“อายิโนะโมะโต๊ะ” บุกอินเดีย ส่งกาแฟสำเร็จรูปรับดีมานด์

ด้วยวัฒนธรรมการดื่มชาที่ยาวนานไม่แพ้จีนทำให้อินเดียถือเป็นตลาดเกิดใหม่สำหรับสินค้ากาแฟหลากหลายรูปแบบทั้งพร้อมดื่ม สำเร็จรูปและอื่น ๆ ซึ่งที่ผ่านมามีแบรนด์กาแฟหลายรายเริ่มรุกเข้าสู่ตลาดเพื่อชิงสร้างฐานผู้บริโภค โดยเฉพาะในต่างจังหวัดที่เป็นช่องว่างของตลาด และในเดือน ส.ค.นี้ “อายิโนะโมะโต๊ะ” เจ้าของแบรนด์กาแฟพร้อมดื่มและกาแฟสำเร็จรูป อาทิ “เบอร์ดี้” เป็นผู้เล่นรายล่าสุดที่ตัดสินใจเปิดฉากรุกตลาดกาแฟแดนภารต

โดยสำนักข่าว นิกเคอิรายงานว่า อายิโนะโมะโต๊ะเริ่มปักธงรุกตลาดในรัฐทมิฬนาฑูทางใต้สุดของอินเดียเป็นแห่งแรก หวังอาศัยแรงหนุนจากการเป็นพื้นที่ที่วัฒนธรรมการดื่มกาแฟเข้มแข็งที่สุดในประเทศ ด้วยการวางขายกาแฟสำเร็จรูปยี่ห้อ “เบลนดี้” (Blendy) ราคาซองละ 10 รูปี หรือประมาณ 50 สตางค์ตั้งแต่ช่วงกลางเดือนนี้ ก่อนที่จะขยายตลาดไปทั่วประเทศในขั้นต่อไป

พร้อมกันนี้ทางบริษัทยังปล่อยสินค้าชาสำเร็จรูปแบรนด์เบลนดี้ลงตลาดตามไปอีกด้วย เพื่อรับมือการแข่งขันและเดินหน้าขยายฐานสร้างการรับรู้กับผู้บริโภคที่ดื่มเครื่องดื่มแบบชงชนิดอื่นโดยเฉพาะกลุ่มชาที่ถือเป็นคู่แข่งสำคัญ

ทั้งนี้ อินเดียถือเป็นตลาดต่างประเทศแห่งแรกที่บริษัทนำสินค้าแบรนด์เบลนดี้ซึ่งเดิมวางขายเฉพาะในญี่ปุ่นออกมาทำตลาด หลังจากซื้อแบรนด์นี้มาจากบริษัทเครื่องดื่มสัญชาติฮอลแลนด์

“เจคอป โดว เอคเบิร์ต” (Jacobs Douwe Egberts) เมื่อปีที่แล้ว

นอกจากรุกตลาดอินเดียด้วยเบลนดี้แล้ว ยังมีแผนขยายไลน์อัพกาแฟพร้อมดื่ม “เบอร์ดี้” (Birdy) ในอีกหลายตลาด อาทิ ไทยและเวียดนาม รวมถึงเมียนมาที่เตรียมลงทุน 22.7 ล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2561เพื่อสร้างโรงงาน พร้อมกับรุกตลาดเครื่องดื่มสำเร็จรูป

ความเคลื่อนไหวเหล่านี้สอดคล้องกับผลสำรวจของบริษัทวิจัยหลายแห่งที่ชี้ว่า ความนิยมของกาแฟสำเร็จรูปกำลังเพิ่มขึ้นจนมีฐานกลุ่มคอกาแฟเป็นของตนเองในหลายพื้นที่ทั่วโลก รวมถึงอินเดียซึ่งกาแฟสำเร็จรูปกำลังเป็นเครื่องดื่มยอดนิยมของบรรดาพนักงานออฟฟิศที่ต้องการดื่มกาแฟคุณภาพดีแต่เตรียมได้ง่ายและเร็วรวมถึงยังรุกคืบไปในกลุ่มผู้ดื่มชาอีกด้วย แม้เทรนด์กาแฟสดจะมาแรงก็ตาม

ส่งผลให้ตลาดกาแฟสำเร็จรูปทั่วโลกในปี 2559 ที่ผ่านมามียอดส่งสินค้าถึง 21.5 ล้านถุง คิดเป็นมูลค่าประมาณ 9,900 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยมีความสะดวกรวดเร็วทั้งด้านการพกพาและชงดื่มที่แม้แต่เด็กก็สามารถทำได้ซึ่งเป็นข้อได้เปรียบสำคัญ เช่นเดียวกับคุณภาพด้านกลิ่นและรสที่พัฒนาขึ้นอย่างต่อเนื่องจากความพยายามของผู้ผลิตที่อัดนวัตกรรมต่าง ๆ หวังสู้กับกาแฟสด จนคาดว่าจะเติบโตต่อเนื่องก้าวกระโดดในช่วง 5 ปีหลังจากนี้

อีกทั้งเป็นไปตามแผนของอายิโนะโมะโต๊ะ ที่ตั้งใจปั้นรายได้ในภูมิภาคเอเชียเพิ่ม โดยอาศัยรากฐานของธุรกิจเครื่องปรุงและผงชูรสที่ทำตลาดมานานจนแข็งแกร่งในการต่อยอดแตกไลน์อัพสินค้าเครื่องดื่มโดยเฉพาะกาแฟที่กำลังมาแรงในกลุ่มคนรุ่นใหม่ เหมาะสำหรับการสร้างรายได้ในระยะยาว ตามเป้าของบริษัทที่จะมีรายได้จากสินค้าอาหารในตลาดต่างประเทศเพิ่มเป็น 5.27 แสนล้านเหรียญสหรัฐภายในปี 2562

อย่างไรก็ตามตลาดนี้ยังมีความท้าทายจากคู่แข่งทั้งท้องถิ่นและต่างชาติ ซึ่งต้องรอดูกันว่าแผนการของ อายิโนะโมะโต๊ะ จะช่วยให้สามารถยึดหัวหาดได้สำเร็จหรือไม่