“สิงห์-ช้าง” วืดเป้า เบียร์แสนล้านซึม กำลังซื้อทรุดหนัก

เบียร์ 1.8 แสนล้านนิ่งสนิท “สิงห์-ช้าง” กุมขมับกำลังซื้อซัดยอดร่วง ทำใจสิ้นปีวืดเป้า ด้านเอเย่นต์บ่นอุบ แบกสต๊อกหลังแอ่น ดิ้นระบายสินค้า สรรพสามิตเผยภาษีลดฮวบกว่าหมื่นล้าน

ปีนี้แม้ว่าภาพรวมของเศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวดูดีขึ้น และคาดว่าจีดีพีจะขยายตัวได้ราว 4.4-4.8% แต่อีกด้านหนึ่ง หลาย ๆ ธุรกิจกำลังต้องเผชิญหน้ากับความท้าทายจากปัญหาเรื่องกำลังซื้อที่ชะลอตัว โดยเฉพาะกลุ่มรากหญ้า จากปัญหาราคาพืชผลทางการเกษตรตกต่ำ หนี้ครัวเรือน ส่งผลให้ตลาดเบียร์มูลค่ากว่า 1.8 แสนล้านบาท หดตัวลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี ล่าสุดผู้ประกอบการรายใหญ่ต่างทำใจว่า ช่วง 2 เดือนสุดท้ายที่เหลืออยู่ แม้จะเป็นหน้าขายแต่ก็คงไม่สามารถจะผลักดันหรือดึงยอดขายให้กลับมาเติบโตได้ตามเป้า

“สิงห์-ช้าง” ยอดแป้ก-วืดเป้า

แหล่งข่าวระดับสูงจากบริษัท สิงห์ คอร์เปอเรชั่น จำกัด เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาตลาดเบียร์โดยรวมมียอดขายไม่ดีนัก ปัจจัยที่กระทบหลัก ๆ มาจากกำลังซื้อที่หดตัวลงอย่างต่อเนื่อง สำหรับช่วง 2 เดือนสุดท้ายนี้ แม้จะเป็นหน้าขายสำคัญ และในแง่ของมู้ดการจับจ่าย การเฉลิมฉลอง อาจจะดีขึ้นบ้าง และทำให้ตลาดคึกคักขึ้นบ้าง แต่ก็คงไม่สามารถ

คัฟเวอร์ตลาดในช่วง 9-10 เดือนที่ผ่านมาที่หดตัวลงไปมากได้

“ภาวะที่เกิดขึ้นเป็นทั้งเราและคู่แข่ง เชื่อว่าปีนี้ตัวเลขยอดขายทั้งเราและคู่แข่งคงไม่มีใครทำได้ตามเป้าที่วางไว้ สำหรับช่วงหน้าขายปลายปีที่เหลืออยู่ บริษัทก็จะยังทำกิจกรรมทั่วไปตามปกติ เช่น ลานเบียร์ แต่จะไม่มีการเพิ่มงบฯพิเศษอะไรเพื่อกระตุ้นตลาด”

สอดคล้องกับแหล่งข่าวระดับสูงจากบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ที่ยอมรับว่า ตลาดโดยรวมปีนี้ไม่ดีนัก นอกจากเรื่องกำลังซื้อที่เป็นปัญหาแล้ว การรณรงค์ของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ที่ทำมาเป็นระยะ ๆ อย่างต่อเนื่องก็มีผลกับตลาดไม่น้อย ดูได้จากช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่ผ่านมาซึ่งถือเป็นหน้าขายหลักของเบียร์ แต่ตัวเลขออกมาก็ไม่ดี ลดลงไปมาก

ขณะที่นายปริญ มาลากุล ณ อยุธยา ผู้อำนวยการฝ่ายกิจการองค์กร บริษัท ไทยเอเชีย แปซิฟิค บริวเวอรี่ ผู้ผลิตและจำหน่ายเบียร์ไฮเนเก้น เชียร์ ไทเกอร์ ฯลฯ กล่าวในเรื่องนี้ว่า ตลอดทั้งปีที่ผ่านมาตลาดเบียร์หดตัวลงเล็กน้อย ส่วนใหญ่เป็นผลมาจากเบียร์เมนสตรีม หรือเบียร์ที่เจาะตลาดแมส เช่น ลีโอ ช้าง ฯลฯ ที่ได้รับผลกระทบจากการจับจ่ายของผู้บริโภคกลุ่มแมสที่ค่อนข้างนิ่ง ล่าสุด ขณะนี้เข้าสู่ช่วงหน้าขายปลายปีแต่ตลาดก็ยังนิ่ง ๆ อย่างไรก็ตาม ในช่วงต้นเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมาบริษัทได้เปิดตัวไทเกอร์ รสชาติใหม่ “แรดเลอร์

