ดีด้า วิดีโอ…เก่าแต่เก๋า ปิดทุกจุดอ่อน มัดใจคนดูเปลี่ยนเร็ว

ขึ้นชื่อว่าเป็นผู้จัดละครฝีมือเก๋าค่ายหนึ่งของไทย สำหรับ “ดีด้า วิดีโอ โปรดักชั่น” ขณะที่สถานการณ์และการแข่งขันที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้ผู้จัดละครค่ายใหญ่ก็อยู่นิ่งไม่ได้ แต่ต้องเร่งพัฒนาคุณภาพ พร้อม ๆ กับการปรับกลยุทธ์ เพื่อให้สอดรับกับความท้าทายใหม่ ๆ ที่กำลังเกิดขึ้น

“สยม สังวริบุตร” กรรมการผู้จัดการ บริษัท ดีด้า วิดีโอ โปรดักชั่น จำกัด ผู้ผลิตละครโทรทัศน์ กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ทีวีดิจิทัลที่เพิ่มจำนวนขึ้น ผู้จัดละครหน้าใหม่ก็เพิ่มขึ้น และช่องใหม่ ๆ เองก็ใช้ละครมาเป็นจุดขายหลักในการดึงคนดู ทำให้จำนวนละครก็เพิ่มขึ้น หลากหลายแนวขึ้น และเข้ามาชิงฐานคนดูไป

ประกอบกับพฤติกรรมคนดูก็เปลี่ยนไป ต้องการความรวดเร็วมากขึ้น อีกทั้งช่องทางโซเชียลมีเดีย ทั้งเฟซบุ๊ก อินสตาแกรม ที่เปิดกว้างให้คนดูได้สื่อสารกับผู้จัดละครได้โดยตรงว่า ชอบ ไม่ชอบ อยากดู หรือไม่อยากดูอะไร กลายเป็นอีกความท้าทายใหม่ ๆ ของผู้จัดละครยุคนี้ในการบาลานซ์ระหว่างความรู้สึกของคนดูและผลงานที่สร้างออกมา ด้วยโจทย์ต่าง ๆ ทำให้บริษัทในฐานะผู้จัดละครก็ต้องปรับตัวให้สอดรับกับปัจจัยต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น

“สยม” อธิบายว่า ตอนนี้อุตสาหกรรมเปลี่ยนไปมาก ผู้จัดละครต้องปรับตัวในทุก ๆ มิติ ซึ่งดีด้าฯก็ปรับในหลาย ๆ ส่วน เริ่มตั้งแต่ระบบหลังบ้าน ทั้งเทคโนโลยีการถ่ายทำ งานโพสต์โปรดักชั่นที่ต้องเนียนขึ้น ต้องทันสมัยขึ้น สมจริงมากขึ้น ตลอดจนการเลือกบทประพันธ์เองก็ต้องเลือกให้โดนใจคนดู ซึ่งบริษัทก็ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ โดยจะใช้วิธีการซื้อบทประพันธ์จากผู้เขียนนวนิยายมากกว่าการพลอตเรื่องขึ้นเอง เนื่องจากบทประพันธ์มีหลาย ๆ มิติ และมีความหลากหลายของตัวละคร ที่สามารถนำมาตีความและปรับให้เข้ากับกลุ่มผู้ชมได้

ในส่วนของรูปแบบการนำเสนอ “สยม” บอกว่า ก็ปรับมาต่อเนื่อง โดยใส่รายละเอียดในแต่ละฉากมากขึ้น และที่สำคัญการดำเนินเรื่องที่ต้องเร็วขึ้น จะเดินเรื่องช้า ๆ เหมือนที่ผ่านมาไม่ได้อีกแล้ว เพราะคนรุ่นใหม่ต้องการอะไรที่รวดเร็ว ถ้าไม่ปรับและยังดำเนินเรื่องในรูปแบบเดิม ๆ คนก็ไม่ดู

“ละครแต่ละยุคสะท้อนพฤติกรรมของผู้ชมในแต่ละยุคได้เป็นอย่างดี เพราะผู้จัดเองก็ต้องทำละครให้ตรงกับตลาด ตอบโจทย์คนดูในยุคนั้น ๆ ซึ่งดีด้าฯก็ต้องปรับตัวให้เข้ากับพฤติกรรมคนดูทุก ๆ ยุค ยุคนี้ต้องการอะไรที่เร็ว ๆ เราก็ต้องเดินเรื่องให้เร็ว กระชับ แต่ท้ายที่สุดยังต้องคงจุดยืนของเรื่องไว้”

ขณะเดียวกัน ช่องทางการสื่อสารผ่านโซเชียลมีเดียที่โตขึ้น ก็ทำให้ผู้จัดละครต้องศึกษาพฤติกรรมคนดูมากขึ้น ต้องทำตลาดเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะกับกลุ่มผู้ชมประจำหรือแฟนคลับ ถือว่ามีความสำคัญต่อการประสบความสำเร็จของละครยุคนี้ค่อนข้างมาก ดังนั้นก็ต้องทำงานร่วมกับสถานี (ช่อง 7) มากขึ้น เพื่อสร้างสัมพันธ์ระหว่างคนดู ผู้จัดละครและช่อง

ยกตัวอย่าง เช่น ก่อน “พ่อมดเจ้าเสน่ห์” ออนแอร์ ก็มีต้องเตรียมงานร่วมกับช่องมากขึ้น ล่าสุดลอนช์เกมออนไลน์ “พ่อมดเจ้าเสน่ห์” พร้อม ๆ กับการปล่อยละครลงจอควบคู่กันไป ซึ่งได้ผลตอบรับที่ดีจากผู้ชม รวมถึงการจัดกิจกรรมระหว่างคนดูกับแฟนละครมากขึ้น เพื่อสร้างความสัมพันธ์ระหว่างคนดูและช่องเพิ่มขึ้น เพราะการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างฐานแฟนคลับและฐานแฟนละคร กลายเป็นสิ่งสำคัญในการสร้างแบรนด์ลอยัลตี้ให้แก่ช่องอีกทางด้วย

นอกจากนี้ บริษัทยังเปิดกว้างสำหรับการรับฟังความคิดเห็นจากคนดูด้วย เพราะที่ผ่านมาก็มีคอมเมนต์จากโซเชียลมีเดียเข้ามาตลอด ทั้งเชิงบวกและเชิงลบ ซึ่งเปิดกว้างรับฟังทุกความคิดเห็น ถ้ามีคอมเมนต์เชิงบวกก็ถือว่าดี แต่หากมีคอมเมนต์เชิงลบก็พร้อมจะแก้ไข แต่อาจจะไม่ได้แก้ไขทุกจุด แต่จะแก้เฉพาะสิ่งที่สำคัญเท่านั้น เพราะถือว่าเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาผลงานละครให้ถูกใจคนดูมากขึ้น

ทั้งหมดถือเป็นความท้าทายที่กำลังเกิดขึ้นแก่ผู้จัดละครในปัจจุบัน ที่ต้องเปลี่ยนให้เร็วและตอบโจทย์คนดูยุคนี้ให้ได้