ตลาดแอร์อินเดีย โตกระฉูด ไดกิ้น ผุดโรงงานรับดีมานด์

คอลัมน์ MARKET MOVE

ตลาดแอร์ของอินเดียยังคงเติบโตรวดเร็วและต่อเนื่อง โดยบริษัทวิจัยยูโรมอนิเตอร์คาดว่าในปี 2566 ตลาดจะมียอดขายแอร์อย่างน้อย 7.47 ล้านเครื่อง เติบโตก้าวกระโดดถึง 70% จากปัจจุบัน สูงกว่าตลาดโลกที่โตเฉลี่ยเพียงปีละ 20% ถึง 3.5 เท่า ข้อมูลนี้กระตุ้นให้ตลาดคึกคักไปด้วยการทำตลาดและการลงทุนเพิ่มกำลังผลิตรับดีมานด์ในอนาคต

ล่าสุด “ไดกิ้น” ยักษ์เครื่องปรับอากาศสัญชาติญี่ปุ่น เตรียมลงทุนตั้งโรงงานผลิตแอร์แห่งที่ 3 ในอินเดีย หวังเพิ่มกำลังผลิตเป็น 2 เท่าจากปัจจุบัน และสร้างความได้เปรียบด้านต้นทุนจากอีโคโนมีออฟสเกล

สำนักข่าว “นิกเคอิ” รายงานว่า ไดกิ้นประกาศแผนลงทุน 1 หมื่นล้านเยน หรือประมาณ 88.4 ล้านเหรียญสหรัฐ ซื้อที่ดินบริเวณภาคตะวันตกหรือภาคใต้ สำหรับตั้งโรงงานผลิตแอร์แห่งที่ 3 หวังเพิ่มกำลังผลิตให้ได้ 2 ล้านเครื่องต่อปีภายในปี 2564 สอดรับกับเป้ายอดขาย 1 แสนล้านเยนหรือ 2 เท่าของปี 2560 ในปีเดียวกัน นับเป็นการลงทุนต่อเนื่องหลังปีที่แล้วตั้งโรงงานแห่งที่ 2 ในรัฐราชาสถานทางภาคเหนือไปแล้ว

การลงทุนต่อเนื่องนี้เป็นส่วนหนึ่งในแผนยึดตลาดอินเดียของยักษ์เครื่องปรับอากาศ ภายใต้การนำของซีอีโอ “คานวัณ จีท จาวา” ซึ่งใช้กลยุทธ์แบ่งตลาดออกเป็น 5 เขตตามสภาพอากาศ ความพร้อมด้านไฟฟ้าและอื่น ๆ

พร้อมเดินหน้าตั้งฐานผลิตในแต่ละเขตเพื่อสร้างแอร์ที่ตอบโจทย์เฉพาะพื้นที่และกำจัดต้นทุนจากภาษีนำเข้ามาตั้งแต่ปี 2553 ช่วยให้สามารถตั้งราคาขายถูกลงได้ถึง 20% เหลือเครื่องละประมาณ 3.2-3.8 หมื่นรูปีขึ้นกับขนาดบีทียู ลดช่องว่างมาแพงคู่แข่งสำคัญอย่าง “แอลจี” เพียง 10% และแพงกว่าแบรนด์ท้องถิ่นรายใหญ่ “โวลต้า” (Voltas) ประมาณ 30% จนครองอันดับ 1 ด้านยอดขายในปี 2558 ได้สำเร็จ

อย่างไรก็ตาม ตลาดแอร์แดนภารตยังมีความท้าทายรออยู่อีก “โยชิฮิโระ มิเนโนะ” เจ้าหน้าที่บริหารอาวุโสของไดกิ้น อธิบายว่า เมื่อตลาดขยายใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ นั้นมักมีความเสี่ยงที่ในระยะยาวผู้บริโภคจะเริ่มให้น้ำหนักกับปัจจัยราคามากขึ้นตามไปด้วย

ทั้งนี้ต้องจับตาดูว่า หลังจากนี้ผู้เล่นหลักอีก 2 รายคือ แอลจีและโวลต้า ซึ่งครองส่วนแบ่งตลาดรายละ 15-20% จะรับมือการขยายตัวของไดกิ้นอย่างไร

ในขณะที่คู่แข่งรายอื่น ๆ อาทิ แคเรีย, ฮิตาชิ, พานาโซนิค ซึ่งยังมีส่วนแบ่งไม่มากนัก จะสามารถตีตื้นขึ้นมาได้หรือไม่

 

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลย พิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!