ผ่ารายได้ 2.2 แสนล้าน “ไทยเบฟ” ยอดขายพุ่ง สวนทางกำไร

คอลัมน์ จับกระแสตลาด

หนทางสู่เป้าหมาย การเป็นผู้นำเครื่องดื่มครบวงจรในอาเซียนของ “ไทยเบฟ” ภายในปี 2020 ผ่านมาได้ครึ่งทาง พร้อมกับตัวเลขยอดขาย และมาร์เก็ตแชร์ ที่พุ่งทะยานขึ้นจากการใช้เม็ดเงินถึง 2 แสนล้านบาท รุกซื้อกิจการขนาดใหญ่ในภูมิภาคหลายบริษัทตลอดช่วง 1 ปีที่ผ่านมา

ล่าสุด เมื่อปลายเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ได้รายงานต่อตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ โดยชี้แจงถึงผลประกอบการในปี 2561 (ตุลาคม 2560-พฤศจิกายน 2561) ว่า บริษัทมีรายได้รวม 229,695 ล้านบาท เติบโต 20.9% หรือเกือบ 40,000 ล้านบาท จากปีที่ผ่านมา ที่มีรายได้ 189,997 ล้านบาท

โดยการเติบโตของรายได้หลัก ๆ มาจากการซื้อกิจการ (M&A) ไม่ว่าจะเป็น ยอดขายของแกรนด์รอยัลกรุ๊ป เหล้าอันดับ 1 ในเมียนมา ยอดขายของซาเบคโก (SABECO) เบียร์อันดับ 1 ในเวียดนาม ยอดขายของเคเอฟซี 252 สาขา รวมถึงยอดขายจากสไปซ์ ออฟ เอเชีย เชนร้านอาหารไทยที่มีแบรนด์ในเครือ 4 แบรนด์ อาทิ คาเฟ่ ชิลลี่, พ็อต มินิสทรี ฯลฯ

แต่ทว่าเมื่อพิจารณาลงลึกถึงรายได้จากตัวธุรกิจต่าง ๆ จะพบว่า บางกลุ่มแม้จะมีการควบรวมกิจการ มีรายได้ใหม่ที่เติมเข้ามา แต่ก็ไม่ได้ทำให้ยอดขาย และกำไรเติบโตได้เท่าที่ควร เช่น ธุรกิจเหล้า ซึ่งมีรายได้ทั้งปี (sales revenue) อยู่ที่ 105,900 ล้านบาท ลดลง 3.1% เช่นเดียวกับกำไรสุทธิ (net profit) 17,720 ล้านบาท ลดลง 13.2% แม้จะนับรวมยอดขายของแกรนด์รอยัลกรุ๊ปเข้ามาก็ตาม

ไทยเบฟให้เหตุผลว่า มาจากสัดส่วนของยอดขาย (sale volume) ที่ลดลง และมีค่าใช้จ่ายด้านการตลาด โปรโมชั่น และพนักงานเพิ่มขึ้น ตลอดจนภาพรวมของตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ชะลอตัวจากสภาพเศรษฐกิจและการใช้จ่ายของผู้บริโภคที่ระมัดระวังมากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ที่มีรายได้น้อย

เช่นเดียวกันกับธุรกิจเบียร์ ที่รายได้ทั้งปีอยู่ที่ 94,486 ล้านบาท เติบโตขึ้นถึง 64.8% หรือเพิ่มขึ้นกว่า 37,000 ล้านบาท จากการเข้าซื้อซาเบคโก แต่กำไรสุทธิมีเพียง 2,805 ล้านบาท ลดลง 10.4% เนื่องจากไทยเบฟมีต้นทุนทางการเงิน (finance cost) ที่ค่อนข้างสูง จากการซื้อกิจการในช่วงที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้มีการรายงานว่า ซาเบคโกมีรายได้ในปีก่อนอยู่ที่ 48,000 ล้านบาท และมีการคาดการณ์รายได้ในปีนี้ว่า จะอยู่ที่ 51,000 ล้านบาท

จากรายงานของหนังสือพิมพ์ธุรกิจ เวียดนาม อินเวสต์เมนต์ รีวิว ที่จัดตั้งขึ้นโดยกระทรวงการวางแผนและการลงทุนของเวียดนาม ขณะนี้ซาเบคโกครองส่วนแบ่งในตลาดเวียดนามอยู่ประมาณ 42.8% ลดลงเล็กน้อยจากปีก่อนหน้าที่มีส่วนแบ่งราว 43.6% จากการแข่งขันที่ดุเดือดขึ้นจากการโหมรุกทำตลาดของบริษัทเบียร์ยักษ์ใหญ่จากต่างประเทศ

ด้านของธุรกิจอาหาร รายได้ทั้งปีอยู่ที่ 13,265 ล้านบาท เติบโตขึ้น 96.8% หรือกว่า 6,500 ล้านบาท จากการเข้าซื้อสาขาของเคเอฟซีกว่า 250 แห่ง และเชนร้านอาหารไทยอีก 10 สาขา ซึ่งทำให้อัตรากำไรสุทธิของกลุ่มอาหารเติบโตไปด้วย อยู่ที่ 554 ล้านบาท เติบโตขึ้น 432.7%

ขณะที่ธุรกิจน็อนแอลกอฮอล์ที่มีรายได้จากเสริมสุข โออิชิ ฯลฯ ในปีนี้ไม่ได้ซื้อกิจการใหม่ ๆ เพิ่มรายได้ทั้งปีอยู่ที่ 16,184 ล้านบาท ลดลง 3.5% ขาดทุนสุทธิ 1,244 ล้านบาท หรือขาดทุนเพิ่มจากปีที่ผ่านมา 45.5% จากต้นทุนการขาย (COGS) และค่าใช้จ่ายในการขายและการบริหาร (SG&A) ที่ค่อนข้างสูง เพราะต้องบริหารผลิตภัณฑ์ (product mix) ค่อนข้างหลากหลาย รวมถึง

การที่โรงงานผลิตเครื่องดื่มของโออิชิ ในนิคมอุตสาหกรรมนวนครเกิดเพลิงไหม้เมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่ผ่านมา ทำให้ทรัพย์สินบางส่วนได้รับความเสียหาย

หากวัดจากรายได้ที่เพิ่มขึ้น 20% สำหรับบริษัทยักษ์ใหญ่ที่มีฐานรายได้กว่า 2 แสนล้าน ถือว่าเป็นตัวเลขที่สูงมาก แต่ความท้าทายอีกประการที่ทีมบริหารยังต้องคำนึงถึงคือ “อัตรากำไร” ที่จะเป็นตัวชี้วัดประสิทธิภาพการบริหาร ความน่าสนใจในการลงทุน และความยั่งยืนของธุรกิจ

 

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลย พิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat
.
หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!