สะดวกซื้อเกาหลีลดแข่งขัน รวมหัวจัดโซนนิ่งอุ้มแฟรนไชซี

คอลัมน์ Market Move

การร่วมมือกันของคู่แข่งทางธุรกิจเป็นปรากฏการณ์ที่หาดูได้ยาก และยิ่งยากขึ้นหากเป็นความร่วมมือเพื่อลดการแข่งขันระหว่างกัน โดยเฉพาะในเซ็กเมนต์ที่แข่งขันดุเดือดอย่างร้านสะดวกซื้อ ซึ่งกลยุทธ์โหด ๆ ไม่ว่าจะเป็นการตัดราคาหรือตั้งสาขาประกบคู่แข่งที่ขายดีสามารถพบเห็นได้ตลอด
 
แต่ในเกาหลีใต้ที่มีร้านสะดวกซื้อกว่า 4 หมื่นสาขา และส่วนใหญ่เป็นแฟรนไชส์การแข่งขันดุเดือดนี้กลับส่งผลกระทบกับแฟรนไชซีของแต่ละเชนอย่างรุนแรงมากกว่ากับคู่แข่ง เนื่องด้วยสถานะคล้ายทหารแนวหน้าในสมรภูมิต้องคอยรับความเสียหายต่าง ๆ เอง โดยที่เจ้าของแฟรนไชส์ซึ่งเป็น “แชโบล” หรือกลุ่มธุรกิจใหญ่แทบไม่ได้รับผลกระทบใด ๆ สะท้อนจากคำกล่าวของแฟรนไชซีรายหนึ่งที่ระบุว่า เมื่อปี 2558 ในรัศมี 1 กิโลเมตรมีร้านคู่แข่งเพียง 1 ราย แต่ปัจจุบันมีเพิ่มเป็น 4 รายแล้ว ส่งผลให้ยอดขายและกำไรลดลงมาก นับเป็นประเด็นสำคัญที่แม้แต่ประธานาธิบดี “มุน แจ-อิน” ยังต้องสั่งให้หน่วยงานกำกับดูแลการผูกขาดเข้ามาดูแลปัญหานี้
 
ล่าสุดเชนร้านสะดวกซื้อในเกาหลีใต้ได้เคลื่อนไหวรับมือปัญหานี้ ด้วยการจับมือแสดงจุดยืนที่จะลดดีกรีความร้อนแรงของการแข่งขันลง หวังช่วยพยุงแฟรนไชซีให้สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้
 
สำนักข่าว “โคเรียนบิซไวน์” รายงานว่า เชนร้านสะดวกซื้อ 6 รายในเกาหลีใต้ ซึ่งรวมถึงรายใหญ่อย่างซียู (CU) จากเครือบีจีเอฟรีเทล มีสาขากว่า 12,000 สาขา, จีเอส 25 (GS25) ของเครือจีเอสกรุ๊ป มีสาขา 12,500 สาขา เซเว่นอีเลฟเว่น ภายใต้ลอตเต้ กรุ๊ป มีสาขา 9,480 สาขา ได้ร่วมกันลงนามในร่างกฎเกณฑ์ควบคุมการแข่งขันในตลาดร้านสะดวกซื้อ โดยห้ามตั้งสาขาในระยะ 50 เมตรจากร้านแบรนด์คู่แข่ง ส่วนระหว่างแบรนด์เดียวกันต้องห่างอย่างน้อย 250 เมตร ทั้งนี้เพื่อลดความหนาแน่นและผ่อนคลายแรงกดดันของแฟรนไชซี หลังตลาดร้านสะดวกซื้อมูลค่ารวมกว่า 2.16 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐใกล้ถึงจุดอิ่มตัวด้วยจำนวนร้านกว่า 4 หมื่นสาขา คิดเป็น 1 สาขาต่อประชากร 1,417 คน หนาแน่นกว่าญี่ปุ่นที่มีสัดส่วน 1 สาขาต่อประชากร 2,226 คน รวมถึงเกิดการหดตัวครั้งแรกในประวัติศาสตร์ เมื่อยอดขายร้านเดิมลดลง 3.5% ในเดือน ก.พ. 2560 และลดลงต่อเนื่องถึง 11 เดือน
“คิม ซัง-โจ” ประธานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า อธิบายว่า ความร่วมมือแบบอาสาควบคุมกันเองของผู้ประกอบการร้านสะดวกซื้อนี้ จะช่วยบรรเทาปัญหาของฝั่งแฟรนไชซีและชะลอสภาวะอิ่มตัวของตลาดไปพร้อมกัน
 
อย่างไรก็ตาม แม้จะจำกัดการขยายสาขาแล้ว แต่บรรดาร้านสะดวกซื้อยังคงเดินหน้าแข่งขันกันในด้านอื่น อาทิ เซเว่นอีเลฟเว่นซึ่งเปิด “เซเว่นล็อกเกอร์” บริการล็อกเกอร์ฝากของ พร้อมแผนปูพรม 100 จุดทั่วประเทศภายในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2562 หวังดึงดูดลูกค้าและเพิ่มช่องทางสร้างรายได้ใหม่ ๆ ให้กับร้านสาขา
 
ด้านจีเอส 25 เริ่มทดลองสมาร์ทสโตร์ ที่นำเทคโนโลยีจดจำใบหน้าเข้ามาใช้เพื่อปลดล็อกประตูร้านและชำระค่าสินค้า รวมถึงระบบคิดราคาสินค้าอัตโนมัติไม่ต้องใช้พนักงานหรือการสแกนบาร์โค้ด เพื่อช่วยลดภาระด้านการจ้างแรงงานของแฟรนไชซี
 
ส่วนอีมาร์ท 24 เชนร้านสะดวกซื้อของกลุ่มชินเซเก เริ่มนโยบายการันตีสินค้าอาหาร หากรสชาติไม่ถูกใจยินดีคืนเงินเต็มจำนวน โดยเริ่มทดลองใช้ในเดือน ธ.ค.นี้ ครอบคลุมสินค้า 20 รายการ ซึ่งคัดมาจากกลุ่มสินค้าขายดี เช่น เบเกอรี่, ซูชิ และบะหมี่ เป็นต้น ทั้งนี้เพื่อสร้างการรับรู้ด้านคุณภาพสินค้ารวมถึงสร้างความมั่นใจให้กับลูกค้า
 
จากนี้ต้องจับตาดูกันว่า ความร่วมมือของเชนร้านสะดวกซื้อเกาหลีใต้จะยืนยาวเพียงใด และจะสามารถแก้โจทย์ของแฟรนไชซีและการอิ่มตัวของตลาดได้ตามที่ตั้งเป้าไว้หรือไม่
ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลย พิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat
.
หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!