“เลิฟอีส” ใต้ร่มเงาบ้านใหม่ เมื่อดนตรี…ต้องโตไปพร้อมธุรกิจ

เจ็บหนักเช่นกันสำหรับธุรกิจเพลง หลังถูกดิสรัปชั่นจากการเติบโตของเทคโนโลยี จนทำให้ค่ายเพลงเล็ก ใหญ่ เกือบเอาตัวไม่รอด เพราะรายได้หลักจากการจำหน่ายแผ่นซีดี ดีวีดี หายไปอย่างรวดเร็ว

ค่ายเพลงฝีมือดีอย่าง “เลิฟอีส” ที่มีคอนเทนต์ดี โดนใจผู้ฟังก็ต้องเผชิญกับชะตากรรมเดียวกับผู้ร่วมอุตสาหกรรม จนเกือบถอดใจ ก่อนตัดสินใจดึงมืออาชีพเข้ามาร่วมบริหาร เพื่อปลุกเลิฟอีสให้เติบโตอีกครั้ง

“เทพอาจ กวินอนันต์” ประธานบริหารกลุ่ม บริษัท เลิฟอีส เอ็นเตอร์เทนเมนต์ จำกัด กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ถึงเบื้องหลังการเข้ามานั่งเก้าอี้บริหาร “เลิฟอีส” ว่า เริ่มจากการเป็นแฟนเพลงของค่ายนี้ตั้งแต่วัยรุ่น หลังจากนั้นก็ค่อย ๆ ขยับมาเป็นสปอนเซอร์ประจำในงานคอนเสิร์ตของค่าย

เพราะมีธุรกิจส่วนตัวอยู่ นั่นคือ บริษัท บริวเบอรี่ จำกัด ผู้นำเข้าและจัดจำหน่ายเบียร์ชั้นนำจากต่างประเทศ เช่น สเตล่า อาร์ทัวร์ (Stella Artois) ฮูการ์เด้น (Hoegaarden) บอดดิงตันส์ (Boddingtons) เลฟ บราวน์ Leffe Brune เป็นต้น และยังมีบริษัทในเครือรอยัล เกทเวย์ เจ้าของร้าน HOBS (House of Beers)

หลังจากเป็นสปอนเซอร์อยู่หลายโปรเจ็กต์ก็เริ่มสนิทสนมกับคนในค่ายเสมือนคนในครอบครัว และเริ่มขยับสู่การเป็นพาร์ตเนอร์ด้วยการเจรจาทางธุรกิจและตัดสินใจเข้ามาถือหุ้น เลิฟอีส อย่างเป็นทางการเมื่อต้นปี 2561

“พี่บอย (บอย โกสิยพงษ์) บอกว่า เหนื่อยและไม่อยากทำต่อ เนื่องจากไม่ชอบทำธุรกิจ หลังจากนั้นจึงเริ่มคุยกัน ซึ่งก็คุยกันอยู่นานประมาณ 2-3 ปี ก่อนตัดสินใจเข้ามาถือหุ้นคนละครึ่งกับพี่บอย ซึ่งตอนนี้พี่บอยก็ยังดูแลคอนเทนต์ต่อ ส่วนผมดูแลเรื่องการบริหาร การหารายได้”

ขณะเดียวกัน ก็ยังนั่งเป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหารของธุรกิจนำเข้าและจัดจำหน่ายแอลกอฮอลล์ รวมถึงร้าน HOBS อยู่ แต่มีทีมงานมืออาชีพดูแลอยู่ ทำให้มีเวลาเข้ามาดูแลเลิฟอีสมากขึ้น พร้อมกับวางเป้าหมายว่าจะสร้างการเติบโตให้แก่ เลิฟอีส ต่อ”

“เทพอาจ” เล่าต่อว่า แนวคิดการขยายธุรกิจแอลกอฮอลล์ซึ่งเป็นธุรกิจส่วนตัวกับ “เลิฟอีส” ก็เหมือนกัน คือ ต้องมีจุดแข็งของตัวและขยายไปในที่มีเราพร้อม เพื่อสร้างความแข็งแรงให้แก่ธุรกิจที่ทำ ดังนั้น หลังจากเข้ามาบริหารก็เปลี่ยนชื่อจาก “เลิฟอีส” เป็น “เลิฟอีส เอ็นเตอร์เทนเมนต์” แต่ยังย้ำจุดแข็งของเลิฟอีส คือ เพลง แต่จะต่อยอดเพลงไปสู่ธุรกิจอื่น ๆ มากขึ้น เพื่อสร้างรายได้และการเติบโตให้แก่บริษัท

ยกตัวอย่างเช่น การทำรายการบนแพลตฟอร์มต่าง ๆ ทั้งสื่อออนไลน์และทีวี โดยปีนี้จะเริ่มทำรายการบนช่องทางออนไลน์ อย่างยูทูบก่อน หลังจากนั้นจะค่อย ๆ ขยับไปทำรายการทีวีเพิ่มด้วย

“หัวใจของเลิฟอีส คือ เพลง แต่จะแตกแขนงออกไปทำธุรกิจอื่น ๆ มากขึ้น เรียกว่าจะทำธุรกิจเพลงให้เป็นมากกว่าเพลง โดยมีเพลงเป็นองค์ประกอบหลักในการทำธุรกิจ รวมถึงการทำให้เพลงของเลิฟอีสเข้าไปหาผู้ฟังมากขึ้นด้วย”

เริ่มจากโปรเจ็กต์แรก คือ การเข้าบริหารพื้นที่โรงภาพยนตร์ ลิโด ซึ่งร่วมกับทรัพย์สินจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เริ่มปรับปรุงโรงภาพยนตร์เก่าให้มีพื้นที่การใช้งานที่หลากหลายมากขึ้น เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้แก่คนรุ่นใหม่ เช่น พื้นที่ของคนรักดนตรี การจัดอีเวนต์ จัดนิทรรศการ หรือกิจกรรมหมุนเวียนต่าง ๆ เป็นต้น ภายใต้แนวคิด “Back to Original” คาดว่าจะแล้วเสร็จและเปิดให้บริการได้เดือนพฤษภาคม 2562

“โปรเจ็กต์นี้จะรีโนเวตพื้นที่ในอาคารเก่า เพื่อให้มีพื้นที่สำหรับการทำกิจกรรมใหม่ ๆ มากขึ้น ขณะเดียวกัน ก็ยังเป็นพื้นที่สาธารณะสำหรับจัดกิจกรรมของคนรุ่นใหม่ด้วย ซึ่งโปรเจ็กต์นี้ก็เป็นเสมือนเรือธงสู่การขยับเป็นธุรกิจเพื่อสังคมด้วย”

ทั้งหมด คือ ทิศทางที่ เลิฟอีส กำลังเดินในปี 2562 นี้ ถือเป็นโจทย์ใหญ่สุดท้าทายในการปลุก เลิฟอีส ให้แข็งแกร่งมากขึ้น

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลย พิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!