อาเซียน ติดใจขนมปัง ญี่ปุ่นแห่ลงทุนโรงงาน…รับดีมานด์

คอลัมน์ MARKET MOVE

แม้ข้าวจะเป็นอาหารหลักของผู้คนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่ช่วงทศวรรษที่ผ่านมา การบริโภคขนมปังได้เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในหลายประเทศ โดยข้อมูลของบริษัทวิจัยยูโรมอนิเตอร์ระบุว่า ระหว่างปี 2553-2558 ตลาดขนมปังในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกเติบโตเฉลี่ย 5% ต่อปี โดยมีประเทศไทย, เวียดนาม และอินโดนีเซียเป็นผู้นำเทรนด์ สอดคล้องกับตัวเลขมูลค่าตลาดเฉพาะพื้นที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ซึ่งมีมูลค่าถึง 5 พันล้านเหรียญสหรัฐ นับว่าเติบโตสูงมากเมื่อเทียบกับตลาดยุโรปที่หดตัว 1.6% ในช่วงเวลาเดียวกัน

นอกจากนี้ตลาดยังมีโอกาสเติบโตอีกมาก เนื่องจากอัตราการบริโภคขนมปังของหลายประเทศยังอยู่ในระดับต่ำ อาทิ อินโดนีเซียซึ่งบริโภคขนมปังเฉลี่ย 4.6 กิโลกรัมต่อคนต่อปี คิดเป็นเพียง 1 ใน 5 ของชาวญี่ปุ่นเทรนด์นี้สร้างความคึกคักให้กับวงการธุรกิจอาหาร โดยดึงดูดให้บรรดาแบรนด์ขนมปังและผู้ผลิตแป้งจากแดนปลาดิบ อาทิ “ยามาซากิ” (Yamazaki) และ “นิสชิน เซฟุน กรุ๊ป” (Nisshin Seifun Group) ดาหน้าเข้ามาลงทุน ขณะที่แบรนด์ท้องถิ่นอย่าง “ซาลิม กรุ๊ป” (Salim Group) กลุ่มธุรกิจใหญ่ของอินโดนีเซียเจ้าของแบรนด์ขนมปัง “ส่าหรี โรตี” (Sari Roti) ต้องเร่งรับมือ

สำนักข่าว “นิกเคอิ เอเชีย รีวิว” รายงานถึงความเคลื่อนไหวคึกคักในตลาดขนมปังของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะอินโดนีเซีย ซึ่ง “ยามาซากิ” กำลังปะทะกับ “ซาลิม กรุ๊ป” เพื่อชิงฐานผู้บริโภค ในขณะที่ “นิสชิน เซฟุน” ซื้อกิจการผู้ผลิตแป้งในไทย

ทั้งนี้ ยามาซากิได้จับมือมิตซูบิชิ และเชนร้านสะดวกซื้ออัลฟามาร์ต (Alfamart) ตั้งบริษัทร่วมทุนเพื่อรุกตลาดอินโดนีเซียตั้งแต่ปี 2557 ปัจจุบันมีช่องทางขายรวม 5,600 ร้านค้า มากกว่าปีแรกถึง 3 เท่า และสร้างยอดขาย 13.2 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยมี “โชคุปัง” ขนมปังแผ่นสูตรนุ่มพิเศษเป็นหนึ่งในสินค้ายอดนิยมสร้างยอดขายถึง 1 ใน 4 ของยอดขายรวม ด้วยความนุ่มที่ถูกใจชาวอินโดฯ และกลยุทธ์ราคาต่ำกว่าคู่แข่งในตลาดถึง 50% หรือประมาณ 1.2 หมื่นรูเปียห์ รวมถึงลอนช์สินค้าใหม่ต่อเนื่อง

ด้านซาลิม กรุ๊ป แม้ปัจจุบันจะครองตำแหน่งผู้นำตลาดขนมปังของอินโดนีเซียมาอย่างยาวนาน หลังจากตั้งบริษัทร่วมทุนกับ “พาสโก ชิกิชิมะ” (Pasco Shikishima) และได้เทคโนโลยีการผลิตขนมปัง ซึ่งนำมาผลิตขนมปังแบรนด์ “ส่าหรี โรตี” วางขายในร้านสะดวกซื้อและร้านค้าอื่น ๆ ในเครือรวมกว่า 1.5 หมื่นสาขา มีส่วนแบ่ง 90% ของตลาด ยังต้องเริ่มปรับตัวรับมือการรุกตลาดของยามาซากิ

เริ่มตั้งแต่ดึงทีมซัพพอร์ตด้านการผลิตจากญี่ปุ่นมาประจำในอินโดนีเซียแบบฟูลไทม์ เพื่อเพิ่มความเร็วในการบริหารและพัฒนาสินค้า รวมถึงลอนช์ขนมปังแบบนุ่มพิเศษของตนเองวางขายในราคา 1.8 หมื่นรูเปียห์ โดยผู้บริหารของทั้ง 2 บริษัทต่างมีความเห็นในทางเดียวกันว่า คุณภาพสินค้าจะเป็นกุญแจสำคัญของการแข่งขันในตลาดที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็วนี้

“อัตราการบริโภคขนมปังมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นตามระดับรายได้” ริวโซ ทาโดโคโระ ผู้จัดการฝ่ายปฏิบัติการ ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของยามาซากิให้ความเห็น

นอกจากอินโดนีเซียแล้ว บริษัทญี่ปุ่นเล็งรุกตลาดอื่น ๆ ด้วยเช่นกัน อาทิ ฟิลิปปินส์ซึ่งมีวัฒนธรรมการกินขนมปังเข้มแข็งกว่าประเทศอื่น โดย “โซจิส” บริษัทเทรดดิ้งสัญชาติญี่ปุ่นจับมือกับ “เรียวยุ” (Ryoyu) ผู้ผลิตขนมปังจากภาคตะวันตกของญี่ปุ่น เพื่อรุกตลาดในปี 2562 นี้ ด้วยการตั้งโรงงานใกล้กรุงมะนิลา ผลิตขนมปังส่งให้ซูเปอร์มาร์เก็ตและร้านสะดวกซื้อทั่วประเทศ

ขณะเดียวกัน “นิสชิน เซฟุน” ซื้อกิจการผู้ผลิตแป้งในไทยเมื่อเดือน มี.ค.ปีที่แล้ว เพื่อเพิ่มกำลังผลิตในภูมิภาคนี้เป็น 2 เท่า หวังรับดีมานด์แป้งที่สูงขึ้น

ตามความนิยมขนมปัง เช่นเดียวกับบริษัทเทรดดิ้ง “มิตซุยแอนด์โค” ซึ่งซื้อหุ้นในบริษัทนำเข้าธัญพืชและผลิตแป้งในสิงคโปร์

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลย พิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!