ดิ้นรับเส้นตาย “เบร็กซิต” ธุรกิจแห่ย้ายสำนักงาน-ตุนสินค้า

คอลัมน์ Market Move

เมื่อเส้นตายที่อังกฤษจะต้องถอนตัวออกจากสหภาพยุโรป หรือเบร็กซิต ในเดือน มี.ค.ใกล้เข้า พร้อมกับเค้าลางที่ส่อว่าอังกฤษอาจต้องถอนตัวโดยไม่มีข้อต่อรองใด ๆ ทำให้ภาคเอกชนทั้งต่างชาติและบริษัทสัญชาติอังกฤษต่างตื่นตัวเคลื่อนไหวกันคึกคัก เพื่อรับมือกับความท้าทายที่คาดว่าจะตามมา ไม่ว่าจะเป็นการขาดแคลนแรงงานจากยุโรป ต้นทุนสินค้าที่จะพุ่งขึ้นตามกำแพงภาษีนำเข้า-ส่งออก ไปจนถึงอัตราภาษีรายได้นิติบุคคลที่เปลี่ยนแปลงไป

ล่าสุด สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า “โซนี่” ยักษ์อิเล็กทรอนิกส์สัญชาติญี่ปุ่น เป็นกิจการใหญ่รายล่าสุดที่ประกาศย้ายสำนักงานใหญ่ประจำภาคพื้นยุโรปออกจากประเทศอังกฤษ ไปยังประเทศเนเธอร์แลนด์แทน หวังหลบความวุ่นวายทาง กม. และธุรกิจที่อาจเกิดขึ้น และเลี่ยงความซับซ้อนด้านนำเข้า-ส่งออกสินค้า

โดยจะทำการเปลี่ยนข้อมูลจดทะเบียน “สำนักงานใหญ่ประจำภาคพื้นยุโรป” จากบริษัทในประเทศอังกฤษ ไปยังบริษัทย่อยแห่งใหม่ในกรุงอัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์แทน ซึ่งจะทำให้บริษัทยังมีสถานะเป็นบริษัทในยุโรปและสามารถรักษาสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ เช่น การนำเข้า-ส่งออก ตาม กม.ของสหภาพยุโรปต่อไปได้

“ทาคาชิ อีดะ” โฆษกของบริษัทอธิบายว่า กระบวนการนี้เป็นการเปลี่ยนแปลงทางกฎหมายเท่านั้น ไม่มีการย้ายพนักงานหรือธุรกิจออกจากประเทศอังกฤษแต่อย่างใด

ก่อนหน้านี้ “พานาโซนิค” ยักษ์อุตสาหกรรมสัญชาติญี่ปุ่น ได้ประกาศย้ายสำนักงานใหญ่มาที่กรุงอัมสเตอร์ดัมเช่นเดียวกัน โดยมีผลเมื่อเดือน ต.ค. 2561 ที่ผ่านมา ขณะเดียวกันยังมีบริษัทสัญชาติญี่ปุ่นรายอื่น ๆ จ่อย้ายสำนักงานใหญ่ออกจากอังกฤษ

เช่นเดียวกัน โดยเฉพาะกลุ่มการเงิน อาทิ “โนมูระโฮลดิ้ง” และ “ซูมิโมโตะ มิตซุย ไฟแนนเชียลกรุ๊ป” ในขณะที่กลุ่มยานยนต์นั้น “ฮอนด้า” วางแผนประกาศวันหยุดพิเศษ 6 วัน ในเดือน เม.ย. เพื่อรับมือปัญหาด้านโลจิสติกส์และการข้ามแดนที่อาจเกิดขึ้น ส่วน “โตโยต้า” อาจหยุดการผลิตในโรงงานที่อังกฤษชั่วคราว

นอกจากนี้ บริษัทสัญชาติอังกฤษ ไม่ว่าจะเป็นเชนค้าปลีก “เทสโก้” และ “มาร์คแอนด์สเปนเซอร์” ต่างเริ่มสำรองสินค้าของชำหลายรายการ โดยเฉพาะกลุ่มอาหาร ซึ่งปัจจุบันอาหารสดที่บริโภคใน 50% นำเข้าจากอียู หวังป้องกันการขาดแคลนจากความล่าช้าของกระบวนการนำเข้าหลังเบร็กซิต

“เดฟ ลูอิส” ซีอีโอของเทสโก้ กล่าวว่า ขณะนี้กำลังเร่งเดินสายเจรจากับซัพพลายเออร์ เพื่อขอเพิ่มสัดส่วนนำเข้าสินค้าเป็นพิเศษในช่วง 3 เดือนก่อนเบร็กซิต ซึ่งมีความท้าทายหลายด้านตั้งแต่กำลังผลิต ความจุของโกดังสินค้า โดยมีโจทย์ใหญ่เป็นกลุ่มอาหารสดที่ยังไม่มีทางออกในตอนนี้ ด้านธุรกิจเกี่ยวกับอาหารอื่น ๆ อาทิ พรีเมียร์ฟู้ด (Premier Foods) ประกาศเพิ่มสต๊อกสินค้าหลายรายการทั้งชีส, ไวน์ และอื่น ๆ ส่วนร้านอาหารหลายแห่งต่างแห่เช่าห้องเย็นเพื่อตุนสินค้ายอดนิยมอย่าง ขนมปัง, พิซซ่า, เนย และมันฝรั่ง

จากนี้ต้องจับตาดูว่าในช่วงอีก 2 เดือนที่เหลือนี้จะมีความเคลื่อนไหวจากกลุ่มธุรกิจใดอีก และบรรดาค้าปลีกจะสามารถแก้โจทย์ด้านสต๊อกสินค้าได้ทันเวลาหรือไม่

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลย พิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!