“เติมสบาย” ปรับพอร์ตธุรกิจ โฟกัสตู้หยอดเหรียญ-ระบบศูนย์อาหาร

“เติมสบาย” บาลานซ์พอร์ต หันโฟกัสตู้หยอดเหรียญ-ศูนย์อาหาร อัดโปรโมชั่นราคา-นวัตกรรมบิ๊กดาต้า ท้าชนเจ้าตลาด ผนึกซัพพลายเออร์ทำโปรโมชั่นราคาต่ำกว่าสะดวกซื้อหวังชิงลูกค้า ตั้งเป้าปูพรมครบ 10,000 ตู้ใน 3 ปีหวังขึ้นแท่นเบอร์ 1 ด้านศูนย์อาหารเตรียมอัพเกรดระบบเน้นจ่ายตรงไม่ต้องแลกการ์ด มั่นใจ 2 ธุรกิจหนุนรายได้โต 30% ต่อเนื่อง

นายชูเกียรติ รุจนพรพจี ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มเติมสบายพลัส บริษัท เวนดิ้ง คอร์ปอเรชั่น จำกัด ผู้ให้บริการตู้เติมเงิน-ขายตู้สินค้าหยอดเหรียญภายใต้แบรนด์ “เติมสบาย” กล่าวว่า ปัจจุบันตลาดตู้สินค้าหยอดเหรียญและธุรกิจระบบบริหารศูนย์อาหาร มีโอกาสเติบโตสูง โดยตลาดตู้สินค้าหยอดเหรียญมีปัจจัยบวกจากปัญหาค่าแรงงานที่สูงขึ้น และการขยายตัวของโรงงาน ศูนย์กระจายสินค้า ที่ถือเป็นทำเลที่มีศักยภาพสูงของธุรกิจนี้ คาดว่าปี 2563 จะมีตู้เพิ่มขึ้นเป็น 25,000 ตู้ จากปัจจุบันมี 16,000-19,000 ตู้ ขณะที่มีผู้เล่นหลักเพียง 3 ราย ได้แก่ ซัน 108 เวนดิ้ง ทีจีเวนดิ้ง และเติมสบาย ส่วนธุรกิจระบบบริหารศูนย์อาหารก็เติบโตขึ้นตามการขยายตัวของธุรกิจค้าปลีกทั้งห้างสรรพสินค้าและไฮเปอร์มาร์เก็ต ด้วยแนวโน้มที่เกิดขึ้นจากนี้ไป บริษัทจะให้น้ำหนักกับธุรกิจตู้สินค้าหยอดเหรียญและระบบการบริหารศูนย์อาหารมากขึ้น ขณะที่ธุรกิจตู้เติมเงินที่เป็นธุรกิจเดิมก็มีความแข็งแรงแล้ว

สำหรับสถานการณ์การแข่งขันปัจจุบันพบว่า ตัวเลือกและช่องทางการชำระเงินเพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะเป็นคิวอาร์โค้ด กระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ หรือวอลเลตเจ้าต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศ เช่น ทรู, อาลิเพย์ ซึ่งสอดรับกับพฤติกรรมของผู้บริโภคยุคนี้ ในส่วนของธุรกิจตู้สินค้าหยอดเหรียญนั้น บริษัทมี 1,400 ตู้ ถือเป็นเบอร์ 3 ของตลาด โดยจะเน้นกลยุทธ์ราคา บริการหลังการขาย และความหลากหลายของสินค้า เพื่อดึงดูดความสนใจของกลุ่มแมส ซึ่งกลยุทธ์เหล่านี้ก็ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้ากลุ่มนี้ได้อย่างรวดเร็ว รวมถึงสร้างความเชื่อมั่นกับเจ้าของพื้นที่ เพื่อชิงทำเลสำคัญอย่างปั๊มน้ำมัน สถานีขนส่ง ด้วยการวางราคาสินค้าต่ำกว่าร้านสะดวกซื้อประมาณ 1-5 บาท และจับมือซัพพลายเออร์จัดโปรโมชั่นลดราคา 25-30% ตอบโจทย์กลุ่มแมสที่ให้น้ำหนักกับราคา รวมถึงเริ่มทดลองระบบรับชำระเงินผ่านคิวอาร์โค้ด วอลเลต รวมถึงวีซ่าเพย์เวฟในงานกาชาดปลายปีนี้ ก่อนจะทยอยอัพเกรดตู้ทั้งหมด

