เปิดแผนเซ็นทรัลต่อยอดจีแลนด์ เชื่อมทำเลทอง”ค้าปลีก-อสังหา”

ปรีชา เอกคุณากูล

แม่ทัพ “เซ็นทรัลพัฒนา” เปิดแผนลงทุนรอบใหม่หลังซื้อจีแลนด์ เดินเกมบุกค้าปลีก-อสังหาฯเต็มรูปแบบ กางแลนด์แบงก์แปลงยักษ์ พระราม 9-พหลโยธิน (ลาดพร้าว) 2 ทำเล “ยุทธศาสตร์” ของกลุ่มเซ็นทรัล ซินเนอร์ยี่การเติบโตอนาคต ชี้บิ๊กดีลคุ้มค่าการลงทุน เตรียมรีวิวโครงการยักษ์ “ซูเปอร์ทาวเวอร์”

ท่ามกลางบทวิเคราะห์ทางธุรกิจมากมายทั้งในกลุ่มอสังหาริมทรัพย์และกลุ่มธุรกิจค้าปลีก ต่อกรณีบิ๊กดีล 2 หมื่นล้าน “เซ็นทรัลพัฒนา-จีแลนด์” ที่ซื้อขายหุ้นช่วงเดือนกันยายนที่ผ่านมา นอกจากแถลงการณ์ที่แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์แล้วก็ดูเหมือนว่าจะไม่มี “ความเห็น” ทางตรงทั้งในส่วนของจีแลนด์และกลุ่มเซ็นทรัลต่อทิศทางการลงทุนครั้งนี้

“จีแลนด์” ดีลคุ้มค่าในการลงทุน

ล่าสุด “ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์นายปรีชา เอกคุณากูล กรรมการผู้จัดการใหญ่ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) หรือ CPN ถึงทิศทางการลงทุนและภาพรวมธุรกิจว่า กลุ่มเซ็นทรัลมีศูนย์การค้า 2 แห่งที่มีศักยภาพและเป็นทำเลยุทธศาตร์ในอนาคต คือ ศูนย์การค้าเซ็นทรัล ลาดพร้าว และศูนย์การค้าเซ็นทรัล พระราม 9 ซึ่งการซื้อหุ้นจีแลนด์จะเข้ามาตอบโจทย์การลงทุนและการเติบโตนับจากนี้

“ตอนนี้อยู่ในกระบวนการควบรวม สิ้นเดือนนี้น่าจะแล้วเสร็จ ใช้เวลาศึกษา 3-6 เดือนเพื่อพิจารณา มาสเตอร์ แพลนใหม่อีกครั้ง”

โดยคาดว่าจะสรุปผลการเข้าซื้อหุ้นจีแลนด์ได้ในต้นเดือนพฤศจิกายนนี้ จากปัจจุบันอยู่ระหว่างทำ tender offerโดย CPN ซื้อหุ้นจีแลนด์ในนามบริษัท ซีพีเอ็น พัทยา จำกัด ในสัดส่วน 50.43% หรือ 10,162 ล้านบาท

ต่อยอด 2 ทำเลยุทธศาสตร์

นายปรีชากล่าวว่า การลงทุนใน 2 ทำเลบนที่ดินพระราม 9 ยังมีพื้นที่ว่าง 10 กว่าไร่รอพัฒนาได้อีกมาก กำลังดูแผนงานว่าสามารถอินทริเกรด 3 ตึกออฟฟิศ บวก 1 ศูนย์การค้าที่มีอยู่แล้วได้อย่างไรบ้าง เช่นเดียวกับที่ดินแปลงใหญ่ลาดพร้าว-พหลโยธิน (เยื้องแดนเนรมิต) ใกล้เซ็นทรัล ลาดพร้าว แม้ไม่ได้เป็นแปลงติดกัน แต่ก็สามารถแยกโปรเจ็กต์ขึ้นเป็นมิกซ์ยูสและซินเนอร์ยี่กับศูนย์การค้าได้

“เรามีไอเดียคร่าว ๆ แล้วว่าจะทำอะไรกับ 2 แลนด์แบงก์นี้ วงเงินลงทุนยังตอบไม่ได้ว่าเป็นเท่าไหร่ แต่ก็คงเยอะพอสมควร เพราะที่ดินมีศักยภาพทำทั้งรีเทล โรงแรม ออฟฟิศได้หมด”

