ผู้ผลิตรายการทีวีขาดทุนยับ ปิดบริษัท-ดิ้นปรับตัวหนีตาย

ผู้ผลิตคอนเทนต์กระอัก พิษเม็ดเงินโฆษณาทีวีดิจิทัลหด-แข่งเดือด ดาราถอดใจทยอยปิดบริษัท คืนรายการให้สถานี รายใหญ่ดิ้นปรับโมเดลธุรกิจหนีตาย หารายได้เพิ่ม “เจเอสแอล” ผลิตป้อนออนไลน์ “เซ้นส์-ดีด้า” ยกเครื่องบริหารลดต้นทุน “เช้นจ์ 2561” น้องใหม่จากแกรมมี่ รับผลิตทุกแพลตฟอร์ม

ตัวเลขเม็ดเงินโฆษณาที่เป็นรายได้หลักของทีวีที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง สวนทางกับต้นทุนที่สูง โดยเฉพาะค่าสัมปทานและค่าโครงข่าย ขณะที่พฤติกรรมของคนดูเปลี่ยนไป ไม่เพียงจะส่งผลกระทบกับทีวีทุกช่อง และต้องปรับตัวเพื่อลดต้นทุนทั้งลดบุคลากร การผลิตคอนเทนต์ ที่ซื้อคอนเทนต์จากต่างประเทศมาออกอากาศ จากผลพวงที่เกิดขึ้น ล่าสุดได้ส่งกระทบไปถึงผู้ผลิตคอนเทนต์อย่างหนัก ทำให้บางรายที่เช่าเวลามาก็ต้องตัดสินใจคืนเวลาให้สถานี (ช่อง) หรือบางรายต้องปรับตัวเพื่อหารายได้อื่น ๆ ชดเชย

รายได้ลดกระทบถ้วนหน้า

แหล่งข่าวระดับสูงจากบริษัทผู้ผลิตรายการทีวีรายใหญ่เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้บริษัทผู้ผลิตรายการทั้งรายเล็กรายใหญ่ต่างก็ประสบปัญหาในเรื่องของรายได้อย่างหนัก เนื่องจากเม็ดเงินโฆษณาที่ลดลงมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงปี 2559 ที่ผ่านมา บางรายการแม้จะมีเรตติ้งดี แต่โฆษณาไม่เข้า ทำให้มีหลายรายการที่ตัดสินใจยุติการออกอากาศลง เช่น “ที่นี่หมอชิต” ของ บริษัท ดี ทอล์ก จำกัด ในเครือแกรมมี่ ที่ปิดรายการไปเมื่อกลางปีที่ผ่านมา “เกมพันหน้า” ของบริษัท ทริปเปิ้ล ทู จำกัด ของเกียรติ กิจเจริญ (ซูโม่กิ๊ก) ที่ยุติการออกอากาศเมื่อปลายเดือนกันยายนปีนี้

ประกอบกับตอนนี้สถานการณ์ทีวีเปลี่ยนไป คนดูลด เรตติ้งลด ทำให้ผู้จัดละครต้องปรับตัวด้วย โดยไม่ยึดติดการผลิตให้ช่องใดช่องหนึ่งเหมือนที่ผ่าน ๆ มา แต่เริ่มหันไปทำคอนเทนต์ป้อนช่องทางต่าง ๆ ให้มากขึ้น จากเดิมยึดแค่จอทีวีเป็นหลัก และพยายามหารายได้ด้วยการทำไทอิน (tie-in) สินค้าในละครเพิ่มขึ้นด้วย เพื่อสร้างรายได้ใหม่มาทดแทนสปอตโฆษณาที่น้อยลง

“ที่ผ่านมาช่วงที่ทีวีดิจิทัลเกิดขึ้นใหม่ ๆ มีดารานักแสดงหันมาเปิดบริษัทผลิตรายการ ผลิตละคร จำนวนมาก แต่เมื่อสถานการณ์เปลี่ยน ช่องทุกช่องลดต้นทุน ทำให้งานก็น้อยลง ตอนนี้หลายรายก็ค่อย ๆ ทยอยเลิกกิจการไปเงียบ ๆ”

ขณะที่นายวราวุธ เจนธนากุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เซ้นส์ เอนเตอร์เทนเมนท์ จำกัด ผู้ผลิตคอนเทนต์บันเทิง ยอมรับว่า ปัจจุบันอุตสาหกรรมทีวีกำลังเผชิญกับอุปสรรคหลายด้าน และเม็ดเงินโฆษณาลดลงต่อเนื่อง ทำให้รายได้ของทีวีหายไปและส่งผลต่อเนื่องถึงผู้ผลิตคอนเทนต์ ทำให้มีบางรายต้องปิดตัวลงเงียบ ๆ หรือปรับโมเดลธุรกิจใหม่ สำหรับเซ้นส์ฯเองได้ปรับโมเดลธุรกิจให้มีความยืดหยุ่น ทั้งรับจ้างผลิต เช่าเวลาโฆษณาและแบ่งรายได้กับช่อง ปัจจุบันมี 8-9 รายการที่กำลังออกอากาศอยู่ใน 4-5 ช่อง และปี 2562 ก็จะเพิ่มอีก 2 รายการใหม่

ค่ายใหญ่ปรับโมเดลธุรกิจ

นางจำนรรค์ ศิริตัน ประธานกรรมการ บริษัท เจเอสแอล โกลบอล มีเดีย จำกัด ผู้ผลิตคอนเทนต์เกมโชว์ วาไรตี้ ละคร กล่าวว่า ปัจจุบันเม็ดเงินโฆษณาที่เป็นรายได้หลักของผู้ผลิตคอนเทนต์และช่องทีวีลดลง แต่ต้นทุนสูงขึ้น ผู้ผลิตบางรายตัดสินใจหยุดผลิตรายการลงเพราะขาดทุน ขณะที่เจเอสแอลฯได้ตัดสินใจเปลี่ยนโมเดลธุรกิจ ด้วยการหันมารับจ้างผลิตรายการแทนการเช่าเวลา เพื่อสร้างการเติบโตให้แก่บริษัทต่อ

