้า โลจิสติกส์ มาร์เก็ตติ้ง การโอเปอเรตหน้าร้าน ตลอดจนบริการหลังการขาย”

ท่ามกลางปัจจัยภายนอกที่ท้าทายรอบด้าน “ดักลาส” ยังคงมองว่า ด้วยกลยุทธ์ที่ชัดเจนจะสามารถผลักดันให้กลุ่มธุรกิจนี้เติบโตในอัตราดับเบิลดิจิตตามที่ตั้งเป้าเอาไว้ได้