ออกสตาร์ตช้า…เวลาน้อย มิสยูนิเวิร์ส 2018 ส่อแววกร่อย

คอลัมน์ จับกระแสตลาด

เวทีการประกวด “มิสยูนิเวิร์ส” หรือ “นางงามจักรวาล” ถือเป็น 1 ใน 3 เวทีประกวดนางงามระดับนานาชาติที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก และว่ากันว่าทุกครั้งที่ถ่ายทอดสดจะมีผู้ชมกว่า 500 ล้านคนทั่วโลก

นี่ถือเป็นครั้งที่ 3 ในรอบ 13 ปี ที่ประเทศไทยได้รับเกียรติอันยิ่งใหญ่ จากก่อนหน้านี้ที่ไทยเคยเป็นเจ้าภาพจัดประกวดมาแล้ว 2 ครั้ง คือ ปี 2535 และ 2548

แต่สำหรับการประกวดมิสยูนิเวิร์สครั้งที่ 67 ที่กำลังจะมีขึ้นในวันที่ 17 ธันวาคมนี้ (รอบตัดสิน) กลับมีคำถามเกิดขึ้นว่าทำไมจึงดูเหมือนจะไม่คึกคักเท่าที่ควร ซึ่งแตกต่างจาก 2 ครั้งแรกโดยสิ้นเชิง

ถึงวันนี้ แม้จะเริ่มมีข่าวการทำกิจกรรมของบรรดาสาวงามจากทั่วโลกออกมาเป็นระยะ ๆ แต่ก็ยังไม่เปรี้ยงปังเท่าที่ควร

แหล่งข่าวจากวงการโฆษณารายหนึ่ง ยอมรับกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า “ตอนนี้ในแง่ของการรับรู้ของคนทั่ว ๆ ไป ยังถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่ต่ำ เมื่อเทียบกับการที่ไทยเป็นเจ้าภาพ 2 ครั้งที่ผ่านมา เนื่องด้วยเวลาที่จำกัด จึงมีการประชาสัมพันธ์น้อย และความไม่ชัดเจนที่เกิดขึ้นก็ทำให้ธุรกิจหรือสินค้ารี ๆ รอ ๆ ไม่กล้าตัดสินใจเรื่องการจะเข้ามาเป็นสปอนเซอร์”

หากย้อนกลับไปถึงปฐมบทของมิสยูนิเวิร์ส 2018 ที่ไทยเป็นเจ้าภาพครั้งนี้คนไทยเริ่มรับรู้ข่าวคร่าว ๆ เรื่องนี้อย่างเป็นทางการเมื่อช่วงต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา “ธนวัฒน์ วันสม” ประธานกรรมการบริหาร TW Investment Group ซึ่งอดีตเคยนั่งเก้าอี้ผู้อำนวยการ อสมท ตั้งโต๊ะแถลงข่าวว่า เป็นผู้ได้รับสิทธิจากองค์กรมิสยูนิเวิร์ส ออร์แกไนเซชั่น ให้เป็นผู้ถือลิขสิทธิ์ในการจัดประกวดมิสยูนิเวิร์ส 2018 ในไทย

ครั้งนั้น “ธนวัฒน์” ระบุว่า การจัดประกวดครั้งนี้มีค่าลิขสิทธิ์ 400 ล้านบาท และจะจัดรอบตัดสินที่อิมแพ็ค เมืองทองธานีหลาย ๆ ฝ่าย รวมถึงรัฐบาลก็ออกมาขานรับว่าจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ในหลาย ๆ มิติ

แต่เวลาผ่านไป 2 เดือนเศษ ๆ เริ่มมีกระแสข่าวว่า การจัดงานภายใต้การทำงานของ TW Investment Group ยังไม่มีความคืบหน้าเท่าที่ควรตามด้วยมีข่าวลือว่า อาจจะต้องเลื่อนการจัดงานออกไป บ้างก็พูดว่า จะต้องยกเลิกการจัดการประกวดที่ไทย