เลเมอน” แอลกอฮอล์ 2% เพื่อกระตุ้นตลาดในช่วงโค้งสุดท้ายและเพิ่มทางเลือกผู้บริโภค

เอเย่นต์แห่ลดสต๊อก

ผู้แทนจำหน่ายเบียร์สิงห์-ลีโอ ในภาคกลาง-อีสาน กล่าวไปในทิศทางเดียวกัน โดยเปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปีนี้บรรดาเอเย่นต์ต้องทำงานหนักขึ้นกว่าเดิมมาก เนื่องจากยอดขายไม่เป็นไปตามเป้าที่วางเอาไว้ ล่าสุดต้องลงพื้นที่เดินสายขายของ ออกไปเปิดบูทขายสินค้า จัดคอนเสิร์ตเล็ก ๆ มีนักร้อง มีพริตตี้มาช่วย เป็นการเร่งระบายสต๊อกช่วยอีกทางหนึ่ง จากเดิมที่หลัก ๆ ก็จะกระจายให้ซับเอเย่นต์เอาไปจำหน่ายเท่านั้น แต่ตอนนี้ต้องช่วยทำทุกวิถีทาง ซึ่งก็ทำให้มีต้นทุนเพิ่มขึ้นแต่ก็ต้องทำเพื่อให้ขายได้

เช่นเดียวกับผู้แทนจำหน่ายของค่ายเบียร์ช้างที่ให้ความเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่า กำลังซื้อในปีนี้หดตัวลงมากเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ทำให้ยอดขายค่อนข้างนิ่ง แม้แต่ช่วงไฮซีซั่นอย่างช่วงสงกรานต์ที่ผ่านมาก็ไม่ดีเท่าที่ควร อย่างไรก็ตาม คาดว่ายอดขายช่วง 2 เดือนสุดท้ายจะปรับตัวดีขึ้นบ้าง เพราะเข้าสู่ช่วงเฉลิมฉลองปลายปี

“ปกติก่อนจะเข้าหน้าขายไม่ว่าจะเป็นช่วงสงกรานต์หรือปีใหม่ เอเย่นต์ก็จะสต๊อกเบียร์ไว้ขายมาก แต่ปีนี้เอเย่นต์แทบทุกรายต่างลดการสต๊อกลง เพราะไม่อยากจะแบกสต๊อกไว้มาก ๆ”

ไทยเบฟฯส่ง 2 เบียร์ใหม่ลุย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า อย่างไรก็ตามในช่วงต้นเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ได้ลอนช์เบียร์ใหม่เข้าสู่ตลาดพร้อม ๆ กัน 2 แบรนด์ โดยเริ่มวางจำหน่ายในช่องทางร้านสะดวกซื้อเซเว่นอีเลฟเว่น ได้แก่ เบียร์หมาป่า (Huntsman Cloudy Wheat Beer) และเบียร์มังกรดำ (Black Dragon Red Beer) จากก่อนหน้านี้ที่ค่ายสิงห์ได้ส่งเบียร์แบรนด์ใหม่ สโนวี่ ไวเซ่น บาย เอส33 และเอส สามสาม คอปเปอร์ คราฟต์ เบียร์เข้ามาทำตลาด

รายงานจากกรมสรรพสามิต กระทรวงการคลัง เปิดเผยถึงตัวเลขการจัดเก็บภาษีเบียร์ในปีงบประมาณที่ผ่านมา (ตุลาคม 2560-กันยายน 2561) ว่าสามารถจัดเก็บได้ 76,356 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อนหน้า 10,840 ล้านบาทหรือลดลง 12.43% เป็นผลมาจากปริมาณการบริโภคโดยรวมลดลง ตลอดจนในช่วงพีกของหน้าขาย เช่น เทศกาลวันสงกรานต์ ก็มีการรณรงค์กวดขันที่เข้มงวดมากขึ้น


เช่นเดียวกันกับภาษีเหล้า ในปีงบประมาณที่ผ่านมาสามารถจัดเก็บได้ 55,964 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อนหน้า 6,619 ล้านบาท หรือลดลง 10% จากแนวโน้มการบริโภคที่ลดลง และการกักตุนสินค้าก่อนที่ พ.ร.บ.สรรพสามิต 2560 จะมีผลบังคับใช้ในช่วงปลายปี 2560