โออิชิปรับกลยุทธ์โตยกพอร์ต ดันธุรกิจร้านอาหาร/แก้เกมชาเขียวซบ

โออิชิปรับกลยุทธ์ใหม่ กลุ่มเครื่องดื่มนำทัพ แตกเซ็กเมนต์ เจาะตลาดพรีเมี่ยม หลังตลาดชาเชียวช็อกหนักจากภาษีสรรพสามิตและกระแสสุขภาพ ทำตลาดติดลบ 20% ขณะที่กลุ่มร้านอาหารยังมาแรง ตั้งเป้าปี”62 เปิด 19 สาขา เน้นเจาะหัวเมืองรอง ขยายฐานลูกค้ากลุ่มใหม่ ๆ พร้อมรุกตลาดอาหารพร้อมทานเตรียมปรับโฉมใหม่ภายใต้กลยุทธ์ “One Brand” ควบคู่กับการขยายช่องทางจำหน่าย หวังสร้างการเติบโตยกพอร์ต

นางนงนุช บูรณะเศรษฐกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท โออิชิ กรุ้ป จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงทิศทางธุรกิจ 2 ปีจากนี้ว่า จะเดินหน้าด้วย 4 กลยุทธ์หลัก ได้แก่ การขยายสาขา สร้างแบรนด์ พัฒนาสินค้า และตอกย้ำความเป็นผู้นำกลุ่มธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มสไตล์ญี่ปุ่น โดยจะสร้างการเติบโตให้แก่ทุกธุรกิจ ทั้งเครื่องดื่ม ร้านอาหาร และอาหารพร้อมทาน พร้อมทั้งขยายตลาดทั้งในและต่างประเทศมากขึ้น โดยตั้งเป้าหมายว่าปี 2562 จะกลับมาเติบโตอย่างแข็งแรง

จากปีนี้ที่ต้องเผชิญกับความท้าทายที่หลากหลาย ทำให้ต้องปรับกลยุทธ์ต่อเนื่อง โดยผลประกอบการปี 2561 (1 ต.ค. 60-30 ก.ย. 61) มีรายได้ 12,596 ล้านบาท ลดลง 7% จากปีก่อนเพราะรายได้จากธุรกิจเครื่องดื่มลดลง เนื่องจากตลาดชาเขียวโดยรวมได้รับผลกระทบจากการจัดเก็บภาษีสรรพสามิต และกระแสรักสุขภาพ

ปัจจุบันสัดส่วนรายได้แบ่งเป็นเครื่องดื่ม 48% ร้านอาหาร 52% จากก่อนหน้านี้ที่มีสัดส่วนเท่ากัน โดยสัดส่วนเครื่องดื่มลดลง เพราะปี”61 ตลาดชาเขียวตกลง ทำให้ต้องวางกลยุทธ์ใหม่ โดยรุกตลาดต่างประเทศมากขึ้นและปี”62 ก็ยังเดินตามแผน ทั้งออกสินค้าใหม่ เพื่อกระตุ้นตลาด และเพิ่มความเข้มข้นในการทำตลาดต่างประเทศมากขึ้น ส่วนกลุ่มร้านอาหารก็โตต่อเนื่อง ปีหน้าจะเติมโปรโมชั่นใหม่ ๆ และขยายสาขาเพิ่ม เพื่อขยายฐานลูกค้ากลุ่มใหม่ ๆ มากขึ้น ส่วนกลุ่มอาหารพร้อมทาน จะรุกขยายช่องทางจำหน่ายมากขึ้น เพื่อให้เข้าถึงผู้บริโภคทุกกลุ่ม โดยแนวทางที่วางไว้จะทำให้ทุกธุรกิจมีการเติบโตที่ดี

เครื่องดื่มยังติดลบหนัก

นางเจษฎากร โคชส์ รองกรรมการผู้จัดการ สายงานธุรกิจเครื่องดื่ม บริษัท โออิชิ กรุ้ป จำกัด (มหาชน) ยอมรับว่า ปี 2561 ตลาดชาเขียวติดลบ 20% จากปีก่อน หรือมีมูลค่าเพียง 13,000 ล้านบาท จากการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตและกระแสรักสุขภาพ ประกอบกับผู้ผลิตปรับขึ้นราคา ทำให้ยอดขายโดยรวมลดลง ขณะที่ปี 2562 คาดว่าตลาดนี้จะโตขึ้น จากการปรับกลยุทธ์ของแต่ละแบรนด์ นั่นหมายถึงตลาดจะกลับมามีมูลค่า 15,000 ล้านบาทเท่ากับปี 2560 ในส่วนโออิชิก็ปรับแนวรบใหม่ ผ่าน 3 กลยุทธ์หลัก ได้แก่ เพิ่มการบริโภคชาเชียว ด้วยการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่

