1,000 ล.สปีดสาขา KFC RD กรุ๊ป “เปิดเกม” ยึด ตจว.

สัมภาษณ์

ตลาด “ไก่ทอด” มูลค่ากว่า 14,700 ล้านบาท เติบโตอย่างต่อเนื่อง และถือเป็นตลาดใหญ่ที่มีหน้าใหม่เข้ามาเป็นทางเลือกให้กับลูกค้าไม่หยุด “เคเอฟซี” ในฐานะเจ้าตลาดด้วยจำนวนสาขาปัจจุบันกว่า 500 แห่ง ผ่าน 3 พาร์ตเนอร์หลักที่ “ยัม เรสเตอรองท์ ประเทศไทย” ให้สิทธิ์ในการทำตลาดและขยายสาขา คือ กลุ่มซีอาร์จี ในเครือเซ็นทรัล กรุ๊ป, กลุ่มไทยเบฟ และเรสเทอรองตส์ ดีเวลลอปเม้นต์ (อาร์ดี) โดยเป้าหมายใหญ่ของการขยายสาขาของเคเอฟซีในเมืองไทย ต้องการมี 800 สาขาภายในปี 2563

ล่าสุด “ประชาชาติธุรกิจ” ได้สัมภาษณ์กลุ่ม “เรสเทอรองตส์ ดีเวลลอปเม้นต์” หรืออาร์ดี ในโอกาสครบรอบ 2 ปี ในฐานะแฟรนไชส์เคเอฟซี ประเทศไทย ด้วยงบฯการลงทุน 1,000 ล้านบาท สำหรับเจาะทุกพื้นที่ โดยเฉพาะในภาคอีสานและภาคใต้ ที่ยังมีทิศทางการเติบโตอย่างมหาศาล

“แอนดรูว์ นอร์ตัน” ประธานเจ้าหน้าที่ บริษัท เรสเทอรองตส์ ดีเวลลอปเม้นต์ จำกัด หรืออาร์ดี ผู้ได้รับสิทธิ์การบริหารร้านเคเอฟซีในประเทศไทย ฉายภาพกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา เคเอฟซี ประเทศไทย ได้แต่งตั้งอาร์ดี เป็นพันธมิตรทางธุรกิจ โดยร่วมกันบริหารและปรับโฉมร้านเคเอฟซีทั้งสาขาในพื้นที่กรุงเทพฯ ปริมณฑล ภาคใต้ และภาคอีสาน ซึ่งปัจจุบันแฟรนไชส์เคเอฟซีที่อยู่ภายใต้การบริหารของอาร์ดี มีทั้งหมด 154 สาขา และสิ้นปีนี้เตรียมขยายสาขาเพิ่มอีก 16 สาขา รวมทั้งหมดเป็น 170 สาขา

“บริษัทได้ฉลองครบรอบ 2 ปี ของการดำเนินธุรกิจในฐานะแฟรนไชส์ของเคเอฟซี เราได้เปิดสำนักงานแห่งใหม่เพื่อเพิ่มศักยภาพในการทำงานของพนักงาน และยังคงมุ่งมั่นในการขยายธุรกิจร้านเคเอฟซี เพื่อรองรับการเติบโตในอนาคต”

หัวเรือใหญ่ “อาร์ดี” เล่าว่า ภาพรวมของบริษัทในช่วงไตรมาสแรกของปีมีแนวโน้มเติบโตขึ้น จากปัจจัยการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล รวมทั้งราคาของสินค้าเกษตรที่มีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ผู้บริโภคในต่างจังหวัดมีรายได้เพิ่มขึ้น จากปัจจัยเหล่านี้ส่งผลให้ผู้บริโภคเริ่มมีกำลังซื้อและกล้าจับจ่ายมากขึ้น

รวมทั้งในปัจจุบันธุรกิจร้านอาหารในเมืองไทยเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งตลาดฟาสต์ฟู้ดมีการแข่งขันที่ค่อนข้างสูง เนื่องจากมีผู้ประกอบการทั้งในประเทศและต่างประเทศเข้ามาทำธุรกิจร้านอาหาร ส่งผลให้ผู้บริโภคมีทางเลือกในการรับประทานอาหารเพิ่มขึ้น

นอกจากนี้ ความต้องการของผู้บริโภคในยุคปัจจุบันที่มีความหลากหลาย และมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทำให้ผู้ประกอบการต้องเร่งปรับตัวเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และรองรับการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ดังนั้น บริษัทจึงทุ่มงบประมาณ 1,000 ล้านบาท เพื่อรีโนเวตสาขาเดิมให้มีสีสันและทันสมัย เพื่อดึงดูดกลุ่มคนรุ่นใหม่รวมทั้งมุ่งขยายสาขาใหม่ โดยเน้นเขตกรุงเทพฯ ภาคใต้ และภาคอีสาน

นายแอนดรูว์กล่าวต่อว่า เตรียมแคมเปญและกิจกรรมการตลาดใหม่ ๆ เช่น โปรโมชั่นในช่วงเทศกาลสำคัญ อาทิ ปีใหม่ สงกรานต์ หรือวันครบรอบต่าง ๆ ในทุก ๆ เดือนอย่างต่อเนื่อง เพื่อรองรับความต้องการของผู้บริโภค

พร้อมกันนี้ บริษัท ยัม เรสเตอรอง อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) ซึ่งมีบทบาทเป็นผู้บริหารแบรนด์ ยังคงควบคุมมาตรฐาน โดยวางกลยุทธ์การทำตลาด และสร้างสรรค์นวัตกรรมด้านสินค้าและบริการให้มีประสิทธิภาพ รวมถึงแผนการบริหารดูแลแฟรนไชส์เพื่อร่วมสร้างการเติบโตของร้านเคเอฟซี

นอกจากนี้ ยังมี “แบรนด์เซ็นเตอร์” ที่เป็นศูนย์กลางการบริหารแฟรนไชส์ของแบรนด์เคเอฟซี ทำหน้าที่วางกลยุทธ์การตลาดและพัฒนานวัตกรรมสินค้าใหม่ ๆ ให้มีประสิทธิภาพ โดยนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาช่วยในเรื่องการบริการให้เหมาะสมกับไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภค บริษัทต้องชูจุดแข็งในเรื่องการขายทั้งเชิงคุณภาพ การให้บริการ ความหลากหลายของเมนูอาหาร และจำนวนตำแหน่งที่ตั้งของร้านอาหารรวมทั้งวางแผนพัฒนาธุรกิจให้มีประสิทธิภาพเพื่อรับมือกับการแข่งขันและไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่ที่เปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง