มิสชั่น ‘ณรัณ ธรรมาวรานุคุปต์’ พาอาณาจักรนาฬิกาหรูบุก CLMV

สัมภาษณ์

 

ในบรรดาผู้ได้รับสิทธิ์นำเข้าและจัดจำหน่ายนาฬิกาหรูในประเทศ เชื่อว่าชื่อของ “พีเอ็มที เดอะ อาวร์ กลาส” นั้นอยู่ในอันดับต้น ๆ ที่ถือครองแบรนด์ชั้นนำต่าง ๆ เอาไว้จำนวนมากกว่า 40 แบรนด์ ทั้งโรเล็กซ์,
โอเดอมาร์ ปิเกต์, ริชาร์ด มิลล์, ปาเต็ก ฟิลิปป์, อูโบลท์, โชพาร์ด, ทิวดอร์ ฯลฯ แทบจะสูงที่สุดเลยก็ว่าได้

ภายใต้การบริหารของ “ณรัณ ธรรมาวรานุคุปต์” กรรมการผู้จัดการ บริษัท พีเอ็มที เดอะ อาวร์ กลาส จำกัด ผู้นำเข้าและจัดจำหน่าย และบริหารร้านมัลติแบรนด์นาฬิกาหรู ที่คร่ำหวอดในวงการนี้มาอย่างยาวนาน ประกอบกับฝีไม้ลายมือในการบริหารธุรกิจ ที่สามารถสร้างการเติบโตให้กับบริษัทและแบรนด์มาอย่างต่อเนื่อง

จนแบรนด์อย่างอูโบลท์ยอมลงทุน แยกออกมาเปิดบูติคสโตร์ เพื่ออวดโฉมบรรยากาศ และคอลเล็กชั่นได้อย่างครบครัน ล่าสุด “ณรัณ” ก็สร้างปรากฏการณ์ใหม่อีกครั้งด้วยการดึงแบรนด์ “ปาเต็ก ฟิลิปป์” มาเปิดบูติคสโตร์ ใหญ่ที่สุดในไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ไอคอนสยาม แบบจัดเต็มบนพื้นที่ 220 ตร.ม.

ภายในร้านมีทั้งโซนจัดแสดง (exhibition area) นำรุ่นหายากหมุนเวียนมาโชว์ ในตู้กระจกที่สั่งทำพิเศษ สามารถตัดแสงสะท้อนเหมือนไม่มีกระจกกั้น มีเคาน์เตอร์ให้บริการ (counter sale) 3 จุด ตลอดจนห้องรับรองลูกค้า วี.ไอ.พี. (V.I.P. zone) ซึ่งความพิเศษของบูติคแห่งนี้ก็คือ จะมีกลิ่นหอมของน้ำหอมที่ชื่อว่า “Grand Quai” ที่จะมีเฉพาะในช็อปแฟลกชิปสโตร์เท่านั้น

และในอนาคตก็จะมีท็อปแบรนด์ในพอร์ตโฟลิโอของพีเอ็มทีฯ แยกออกมาเปิดเป็นบูติคสโตร์อีก 2-3 แบรนด์ เพื่อตอบสนองกับความต้องการของลูกค้าได้มากขึ้น โดยเฉพาะเรื่องประสบการณ์ที่ลูกค้าจะได้รับเมื่อมาใช้บริการที่ร้าน

“ณรัณ” เล่าว่า เขายังมองโอกาสการลงทุนในไทยไว้อย่างต่อเนื่อง แต่คงจะไม่ใช่การเร่งขยายสาขาจำนวนมาก ๆ แต่เป็นการเพิ่มคุณค่า และเน้นสร้างการเติบโตแบบมีคุณภาพมากกว่า เช่น การพัฒนาการตลาด เทรนนิ่งพนักงาน การสื่อสารในช่องทางดิจิทัล ลอนช์เว็บไซต์ใหม่ มีการทำคอนเทนต์ให้ความรู้เกี่ยวกับสินค้า และไลฟ์สไตล์ที่ตรงกับกลุ่มลูกค้ามากขึ้น

ตลอดจนการทำซีอาร์เอ็มที่กำลังจะนำระบบใหม่เข้ามาใช้ในช่วงต้นปีหน้า โดยจะสามารถเก็บข้อมูลของลูกค้าเมื่อมาซื้อของที่ร้าน และสามารถเชื่อมต่อข้อมูลดังกล่าว เวลาลูกค้าไปใช้บริการกับร้านอื่น ๆ (ภายใต้แบรนด์ที่ร่วมโครงการ) ในต่างประเทศก็ได้เช่นกัน

อย่างไรก็ตาม แม้ว่า “ณรัณ” จะไม่ได้ตั้งเป้าเชิงตัวเลขแบบแอ็กเกรสซีฟ แต่ในด้านของผลประกอบการของพีเอ็มทีฯในปีนี้กลับทำรายได้สูงที่สุดนับตั้งแต่ก่อตั้งมา

เขาอธิบายว่า นั่นเป็นเพราะตลาดนาฬิการะดับลักเซอรี่ยังคงมีดีมานด์ที่แข็งแรงอยู่ คนกลุ่มบนยังคงมีกำลังซื้อ และไม่มีปัญหาเรื่องการใช้จ่ายเท่าไรนัก ส่วนเรื่องที่จะกระทบกับคนกลุ่มนี้มักเป็นเรื่องของอารมณ์ บรรยากาศ ความเชื่อมั่น (sentiment) เป็นหลัก

ซึ่งบรรยากาศในช่วงที่ผ่านมาถือว่าค่อนข้างดี เช่น ตลาดจีนเริ่มฟื้นตัวขึ้น หลังจากมีมาตรการแอนตี้คอร์รัปชั่นเมื่อ 2-3 ปีที่แล้ว และตลาดโลกโดยรวมเองก็ปรับตัวดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็นอเมริกา ตะวันออกกลาง ฯลฯ ทำให้เกิดการแย่งสต๊อกกันทั่วโลก

เพราะแบรนด์หรูมักจะมีจำนวนการผลิตที่แน่นอน ไม่ผลิตเพิ่ม แม้จะมีความต้องการมากขึ้นแค่ไหนก็ตาม เพื่อสร้างคุณค่าของตราสินค้า (brand equity) เมื่อคนเหล่านี้รู้สึกว่าของหายาก
ของขาด ยิ่งเกิดความอยากได้ ตัวอย่างเช่น สต๊อกของโรเล็กซ์ลดลงไปกว่า 30-40% บางบูติคแทบไม่มีของจะขาย ยิ่งทำให้ brand equity สูงขึ้นเรื่อย ๆ

ไม่เพียงแต่โอกาสในประเทศ “ณรัณ” ยังย้ำอีกด้วยว่า เขากำลังสนใจที่จะเข้าไปทำตลาดในละแวกเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะกลุ่ม CLMV หรือกัมพูชา ลาว มาเลเซีย และเวียดนาม ที่เศรษฐกิจอยู่ในช่วงของการเติบโต ภายในช่วง 1 ปีนี้

“เราจะโฟกัสไปที่เวียดนามและกัมพูชาก่อน ที่นั่นกำลังเข้าสู่ยุคแบบเมืองไทยเมื่อ 15 ปีที่แล้ว คือคนเริ่มมีกำลังซื้อมากขึ้น เศรษฐกิจเวียดนามโต 7.5% ต่อปี ประชากร 90 ล้านคน มีอายุเฉลี่ย 30 ปี อยู่ในช่วงเริ่มทำงาน ซึ่งต่อจากนี้ไป 5 ปี 10 ปี จะมีเงินเดือนสูงขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งมันจะดึงดูดให้การลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศเกิดขึ้นอีกจำนวนมาก หากเราเข้าไปโพซิชันนิ่งในตลาดตอนนี้ ก็จะสามารถสร้างแบรนด์ให้เข้าไปอยู่ในใจของเขาได้ก่อนใคร”

โดยขณะนี้ยังอยู่ระหว่างเจรจากับแบรนด์พาร์ตเนอร์ เพื่อขอสิทธิ์เข้าไปทำตลาดในภูมิภาค CLMV ส่วนจะไปโมเดลแบบไหนนั้น ยังต้องศึกษาตลาดและคอนซูเมอร์อีกซักระยะ โดยความเป็นไปได้ น่าจะเป็นการเข้าไปจับมือกับพาร์ตเนอร์ท้องถิ่น ด้วยข้อกฎหมายการลงทุน และโนว์ฮาวต่าง ๆ

เป็นก้าวกระโดดสำคัญที่ “ณรัณ” ต้องพิสูจน์ฝีมือกันอีกครั้ง