สายเปย์ เพย์ทีวี ทรูวิชั่นส์ฯ…เปย์ทุกคอนเทนต์

รับศึกรอบด้านในช่วงหลายปีที่ผ่านมาสำหรับธุรกิจโทรทัศน์บอกรับสมาชิก (เพย์ทีวี) ที่ต้องเผชิญกับพฤติกรรมคนดูที่เปลี่ยน จากการขยายตัวของเทคโนโลยี ผู้ชมเลือกชมคอนเทนต์ได้จากทุกทิศทุกทางจากสื่อดิจิทัล ทำให้คู่แข่งของธุรกิจนี้ไม่ได้จำกัดอยู่ในแค่เพย์ทีวีด้วยกันอีกแล้ว แต่หมายถึงผู้ให้บริการ Over-the-Top (OTT) หรือบริการสื่อสาร แพร่ภาพและเสียงผ่านอินเทอร์เน็ต แนวรบของธุรกิจเพย์ทีวีก็ต้องเปลี่ยนตามไปด้วย

“อรรถพล ณ บางช้าง” รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายรายการ บริษัท ทรูวิชั่นส์ กรุ๊ป จำกัด กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า สิ่งที่จะทำให้เพย์ทีวีอยู่ได้ คือ คอนเทนต์ หรือรายการ ซึ่งคอนเทนต์ที่มีก็ต้องแตกต่าง ต้องครบในทุกเซ็กเมนต์ที่ผู้ชมอยากดู และต้องทำให้คนอยากจะดูคอนเทนต์บนจอใหญ่ด้วย ซึ่งเพย์ทีวีของทรูวิชั่นส์ฯก็ขายความครบด้วยคอนเทนต์ที่หลากหลาย ทั้งกีฬา บันเทิง ภาพยนตร์ สารคดี

คอนเทนต์ถือเป็นเส้นเลือดใหญ่ของธุรกิจเพย์ทีวี ซึ่งคอนเทนต์ที่มีก็ต้องแตกต่าง โดดเด่น เพื่อให้ผู้ชมรู้สึกคุ้มค่าและยอมจ่าย ตอนนี้ทรูวิชั่นส์ฯขายความครบ เรียกว่าครบที่สุด และเพิ่มประสบการณ์ เพิ่มอรรถรสในการดูทีวีด้วยช่องความคมชัดสูง (HD) ถึง 65 ช่อง

นอกจากนี้ยังมีบริการเสริม “ทรูเอนิแวร์” แอปพลิเคชั่นรับชมเพย์ทีวีแบบทุกที่ทุกเวลา รองรับพฤติกรรมคนรุ่นใหม่ด้วย

ขณะเดียวกัน บริษัทก็เร่งพัฒนาแพลตฟอร์ม OTT ภายใต้ชื่อ “ทรูไอดี” อยู่ระหว่างทดลองระบบ คาดว่าจะเปิดตัวอย่างเป็นทางการเร็ว ๆ นี้ เพื่อตอบโจทย์พฤติกรรมคนรุ่นใหม่ โดยทรูไอดีมีคอนเทนต์ที่หลากหลาย ทั้งกีฬา ภาพยนตร์ ชูจุดขายด้วยหนังใหม่กว่าผู้ประกอบการ OTT รายอื่น ๆ หรือเมื่อหนังออกจากโรงภาพยนตร์เพียง 3 เดือน ก็จะมาอยู่กับทรูไอดีทันที

อีกจุดเด่นคือ การผลิตโลคอลคอนเทนต์เอง ซึ่งเป็นการสร้างความแตกต่างและตอบโจทย์คนดูไทยที่ยังให้ความสำคัญกับโลคอลคอนเทนต์

การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ทำให้บริษัทต้องจัดการคอนเทนต์ใหม่ โดยวางคอนเทนต์ให้ถูกจริตผู้ชมในแต่ละช่องทาง ซึ่งปัจจุบันถือว่ามีบริษัทก็มีบริการที่ครอบคลุมในทุกแพลตฟอร์ม ทั้งฟรีทีวี (ทรูโฟร์ยู) เพย์ทีวี (ทรูวิชั่นส์ฯ) และ OTT (ทรูไอดี)