ล่าสุดลอนช์เซ็กเมนต์ใหม่ “โออิชิ โกลด์” เจาะตลาดพรีเมี่ยม พร้อมรีลอนช์แพ็กเกจจิ้ง “คาบูเซฉะ สูตรไม่มีน้ำตาล” ตามด้วยการย้ำภาพลักษณ์ของผลิตภัณฑ์ที่เจาะตลาดวัยรุ่น ด้วยการมุ่งสร้างความแปลกใหม่ อย่างโออิชิ รสน้ำผึ้งมะนาวสูตรดับเบิลเลมอน โดยใช้บีเอ็นเค 48 เป็นพรีเซ็นเตอร์ เพื่อสื่อสารถึงกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่มีแคแร็กเตอร์ของความเป็นญี่ปุ่น สุดท้ายเน้นสร้างการเติบโตตลาดต่างประเทศ แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ การเข้าไปทำตลาดเอง และเทรดดิ้ง เพื่อผลักดันให้โออิชิเป็นรีจินอลแบรนด์

“ตอนนี้ขยายตลาดส่งออกมากขึ้น โดยเพิ่มจาก 24 ประเทศ เป็น 34 ประเทศ ขณะที่ตลาดหลัก ๆ ยังอยู่ที่ 3 ประเทศหลัก คือ ลาว กัมพูชาและเมียนมา ซึ่งสัดส่วนรายได้ตลาดนี้ก็โตขึ้นทุกปี จากปี 2557 ที่มีสัดส่วน 5% เท่านั้น แต่ปัจจุบันตลาดต่างประเทศเพิ่มเป็น 25% และในประเทศ 75%”

ร้านอาหารยังโตแรง

ขณะที่กลุ่มธุรกิจร้านอาหาร นายไพศาล อ่าวสถาพร รองกรรมการผู้จัดการ สายงานธุรกิจอาหาร บริษัท โออิชิ กรุ้ป จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า เป้าหมายปี 2562 คือ การรักษาความเป็นผู้นำร้านอาหารญี่ปุ่น ด้วยการขับเคลื่อนธุรกิจด้วย 3 กลยุทธ์หลัก ได้แก่ มุ่งสร้างคุณค่าของสินค้าและบริการ โดยเน้นการเติบโตให้แก่สาขาเดิมผ่านการจัดกิจกรรมและโปรโมชั่นใหม่ ๆ ตามด้วยการปรับปรุงกระบวนการทำงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

โดยใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย เช่น การสั่งดีลิเวอรี่ผ่านแอปพลิเคชั่นบนมือถือ พร้อมลดเวลาการส่งสินค้าจาก 45 นาที เหลือ 30 นาที เป็นต้น เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้า สุดท้ายการขยายสาขาต่อเนื่อง โดยปีหน้าจะเปิด 19 สาขา ภายใต้งบประมาณ 400-500 ล้านบาท โดยจะเน้นเปิดสาขาตามหัวรองมากขึ้น พร้อมประยุกต์รูปแบบการขยายธุรกิจมาสู่โมเดลธุรกิจร้านอาหารที่มีขนาดเล็กลง เพื่อให้สามารถเข้าถึงฐานลูกค้าใหม่มากขึ้น

รุกตลาดอาหารพร้อมทาน

เช่นเดียวกับ นางสาวเมขลา เนติโพธิ์ รองกรรมการผู้จัดการ สายงานธุรกิจอาหารสำเร็จรูป บริษัท โออิชิ กรุ้ป จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า จากนี้ไปบริษัทจะให้ความสำคัญกับกลุ่มอาหารพร้อมรับประทานมากขึ้น เนื่องจากพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไป เน้นความสะดวก สบายมากขึ้น ดังนั้น จะเดินหน้าพัฒนาสินค้าในกลุ่มอาหารพร้อมรับประทานมากขึ้น

โดยในช่วงไตรมาส 2 ปีหน้า จะปรับโฉมและสร้างแบรนด์ครั้งใหญ่ในกลุ่มอาหารพร้อมทาน ภายใต้กลยุทธ์ “One Brand” หรือการสร้างแบรนด์ภายใต้ร่มแบรนด์ใหญ่เดียวกัน เพื่อสร้างความเป็นหนึ่งเดียวกันให้กับแบรนด์ ควบคู่ไปกับการขยายช่องทางการจัดจำหน่ายและการกระจายสินค้าเชิงรุกผ่านการผนึกกำลังกับพันธมิตรกลุ่มธุรกิจในเครือ โดยตั้งเป้าเพิ่มยอดขายทั้งในช่องทางหลัก ได้แก่ ร้านสะดวกซื้อ และช่องทางใหม่ เช่น ฟู้ดเซอร์วิส โฮเรก้า เป็นต้น

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลย พิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat
.
หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!