ค้าปลีกยุโรป ปาดเหงื่อ ติดหล่มวิกฤต ลุ้น “ซูเปอร์วีกเอนด์”

คอลัมน์ MARKET MOVE

ช่วงเดือนธันวาคมซึ่งมีเทศกาลสำคัญติด ๆ กันอย่าง คริสต์มาส-ปีใหม่ นับเป็นความหวังสำคัญของธุรกิจค้าปลีกที่จะสร้างยอดขายครั้งสุดท้ายของปี ด้วยเม็ดเงินจากบรรดานักช็อปที่จับจ่ายกับของขวัญ ของตกแต่งบ้าน อาหาร-เครื่องดื่มกันอย่างเต็มที่ ภายใต้แรงหนุนจากบรรยากาศเทศกาล

อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้ค้าปลีกในยุโรปการทำยอดขายเดือนธันวาคมปีนี้อาจไม่ราบรื่นเหมือนที่ผ่านมา เมื่อค้าปลีกออนไลน์รายใหญ่ของยุโรปออกมาประกาศหั่นคาดการณ์การเติบโตยอดขายปีนี้ลงจาก 25% เหลือ 15% เป็นครั้งแรก หลังจากเติบโตต่อเนื่องหลายปีตามกระแสอีคอมเมิร์ซ สะท้อนถึงความท้าทายในตลาดที่ไม่เพียงกระทบถึงค้าปลีกออฟไลน์ แต่ยังลามไปถึงออนไลน์แล้ว สร้างกระแสความกังวลทั้งในธุรกิจค้าปลีกและตลาดหุ้น จนหุ้นบริษัทค้าปลีกหลายรายราคาร่วง 4-43% ภายในวันเดียว

สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า ผู้ประกอบการค้าปลีกในยุโรปหลายรายออกมาแสดงความกังวลต่อทิศทางธุรกิจในช่วงเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม โดย “เอซอส” (asos) ค้าปลีกแฟชั่น-ความงามออนไลน์รายใหญ่ของยุโรป และมีธุรกิจใน 230 ประเทศ เป็นผู้ประกอบการรายล่าสุดที่ประกาศลดคาดการณ์การเติบโตของรายได้ปีนี้ ลงจาก 25% เหลือเพียง 15% หลังเติบโตต่อเนื่องมาหลายปี พร้อมลดเม็ดเงินลงทุนเหลือ 200 ล้านปอนด์ ด้วยเหตุผลว่าตลาดแข่งขันราคารุนแรง เศรษฐกิจย่ำแย่และความเชื่อมั่นของผู้บริโภคต่ำ โดยเฉพาะในอังกฤษที่ข้อตกลงเบร็กซิตยังไม่คืบหน้า สะท้อนถึงความร้ายแรงของสถานการณ์ในปีนี้

“นิก ไบรตัน” ซีอีโอของเอซอส อธิบายว่า ขณะนี้ตลาดยุโรปขาดปัจจัยบวกที่ชัดเจน ส่งผลให้ผู้บริโภคชะลอการจับจ่าย โดยเฉพาะในเยอรมนี และฝรั่งเศสที่มีการชุมนุมประท้วง จนกระแสจับจ่ายอ่อนแอเป็นพิเศษ ส่งผลให้ยอดขายเดือนพฤศจิกายนลดลงเยอะกว่าที่คาดไว้ และอาจต่อเนื่องในเดือนธันวาคม

“นี่ไม่ใช่ผลกระทบจากเบร็กซิตเพียงอย่างเดียวแน่นอน”

ในขณะที่ “ไมก์ แอชลีย์” ซีอีโอของสปอร์ตไดเร็ก อินเตอร์เนชั่นนอล เจ้าของเชนร้านสินค้ากีฬารายใหญ่ มีสาขากว่า 670 แห่งทั่วโลกระบุว่า ค้าปลีกเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมาย่ำแย่ผิดปกติ เช่นเดียวกับผู้บริหารของแบรนด์บอนมาชซึ่งกล่าวว่า สถานการณ์ตอนนี้แย่กว่าช่วงวิกฤตเศรษฐกิจเสียอีก

ด้านนักวิเคราะห์ต่างพยายามคาดการณ์สถานการณ์ช่วงโค้งท้าย โดยบทวิเคราะห์ของบลูมเบิร์กระบุว่า จากนี้ผู้ค้าปลีกออฟไลน์จะลำบากยิ่งขึ้น อาทิ มาร์กแอนด์สเปนเซอร์ และเดอเบินแฮม ที่อยู่ระหว่างปรับตัวรับยุคอีคอมเมิร์ซ หลังช่องทางออฟไลน์หดตัวต่อเนื่องจนบางราย เช่น เชนห้างสรรพสินค้าเฮาส์ออฟเฟรเซอร์ต้องทยอยปิดสาขาตลอดปีนี้ และต้องมาเจอกับปัญหาในช่องทางออนไลน์อีก

อย่างไรก็ตาม ปีนี้ยังมีโอกาสพิเศษให้บรรดาค้าปลีกออฟไลน์ได้เดิมพันครั้งสุดท้ายอยู่ นั่นคือ “ซูเปอร์วีกเอนด์” ตั้งแต่วันศุกร์ที่ 21 ธันวาคม หรือ “เฟนซี่ฟรายเดย์” และ “ซูเปอร์แซตเทอร์เดย์” ในวันเสาร์ที่ 22 ซึ่งคาดว่านักช็อปเมืองผู้ดีจะใช้จ่ายมากถึง 1.65 พันล้านปอนด์ เพื่อซื้อของขวัญในนาทีสุดท้ายก่อนถึงคริสต์มาสอีฟในวันจันทร์

โดยจะเป็นการช็อปเสื้อผ้า-รองเท้า 53% และอาหาร-เครื่องดื่มอีก 44% ที่เหลือเป็นน็อนฟู้ด ใกล้เคียงกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ทั้งนี้ ส่วนใหญ่จะเป็นการซื้อออฟไลน์ เนื่องจากสามารถมั่นใจได้ว่าจะได้รับของก่อนคริสต์มาสแน่นอน ทำให้คาดว่าร้านค้าต่าง ๆ จะมีผู้ใช้บริการมากขึ้นถึง 20% ตลอด 2 วัน

ด้วยเหตุนี้จึงต้องมารอดูกันว่า ค้าปลีกยุโรปจะงัดกลยุทธ์อะไรออกมากระตุ้นยอดช่วงโค้งท้ายของโค้งท้ายนี้กันบ้าง และจะสามารถสร้างยอดขายได้มากน้อยแค่ไหน

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลย พิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!