“ข้อได้เปรียบของทรูฯคือ มีบริการทุกแพลตฟอร์ม ซึ่งกำลังจัดการคอนเทนต์ให้ตรงกับกลุ่มคนดู เพราะคนดูเพย์ทีวีก็เป็นอีกแบบหนึ่ง คนดู OTT ก็ดูคอนเทนต์อีกแบบ เราต้องปรับให้เข้ากับคนดูในแต่ละแพลตฟอร์ม สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นคือ การพัฒนา ทรูไอดีขึ้น และถือเป็นความท้าทายใหม่ เพราะเราก็ไม่รู้ว่าจะประสบความสำเร็จหรือจะเติบโตได้มากแค่ไหน แต่เมื่อ OTT กำลังเป็นเทรนด์ที่กำลังเกิดขึ้น เราก็ต้องทำ”

ขณะที่การจัดการคอนเทนต์ให้ตอบโจทย์ผู้ชมนั้น “อรรถพล” ยกตัวอย่างว่า ถ้าผลิตละคร 1 เรื่อง ก็จะพิจารณาว่าเหมาะสมกับแพลตฟอร์มไหน เช่น ถ้านำไปออกอากาศเพย์ทีวี เนื้อหาอาจจะยาวหน่อย ถ้าอยู่ OTT อาจจะมีความยาวแค่ 15 นาที เพราะพฤติกรรมคนดูวันนี้หลากหลายขึ้นตามเทคโนโลยีการสื่อสาร

“อรรถพล” บอกว่า พฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป ไม่ใช่เฉพาะคนไทยเท่านั้น แต่เป็นเทรนด์ที่กำลังเกิดขึ้นทั่วโลก เพราะมีคอนเทนต์ฟรีเกิดขึ้นจำนวนมากจากทุกทิศทุกทาง ทั้งทีวีดิจิทัล โซเชียลมีเดีย

วันนี้ผู้ชมสามารถเลือกดูทีวีย้อนหลังได้ ผ่านเว็บไซต์ต่าง ๆ บนสื่อดิจิทัล เรียกว่าอยากดูเวลาไหน คอนเทนต์อะไรก็ได้ ด้วยพฤติกรรมคนเปลี่ยนเร็ว คู่แข่งรายสำคัญของเพย์ทีวีจึงไม่ได้มีแค่เพย์ทีวีด้วยกันอีกแล้ว แต่รวมถึงคู่แข่งขันรายใหม่ อย่างธุรกิจ OTT กำลังกลายเป็นความท้าทายของอุตสาหกรรมสื่อทั่วโลก แม้ว่าตอนนี้ผู้ประกอบการ OTT ยักษ์ใหญ่ทั่วโลกยังไม่สามารถสร้างกำไรให้แก่ธุรกิจได้ก็ตาม แต่ OTT กำลังเป็นเทรนด์ที่ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ทั่วโลก โดยเฉพาะคนเจเนอเรชั่นใหม่ ๆ ที่เลือกดูคอนเทนต์จากความสนใจ จนเกิดเป็นพฤติกรรมใหม่ ที่เรียกว่า multiplex subscription หมายถึงผู้ชมเจเนอเรชั่นใหม่ นิยมสมัครสมาชิก OTT มากกว่า 1 ราย

เพราะคอนเทนต์ของผู้ประกอบการ OTT เพียงรายเดียวไม่สามารถตอบโจทย์ความต้องการของผู้ชมได้ครบ ยกตัวอย่างเช่น OTT รายใหญ่ ผลิตคอนเทนต์ 1 เรื่อง รวม 10 ตอน ซึ่งผู้ชมดูแค่ 5 วันก็จบแล้ว ทำให้แนวโน้มที่เกิดขึ้นทั่วโลกคือผู้ชมสมัคร OTT หลายรายพร้อม ๆ กัน เพราะเมื่อรวมกันแล้วก็ยังถูกกว่าการสมัครเป็นสมาชิกเพย์ทีวี 1 ราย

โจทย์ของเพย์ทีวีจึงยากขึ้นเป็นเท่าตัว ว่าจะทำให้คนจ่ายเงินเพื่อรับชมเพย์ทีวีได้อย่างไร

เป็นการบ้านที่เพย์ทีวีต้องตีให้แตก จึงไม่แปลกถ้าเพย์ทีวีจะต้องขายความครบ และหนึ่งในคอนเทนต์แม่เหล็กที่เพย์ทีวีต้องมี คือ กีฬา ซึ่งผู้ประกอบการ OTT ยังไม่มี เพราะต้นทุนสูง

เท่ากับว่า หนึ่งในกลยุทธ์หลัก ถือเป็นหัวใจสำคัญที่ทำให้เพย์ทีวี อย่างทรูวิชั่นส์ฯ ยังเดินหน้าต่อไปได้ คือ คอนเทนต์

แต่โจทย์ยากกว่า คือ จะบริหารจัดการคอนเทนต์อย่างไรให้ตอบโจทย์ผู้ชม