ชั่งใจรีวิวแผนซูเปอร์ทาวเวอร์

เดอะ แกรนด์ พระราม 9 ของจีแลนด์เดิม ต้องการสร้างประวัติศาสตร์ด้วยอาคารความสูง 615 เมตร 125 ชั้น

นายปรีชา กล่าวว่า ยังให้รายละเอียดเกี่ยวกับการลงทุนโครงการซูเปอร์ทาวเวอร์ไม่ได้ว่าจะเดินหน้าหรือพับแผน เรากำลัง “รีวิวแผน” เพราะทำเลพระราม 9 มีศักยภาพสูงมาก ต้องมาอินทริเกรดทั้งออฟฟิศ เรสซิเดนซ์ รีเทล

“เราทำต่อแน่ แต่รูปแบบการพัฒนา เราไม่ได้ติดรูปแบบเดิมที่เขาวางไว้ เรากำลังเวิร์กกันว่าจะทำต่อหรือรีวิวใหม่”

ศก.กำลังซื้อยังต้องเดินต่อ

กลุ่มเซ็นทรัลยังมั่นใจในการเติบโตของเศรษฐกิจ ที่สอดคล้องกับเทรนด์ของประเทศยังอยู่ในเกณฑ์ที่ดี แม้ภาพใหญ่ระดับโลกกรณีสหรัฐ-จีนกำลังมีปัญหาแต่โดยรวมแล้วคิดว่าไทยสามารถไปต่อได้

เช่นเดียวกับเซ็นทรัลที่ทำการตลาดต่อเนื่องก็ต้องปรับตัวเอง ปรับแนวคิดการทำธุรกิจ จากการเป็นศูนย์การค้าให้คนมาจับจ่าย เปลี่ยนเป็น “เดสติเนชั่น” เป็นที่ที่คนเข้ามาใช้ชีวิต เป็นเซ็นเตอร์ออฟไลฟ์ เป็นศูนย์กลางของชุมชน ในทุก ๆ ทำเลที่เราเข้าไปลงทุนให้บริการธุรกิจปัจจุบันเชื่อมโยงกัน ผู้ประกอบการต้องปรับตัวให้แข็งแรงและแข็งแกร่งเพื่อรับมือกับการแข่งขัน ความท้าทายที่เข้ามาไม่ได้ส่งผลกระทบต่อเฉพาะธุรกิจค้าปลีก แต่ส่งผลต่อธุรกิจในทุกประเภท รายเล็ก กลาง ใหญ่ ต้องปรับเปลี่ยนและพัฒนาตัวเอง และนำเอาเทคโนโลยีใหม่ ๆ เข้ามาใช้เพื่อให้เกิดความยั่งยืนและต่อเนื่องทางธุรกิจ

ผู้สื่อข่าวรายว่า เมื่อวันที่ 5 พ.ย.บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา แจ้งตลาดหลักทรัพย์ฯปรับโครงสร้าง 3 บริษัทย่อย เพื่อความคล่องตัว ด้วยการจดทะเบียนเลิกบริษัท ซีพีเอ็น เลิร์นนิ่ง เซ็นเตอร์ จำกัด บริษัทย่อยที่บริษัทถือหุ้นทางตรงร้อยละ 99.94 และจดทะเบียนเลิก บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา ชลบุรี จำกัด (CBR) บริษัทย่อยที่บริษัทถือหุ้นทางตรงร้อยละ 99.99 ทุนจดทะเบียน 900 ล้านบาท และจดทะเบียนเพิ่มทุน บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา เรียลตี้ จำกัด (CPR) บริษัทย่อยที่ถือหุ้นทางตรงร้อยละ 99.99 เพื่อรองรับการโอนทรัพย์สินและหนี้สินของ CBR หลังเพิ่มทุนจดทะเบียน CPR มีทุนจดทะเบียนเพิ่มขึ้นจาก 1,003,658,000 บาท เป็น 2,268,413,020 บาท โดยบริษัทยังคงถือหุ้น CPR ทางตรงในสัดส่วนร้อยละ 99.99 เช่นเดิม