ช่องทีวีโสมขาวเดือด รายใหญ่แท็คทีมสกัด Netflix

คอลัมน์ Market Move

เกาหลีใต้เป็นอีกหนึ่งประเทศที่กำลังได้รับผลกระทบจากปรากฏการณ์ “คอดคัตเตอร์” หรือการที่ผู้บริโภครุ่นใหม่เลิกรับชมช่องเคเบิล-ฟรีทีวี แล้วหันไปใช้บริการสตรีมมิ่งหรือ “โอเวอร์เดอะท็อป” (over the top-OTT) ผ่านสมาร์ทโฟนหรือสมาร์ททีวีแทน โดยจำนวนผู้ชมที่ลดลงนี้ส่งผลกระทบต่อค่าโฆษณาซึ่งเป็นรายได้หลักของสถานีโทรทัศน์ บีบให้ผู้ประกอบการในหลายประเทศต้องเร่งปรับตัว ไม่ว่าจะเป็นเปิดบริการสตรีมมิ่งของตนเอง หรือสรรหาคอนเทนต์ใหม่ ๆ มาดึงดูดลูกค้าไว้

สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า ผู้ประกอบการสถานีโทรทัศน์รายใหญ่ในเกาหลีใต้ 3 ราย คือ เคบีเอส (KBS), เอ็มบีซี (MBC) และเอสบีเอส (SBS) ได้ผนึกกำลังกับ “เอสเค เทเลคอม” (SKTelecom) ผู้ให้บริการเครือข่ายสื่อสารในเครือแชโบลเอสเคเซ็นสัญญาตั้งบริษัทร่วมทุน เพื่อปั้นบริการสตรีมมิ่งขึ้นมาแข่งขันกับ “เน็ตฟลิกซ์” (Netflix) ยักษ์สตรีมมิ่งสัญชาติสหรัฐที่รุกทำตลาดในโสมขาวอย่างเข้มข้นตลอด 2 ปีที่ผ่านมา ด้วย

ไลน์อัพภาพยนตร์อินเตอร์และคอนเทนต์จากผู้ผลิตเกาหลีเอง จนสามารถสร้างฐานสมาชิกไปได้เกือบล้านบัญชีในความร่วมมือนี้จะมีความร่วมมือในหลายระดับ ตั้งแต่การควบรวมบริการสตรีมมิ่งอันดับ 1 ของประเทศ “Oksusu” ภายใต้การบริหารของเอสเค เทเลคอมซึ่งเด่นด้านภาพยนตร์เข้ากับ “Pooq” ที่บริหารโดย 3 สถานีโทรทัศน์ และมีจุดเด่นเป็นไลน์อัพรายการจากช่องทีวีกว่า 70 ช่องและละครยุค 1990-2000 รวมถึงเม็ดเงินลงทุน 2 แสนล้านวอนหรือประมาณ 177.9 ล้านเหรียญสหรัฐ และโอกาสเข้าถึงแหล่งเงินทุนของแชโบลเอสเคเพื่อนำมาต่อยอดผลิตออริจินอลคอนเทนต์

โดยนอกจากการแชร์คอนเทนต์และการลงทุนแล้ว เป็นไปได้สูงว่าบริษัทร่วมทุนนี้จะแชร์คอนเทนต์จากต่างประเทศ ซึ่งก่อนหน้านี้ Pooq ได้เดินสายจับมือพันธมิตรในโซนเอเชีย-เอเชียตะวันออกเฉียงใต้หลายประเทศ อาทิ Viu ของฮ่องกง iflix ของมาเลเซีย และ iQiyi ในจีน เช่นเดียวกับสิทธิ์เปิดให้บริการในโซนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

“ปาร์ก จุง โฮ” ซีอีโอของเอสเคเทเลคอม กล่าวว่า อาจได้เห็นบริการสตรีมมิ่งจากบริษัทร่วมทุนใหม่นี้เข้าทำตลาดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ช่วงเดือน มิ.ย. 2562 นี้

ทั้งนี้ แม้ปัจจุบันบริการสตรีมมิ่งสัญชาติเกาหลีจะมีฐานสมาชิกมากกว่าเน็ตฟลิกซ์ โดย “Oksusu” มีสมาชิกกว่า 9.46 ล้านบัญชี และ “Pooq” มีฐานสมาชิก 3.7 ล้านบัญชี ส่วนเน็ตฟลิกซ์มีสมาชิก 9 แสนบัญชีเท่านั้น แต่ด้านจำนวนผู้ใช้จริงนั้น สตรีมมิ่ง “Oksusu” มีเพียงประมาณ 2 ใน 3 ของฐานสมาชิก หรือประมาณ 6 ล้านบัญชีเท่านั้น อีกทั้งออริจินอลคอนเทนต์ก็ไม่ประสบความสำเร็จมากนัก ตรงข้ามกับเน็ตฟลิกซ์ที่ประสบความสำเร็จในการหาพันธมิตรท้องถิ่น ทั้งกลุ่มโครงข่ายสื่อสารและดารา-นักแสดง รวมถึงผู้ผลิต เพื่อผลิตออริจินอลคอนเทนต์และขยายการเข้าถึงบริการของตนด้วยการชูโอกาสแสดงผลงานต่อผู้ชม 125 ล้านบัญชีใน 190 ประเทศทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็น “แอลจี จียู พลัส” (LG GU+) เครือข่ายมือถือ-ไอพีทีวีในเครือแชโบลแอลจี เพื่อใส่เซอร์วิสเน็ตฟลิกซ์ในเซตท็อปบอกซ์ เริ่มให้บริการเมื่อ 16 พ.ย.ที่ผ่านมา ด้านคอนเทนต์ผ่านมาเริ่มมีผลงานที่ได้รับการยอมรับระดับโลกออกมา เช่น ภาพยนตร์ “โอกจา” (Okja) ของ

ผู้กำกับบอง จุน-โฮ และปี 2562 นี้จะมีภาพยนตร์ซีรีส์ “คิงดอม” (Kingdom) ออกฉาย”การร่วมมือกับเน็ตฟลิกซ์เป็นช่องทางที่ดารา-นักแสดง รวมถึงผู้ผลิตท้องถิ่นจะได้โชว์ผลงานในตลาดโลก เพื่อสร้างชื่อเสียงและรายได้ รวมถึงอาจได้ก้าวกระโดดเป็นซูเปอร์สตาร์ระดับอินเตอร์อย่างรวดเร็ว” คิม ซอง-โชว ศาสตราจารย์ด้านสื่อจากมหาวิทยาลัยเกาหลีให้ความเห็น ต้องรอดูกันว่าหลังจากนี้การแข่งขันชิงฐานผู้ชมระหว่างสตรีมมิ่งเกาหลีและเน็ตฟลิกซ์จะดำเนินไปในทิศทางใด และจะมีกลยุทธ์ใหม่ออกมาอีกหรือไม่ รวมถึงสุดท้ายแล้วใครจะได้ครองตำแหน่งเจ้าตลาดกันแน่

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลย พิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!