ทุนนอกแห่ซื้อธุรกิจไทย หวังสปริงบอร์ดอาเซียน

คอลัมน์ จับกระแสตลาด

คลื่นการขยายตลาดเข้าสู่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของแบรนด์สินค้า-บริการจากจีนและญี่ปุ่นยังคงสาดซัดเข้ามาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะประเทศไทยที่ถูกมองว่าเป็นประตูสู่ตลาดอาเซียน ส่งผลให้ช่วง 1 ปีที่ผ่านมานี้กลุ่มทุนน้อย-ใหญ่ทั้งจากจีนและญี่ปุ่นเข้ามาซื้อธุรกิจในไทยอย่างคับคั่ง ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจอาหาร ของใช้ในบ้าน และการจัดเทรดแฟร์ หวังต่อยอดขยายตลาดไปยังประเทศเพื่อนบ้าน

ล่าสุด “อินเนอร์ มองโกเลีย อีลี อินดัส เทรียล กรุ๊ป” หรือ “อีลี่กรุ๊ป” บริษัทผู้ผลิตผลิตภัณฑ์นมสัญชาติจีนได้ทุ่มเงิน 80 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 2,600 ล้านบาท ซื้อกิจการบริษัท จอมธนา จำกัด ผู้ผลิตไอศกรีมแบรนด์ “ครีโม” (Cremo), ติ่มซำแช่แข็ง และยังมีธุรกิจรถห้องเย็นสำหรับขนส่งสินค้าทั่วประเทศ หวังใช้เป็นช่องทางนำสินค้ามารุกตลาดไทยและอาเซียน

ทั้งนี้ “อีลี่กรุ๊ป” เป็นหนึ่งในผู้ผลิตผลิตภัณฑ์นมรายใหญ่ของจีน มีสินค้าครบวงจรทั้งนมสด, นมสเตอริไลซ์, ชีส, ไอศกรีม และอื่น ๆ ภายใต้แบรนด์ “อีลี่” ปัจจุบันครองส่วนแบ่งตลาดนมในช่องทางออฟไลน์ประมาณ 37.6% โดยไตรมาส 3 ปีนี้มีรายได้ถึง 6.13 หมื่นล้านหยวน หรือประมาณ 2.88 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 16.88% จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว และมีกำไร 5 พันล้านหยวน หรือ 2.35 หมื่นล้านบาท

ส่วนบริษัท จอมธนา จำกัด เป็นธุรกิจร่วมทุนไทย-สิงคโปร์-มาเลเซีย มีตระกูล “เตชะหรูวิจิตร” เจ้าของบริษัทเซียร์ พร็อพเพอร์ตี้ และบริษัท เอเชีย โฮเต็ล ผู้บริหารศูนย์การค้าเซียร์และโรงแรมเอเชียถือหุ้นใหญ่ โดยมี “สุรพล เตชะหรูวิจิตร” เป็นกรรมการและถือหุ้นผ่าน 2 บริษัท คือ พล พงษ์ภัทร และโกลเด้น คิดส์ รวมสัดส่วน 47.51% ปี 2560 มีรายได้ 1.18 พันล้านบาท กำไร 127.6 ล้านบาท เติบโตจากปีก่อนหน้า 212.6% จากธุรกิจผลิตไอศกรีมแบรนด์ครีโมส่งออกไปยัง 15 ประเทศ ใน 4 ทวีป, ติ่มซำแช่แข็งแบรนด์สตาร์, รับโออีเอ็มซาลาเปา รวมถึงธุรกิจขนส่งด้วยรถห้องเย็นจำนวนกว่า 200 คัน แวร์เฮาส์ 19 แห่ง