นางสายทิพย์ มนตรีกุล ณ อยุธยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เช้นจ์ 2561 จำกัด แสดงความเห็นในเรื่องนี้ว่า ตอนนี้ตลาดเปลี่ยนเร็ว ผู้ผลิตคอนเทนต์ต้องเร่งปรับตัว ถ้ายังยึดติดอยู่กับโมเดลเดิม ๆ ก็จะอยู่ยาก อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าผู้ผลิตคอนเทนต์ยังมีโอกาสเติบโต สำหรับเช้นจ์ 2561 เอง พร้อมจะผลิตคอนเทนต์ป้อนให้ทุกแพลตฟอร์ม ปี 2562 เตรียมผลิตละคร 10 เรื่อง ป้อนให้ทีวี 4 ช่อง ได้แก่ พีพีทีวี ช่องวัน 31 จีเอ็มเอ็ม 25 และอมรินทร์ทีวี ส่วนออนไลน์ก็จะผลิตคอนเทนต์ให้ทั้งเน็ตฟลิกซ์ ไลน์ทีวี

เช่นเดียวกับ นายสยม สังวริบุตร กรรมการผู้จัดการ บริษัท ดีด้า วิดีโอ โปรดักชั่น จำกัด ผู้ผลิตละครโทรทัศน์ กล่าวว่า จากจำนวนช่องที่มากขึ้น ทำให้ผู้จัดละครหน้าใหม่เพิ่มขึ้น การแข่งขันสูงขึ้น แม้บริษัทจะอยู่มานานก็ต้องปรับตัวในหลายมิติ โดยเฉพาะระบบหลังบ้านที่ต้องยกเครื่องใหม่เพื่อลดต้นทุน รวมถึงต้องทำงานร่วมกับช่องมากขึ้น

ตัวเลขรายได้ลดต่อเนื่อง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการตรวจสอบข้อมูลผลการดำเนินงานของบริษัทผู้ผลิตคอนเทนต์ จากกรมพัฒนาธุรกิจการค้าพบว่า ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ส่วนใหญ่มีรายได้ที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง อาทิ บริษัท เจเอสแอล โกลบอล มีเดีย จำกัด ปี 2560 มีรายได้ลดลงเหลือ 424 ล้านบาท ขาดทุน 38.9 ล้านบาท จากปี 2559 ที่มีรายได้ 547 ล้านบาท กำไร 13.9 ล้านบาท จากปี 2558 ที่มีรายได้ 569 ล้านบาท ขาดทุน 25.5 ล้านบาท

ขณะที่บริษัท กันตนา กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ปี 2560 มีรายได้ 603 ล้านบาท ขาดทุน 95 ล้านบาท จากปี 2559 รายได้ 418.5 ล้านบาท ขาดทุน 113 ล้านบาท ปี 2558 รายได้ 745.7 ล้านบาท กำไร 39.6 ล้านบาท

เช่นเดียวกับกลุ่มบริษัทดาราวิดีโอ ผู้ผลิตคอนเทนต์รายใหญ่ของช่อง 7 ที่ประกอบด้วย บริษัท ดีด้า วิดีโอ โปรดักชั่น จำกัด ปี 2560 มีรายได้ 92.4 ล้านบาท ขาดทุน 24 ล้านบาท ปี 2559 รายได้ 104.8 ล้านบาท ขาดทุน 7 ล้านบาท ปี 2558 มีรายได้ 134 ล้านบาท ขาดทุน 2.6 ล้านบาท

ขณะที่บริษัท ดาราวิดีโอ จำกัด ปี 2560 รายได้ลดลงเหลือ 104.7 ล้านบาท ขาดทุน 11.8 ล้านบาท จากปี 2559 รายได้ 97 ล้านบาท ขาดทุน 11.2 ล้านบาท ปี 2558 รายได้ 104.8 ล้านบาท กำไร 2.7 ล้านบาท ยกเว้นบริษัท สามเศียร จำกัด ที่มีรายได้และผลประกอบการที่ดีต่อเนื่อง โดยปี 2560 มีรายได้ 228.7 ล้านบาท กำไร 21 ล้านบาท ปี 2559 รายได้ 211 ล้านบาท กำไร 19 ล้านบาท ปี 2558 รายได้ 230 ล้านบาท กำไร 17 ล้านบาท

บริษัท ทีวีบูรพา จำกัด ปี 2560 มีรายได้ 152.8 ล้านบาท กำไร 7.38 แสนบาท ปี 2559 รายได้ 125 ล้านบาท กำไร 1.1 ล้านบาท ปี 2558 รายได้ 145 ล้านบาท กำไร 4 ล้านบาท ปี 2560 มีรายได้ 53 ล้านบาท ขาดทุน 1.8 ล้านบาท ปี 2559 มีรายได้ 62 ล้านบาท กำไร 5.3 ล้านบาท ปี 2558 รายได้ 99.6 ล้านบาท กำไร 13 ล้านบาท

เช่นเดียวกับบริษัท ทริปเปิ้ล ทู จำกัด ปี 2560 มีรายได้ 232.5 ล้านบาท ขาดทุน 43 ล้านบาท ปี 2559 รายได้ 216 ล้านบาท กำไร 14.8 ล้านบาท ปี 2558 รายได้ 240 ล้านบาท กำไร 30 ล้านบาท

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลย พิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!