ขณะเดียวกันก็มีข่าวว่ามีรายใหม่ที่จะเข้ามาจัดงานแทนและกำลังประสานงานกันอยู่

กระทั่งเมื่อวันที่ 24 เดือนตุลาคมที่ผ่านมา TW Investment Group ได้ส่งจดหมายถึงสื่อมวลชนว่า บริษัท มิสยูนิเวิร์ส สหรัฐอเมริกา ได้ยกเลิกสิทธิในการจัดประกวดของบริษัทแล้ว

ถัดมาอีก 4-5 วัน ประธานองค์กรมิสยูนิเวิร์ส บินถึงกรุงเทพฯ และเปิดแถลงข่าว พร้อมกับบริษัท ทีพีเอ็น 2018 จำกัด ภายใต้การนำทีมของ “สมชาย ชีวสุทธานนท์” หรือ “ตี๋ แม็ทชิ่ง” ในฐานะผู้ถือลิขสิทธิ์ในการจัดการประกวดมิสยูนิเวิร์ส 2018 รายใหม่อย่างเป็นทางการ

เท่ากับว่า เหลือเวลาเพียง 2 เดือนเศษ ๆ ที่จะจัดงานใหญ่ระดับโลกครั้งนี้ แน่นอนว่า ทีพีเอ็น 2018 ต้องทำงานแบบไฟลนก้น เพราะมีเวลาการเตรียมงานไม่มากนัก

“สมชาย ชีวสุทธานนท์” ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ทีพีเอ็น 2018 จำกัด ยอมรับว่า “การหาสปอนเซอร์ถือเป็นอุปสรรคของการจัดงานนี้ เพราะมีเวลาจำกัด ทำให้หาสปอนเซอร์ได้น้อย และถ้างานนี้จบลง อาจจะต้องใช้หนี้ แต่ถ้ายกเลิกงานนี้ก็เจ็บตัว ไม่ยกเลิกก็เจ็บตัว จึงขอตายในสนามรบดีกว่ายกธงขาว”

อีกด้านหนึ่ง ผู้คร่ำหวอดจากวงการนางงาม วิเคราะห์ว่า หากมองในมุมธุรกิจ การจัดประกวดมิสยูนิเวิร์ส 2018 ถือเป็นอีเวนต์ใหญ่ ที่จะสามารถสร้างเม็ดเงินให้ประเทศได้อย่างมหาศาล โดยเฉพาะด้านการท่องเที่ยว นอกจากนี้ยังมีทีมงานกองประกวด กองเชียร์ กองถ่ายทำ และช่างภาพสื่อมวลชนจำนวนมากที่เข้ามาติดตามทำข่าวในไทย

ที่สำคัญ งานนี้จะมีการถ่ายทอดสดไปยังสายตาคนใน 170 ประเทศทั่วโลก นั่นหมายถึงว่า เวทีประกวดครั้งนี้จะเป็นเครื่องมือสำคัญในการโปรโมตประเทศไทยและแบรนด์สินค้าต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี

แต่ด้วยเงื่อนไขในเรื่องข้อจำกัดของเวลา ทำให้หลาย ๆ ฝ่ายไม่สามารถจะเก็บเกี่ยวประโยชน์จากเวทีการประกวดครั้งนี้ได้เท่าที่ควร

โอกาสทองมาอยู่ตรงหน้าแล้ว แต่ก็ไม่สามารถจะไขว่คว้าเอาไว้ได้

หลายคนก็ได้แต่ภาวนาว่าขอให้งานนี้สำเร็จลุล่วงด้วยดี เพราะอย่างน้อยที่สุด นี่คืองานที่ถือเป็นหน้าเป็นตาของคนไทยทั้งประเทศ

ว่ากันว่า หลังมิสยูนิเวิร์ส 2018 ปิดฉากรูดม่านลงไปแล้ว แต่ก็จะยังมีอีกหลายเรื่องที่ยังไม่จบง่าย ๆ และคงต้องวิ่งขึ้นโรงขึ้นศาลกันอีกหลายรอบ

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลย พิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat
.
หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!