“ฮั่น เจียนจี” ประธานบริหารของอีลี่กรุ๊ป ระบุในแถลงการณ์ว่า ดีลนี้เป็นใบเบิกทางรุกตลาดไอศกรีมของไทยและอาเซียน โดยอาศัยเครือข่ายโลจิสติกส์ของจอมธนาส่งสินค้าเข้าสู่ช่องทางต่าง ๆ ทั้งร้านสะดวกซื้อ ไฮเปอร์มาร์เก็ตและห้างสรรพสินค้า เพื่อสร้างฐานในประเทศ ก่อนจะขยายไปยังประเทศเพื่อนบ้านต่อไป หลังจากเดือน ต.ค.ที่ผ่านมา ได้ตั้งหน่วยงานดูแลตลาดต่างประเทศขึ้นที่เซี่ยงไฮ้ รวมถึงลอนช์สินค้าใหม่ 11 รายการ อาทิ ไอศกรีมแบรนด์ “จอยเดย์” (Joyday) เพื่อทำตลาดในอาเซียนโดยเฉพาะ ตามเป้าเจาะทุกตลาดในอาเซียนภายในปี 2563

นอกจากนี้ ยังมีทุนต่างประเทศที่สุ่มเงียบเข้าซื้อธุรกิจอื่น ๆ อีก อาทิ เพอร์ซันนอลแคร์ ซึ่งเมื่อเดือน ก.ย. “ยูนิชาร์ม” ยักษ์สินค้าเพอร์ซันนอลแคร์สัญชาติญี่ปุ่น เจ้าของแบรนด์ “มามี่โพโค” และ “โซฟี” ตัดสินใจทุ่มเม็ดเงิน 530 ล้านเหรียญสหรัฐ ซื้อกิจการ “ดีเอสจี อินเตอร์เนชั่นนัล (ประเทศไทย)” ผู้ผลิตและจำหน่ายผ้าอ้อมสำเร็จรูปสำหรับเด็กและผู้ใหญ่แบรนด์ “เบบี้เลิฟ” และ “เซอร์เทนตี้” สร้างรายได้กว่า 8.2 พันล้านบาท เมื่อปี 2560

นับเป็นการซื้อกิจการบริษัทต่างชาติครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของยูนิชาร์ม หวังใช้ไลน์อัพสินค้าและฐานการผลิตของดีเอสจีในไทย, มาเลเซียและอินโดนีเซีย รวมถึงเครือข่ายโลจิสติกส์ เพื่อรุกตลาดผ้าอ้อมผู้ใหญ่ และลดต้นทุนสินค้าด้วยอีโคโนมีออฟสเกล สร้างความได้เปรียบในตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รับมือคู่แข่งอย่างพีแอนด์จี และคาโอ

เช่นเดียวกับธุรกิจจัดเทรดแฟร์ ที่ “ไชน่า เกรทวอล อินเตอร์เนชั่นนัล เอ๊กซ์ซิบิชั่น คอมปานี” หรือ “จีไออี” (China Great Wall International Exhibition Company-GIE) ผู้จัดงานแฟร์สัญชาติจีน ซื้อหุ้น 50% ของงานแสดงสัตว์เลี้ยงใหญ่ 2 งาน คือ “ไทยแลนด์ อินเตอร์เนชั่นนัล เพ็ท วาไรตี้” และ “ไทยแลนด์ อินเตอร์เนชั่นนัล ด็อก โชว์” ซึ่งจัดโดย “อิมแพ็ค” และมีผู้เข้าชมงานปีที่แล้วประมาณ 2 แสนคน โดยถือเป็นครั้งแรกที่ผู้จัดเทรดแฟร์จีนซื้องานแฟร์ในต่างประเทศ

ทั้งนี้ “จีไออี” ระบุว่า บริษัทร่วมทุนที่เกิดขึ้นนี้ จะช่วยเบิกทางรุกตลาดเทรดแฟร์ในอาเซียน รวมถึงเป็นโอกาสสำหรับผู้ประกอบการด้านสัตว์เลี้ยงของจีนที่จะเข้าถึงตลาดที่มีฐานผู้บริโภคกว่า 500 ล้านคน เช่นเดียวกับผู้ประกอบการไทยที่มีโอกาสรุกตลาดจีนได้ง่ายขึ้น

ความเคลื่อนไหวเหล่านี้สะท้อนถึงดีมานด์ของทุนต่างชาติที่ต้องการฮุบกิจการในไทย เพื่อต่อยอดรุกตลาดอาเซียน ต้องจับตาดูว่าปีหน้าจะมีดีลซื้อกิจการเกิดขึ้นอีกมากน้อยเพียงใด

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลย พิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat
.
หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!