“จุดแข็งของบริษัท คือ ความหลากหลายของสินค้าและทำเล พร้อมทั้งการต่อยอดบิ๊กดาต้าที่ได้จากตู้หยอดเหรียญและศูนย์อาหาร เพื่อนำมาใช้สร้างกลยุทธ์การตลาด รองรับความต้องการผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป และบาลานซ์รายได้ตั้งแต่ช่วงไตรมาสสุดท้ายปีนี้”

นอกจากนี้ยังสร้างความหลากหลาย ด้วยการรับสินค้าจากซัพพลายเออร์ทุกราย และจัดไลน์อัพให้ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคแต่ละพื้นที่ ซึ่งแตกต่างจาก 2 รายหลักที่เน้นขายสินค้าในเครือของตัวเองเท่านั้น และด้วยกลยุทธ์นี้คาดว่าจะช่วยสร้างความมั่นใจและดึงความสนใจของผู้บริโภคได้อย่างแน่นอน

นายชูเกียรติกล่าวว่า ยอดขายของตู้สินค้าหยอดเหรียญที่สูงขึ้นจึงจูงใจเจ้าของพื้นที่มากขึ้น และช่วยให้บริษัทได้เปรียบด้านการหาทำเลที่ดีมากขึ้น โดยจากนี้ไปจะเพิ่มจำนวนตู้สินค้าหยอดเหรียญในปั๊มน้ำมันย่าน กทม.และปริมณฑล รวมถึงโรงงานอุตสาหกรรม และบิ๊กซี ตั้งแต่เดือนธันวาคมปีนี้ หลังปัจจุบันติดตั้งในศูนย์การค้าเซ็นทรัล โรบินสัน เทสโก้ โลตัส เอ็มบีเค และขนส่งหมอชิตแล้ว คาดว่าสิ้นปีนี้จะมีตู้ทั้งหมด 1,600 ตู้ ส่วนปี”62 จะเพิ่มเป็น 6,000 ตู้ และตั้งเป้าเป็นเบอร์ 1 ในปี 2563 ด้วยจำนวนกว่า 10,000 ตู้สำหรับธุรกิจระบบบริหารศูนย์อาหาร ปัจจุบันบริษัทให้บริการในเชนค้าปลีกหลายแห่ง อาทิ เทสโก้ โลตัส ท็อปส์ ซูเปอร์มาร์เก็ต และอื่น ๆ กว่า 250 แห่ง ล่าสุดเตรียมลงทุน 50 ล้านบาท

สำหรับพัฒนาระบบใหม่ที่จะรับเงินผ่านคิวอาร์โค้ด-วอลเลตต่าง ๆ โดยตรง แทนระบบเดิมที่ใช้บัตรแทนเงินสดชำระสินค้าในศูนย์อาหาร เพื่อลดความซับซ้อนและเพิ่มความรวดเร็วในการให้บริการ อีกทั้งยังสามารถเก็บข้อมูลยอดขายและพฤติกรรมผู้บริโภค เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารศูนย์และเจ้าของพื้นที่ด้วย โดยคาดว่าระบบใหม่นี้จะเริ่มใช้ได้ตั้งแต่ต้นปี 2562 และพร้อมขยายฐานต่อเข้าไปในศูนย์อาหารของโรงงานและสถานศึกษา


นายชูเกียรติกล่าวว่า การปรับทิศทางธุรกิจนี้จะช่วยให้ปีนี้สามารถชิงเบอร์ 2 ในตลาดตู้หยอดเหรียญ และสร้างการเติบโตประมาณ 30% เช่นเดียวกับช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา รวมถึงช่วยให้สามารถเข้าสู่ตลาดหุ้นช่วงต้นปีหน้าได้ตามที่ตั้งเป้าไว้แน่นอน