เบียร์หดตัว 3 ปีรวด “มิลเลียนเนียล” ปันใจหันดื่มไวน์-เหล้า

คอลัมน์ Market Move

เบียร์ถือเป็นเครื่องดื่มยอดนิยมอันดับต้น ๆ ของผู้คนทั่วโลก โดยครองตำแหน่งเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่มีผู้บริโภคมากที่สุด ควบกับการเป็นเครื่องดื่มยอดนิยมอันดับ 3 รองจากน้ำเปล่าและชา ทำให้มีผู้ผลิตเบียร์น้อย-ใหญ่กระจายอยู่ทั่วโลก แต่ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ปริมาณการผลิตเบียร์กลับลดลงต่อเนื่อง โดยเฉพาะในตลาดหลักอย่างจีน อเมริกา และบราซิล ซึ่งบริโภคเบียร์รวมกันถึง 40% ของโลก

ล่าสุด “อาซาฮี” ผู้ผลิตเบียร์สัญชาติญี่ปุ่นได้เปิดเผยว่า ในปี 2559 ที่ผ่านมา บริมาณการผลิตรวมทั่วโลกลดลงอีก 0.6% จากปีก่อนหน้าเหลือ 190.9 ล้านกิโลลิตร เท่ากับปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 เป็นผลจากดีมานด์ในจีน อเมริกา และบราซิลลดลงในสัดส่วน 3.7%, 0.7% และ 13.3% ตามลำดับ

แม้จะมีการเติบโต 11.2% ในเวียดนาม และ 8.1% ในเม็กซิโก แต่ก็ยังไม่สามารถถ่วงดุลกันได้

โดยเฉพาะในจีน ซึ่งตลาดเริ่มอิ่มตัวหลังดีมานด์พุ่งสูงมานานกว่า 15 ปี ร่วมกับสภาพอากาศที่ไม่เอื้ออำนวยช่วงหน้าร้อนที่เป็นไฮซีซั่น ทำให้ดีมานด์ลดตามไปด้วย จนมีการผลิตเบียร์เพียง 41.4 ล้านกิโลลิตรเท่านั้น ส่งผลให้รายได้ของ “ชิงเต่า บริวเวอร์รี่” (Tsingtao Brewery) หายไปถึง 39% เหลือเพียง 160 ล้านเหรียญสหรัฐ เช่นเดียวกับ “ไชน่า รีซอส เบียร์” (China Resources Beer) ที่หดตัว 6% เหลือ 94.2 ล้านเหรียญสหรัฐ

สอดคล้องกับรายงานของบริษัทวิจัยไอดับเบิลยูเอสอาร์ (IWSR) ที่ระบุว่า สภาพเศรษฐกิจฝืดในหลายประเทศ อาทิ จีน บราซิล และรัสเซีย ช่วงปี 2559 ทำให้ตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โลกหดตัว 1.6% และเหตุผลหลักมาจากยอดขายเบียร์ลดลง 1.8% เช่นเดียวกับไซเดอร์ ซึ่งลดลง 1.5% หลังเติบโตต่อเนื่องหลายปี ในขณะที่ยอดขายไวน์ทรงตัว

นอกจากนี้ พฤติกรรมของผู้บริโภครุ่นใหม่ หรือกลุ่มมิลเลียนเนียล ที่ดื่มน้อยลง อีกทั้งยังนิยมดื่มไวน์และเหล้ามากกว่า โดยจากข้อมูลของบริษัทวิจัยนีลเส็นชี้ว่า ความนิยมเบียร์ในสหรัฐลดลง 1% ช่วงครึ่งแรกของปี 2560 และสูญเสียส่วนแบ่งตลาดให้ไวน์และเหล้าไปแล้ว 10% ตลอด 10 ปีที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม ในส่วนอื่น ๆ ของเอเชีย-แปซิฟิกนั้น ดีมานด์เบียร์เริ่มเพิ่มขึ้นอย่างช้า ๆ จากเทรนด์คราฟต์เบียร์ ซึ่งเป็นที่นิยมของผู้บริโภครุ่นใหม่ รวมถึงไลท์เบียร์ หรือเบียร์แอลกอฮอล์และแคลอรีต่ำ ตอบโจทย์นักดื่มเพศหญิงที่เพิ่มจำนวนมากขึ้น โดยนอกจากการเติบโตสูงถึง 224.6% ในเวียดนาม ตลอดช่วงทศวรรษที่ผ่านมา จนมียอดผลิตแตะ 4 ล้านกิโลลิตร และขยับจากประเทศผู้ผลิตเบียร์อันดับ 24 เป็นอันดับ 9 แล้ว ฟิลิปปินส์ยังเติบโต 5.8% ในปี 2558 เป็น 1.5 ล้านกิโลลิตร ตามการเติบโตของเศรษฐกิจในประเทศ ตามด้วยอินเดีย เติบโต 4.2% อยู่ที่ 2.1 ล้านกิโลลิตร

ส่วนไทยเองแม้จะเติบโตน้อยด้วยสัดส่วนเพียง 2% เมื่อเทียบกับปี 2558 แต่มีการผลิตสูงถึง 2.2 ล้านกิโลลิตร

หลังจากนี้ต้องรอดูกันว่า ช่วง 4 เดือนสุดท้ายซึ่งเต็มไปด้วยเทศกาลระดับนานาชาติ จะสามารถกระตุ้นการบริโภคเบียร์ให้เพิ่มขึ้นได้หรือไม่