เทรนด์รักโลกยังแรง FMCG ผนึกกำลังปั้นโมเดลลดขยะ

คอลัมน์ Market Move

การลดขยะพลาสติกเป็นหนึ่งในเทรนด์หลักของวงการค้าปลีกทั่วโลกที่ยังรักษาความแรงต่อเนื่องมาตั้งแต่ปีที่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นการงดแถมถุงพลาสติกของเชนค้าปลีก ใช้วัสดุโลหะ-กระดาษผลิตบรรจุภัณฑ์-หลอดดูดน้ำแทนพลาสติกในร้านอาหาร-เครื่องดื่ม หรือไม่ใช้ฟิล์มพลาสติกหุ้มฝาขวดน้ำ และอื่น ๆ หวังลดปัญหาขยะพลาสติกที่ก่อปัญหาให้กับระบบนิเวศทั้งบนบกและในทะเล

และในปี 2562 นี้ สำนักข่าว “เดอะวอลล์สตรีทเจอร์นัล” รายงานว่า บริษัทยักษ์ใหญ่ในวงการสินค้าอุปโภคบริโภค อาทิ พีแอนด์จี, ยูนิลีเวอร์, เป๊ปซี่, เนสท์เล่ และอื่น ๆ รวมทั้งหมด 25 ราย และบริษัทรีไซเคิล “เทอร่า ไซเคิล” (Ter-raCycle) ได้ร่วมกันประกาศเดินหน้าแผนลดขยะพลาสติก ด้วยโมเดลการขายสินค้าแบบบอกรับสมาชิกร่วมกับการใช้บรรจุภัณฑ์แบบรีฟิล ซึ่งจะเริ่มทดลองในสหรัฐและฝรั่งเศสก่อนจะขยายออกไปยังอังกฤษ ญี่ปุ่น และแคนาดา รวมถึงภูมิภาคอื่น ๆ ของโลกต่อไป

ตามแผนความร่วมมือนี้ในเดือน มิ.ย.ทั้ง 25 บริษัทจะเริ่มทดลองจำหน่ายสินค้าบางส่วน เช่น สบู่ แชมพู ผงซักฟอก เครื่องดื่ม ฯลฯ ในแบบบอกรับสมาชิก โดยลูกค้าที่สมัครใช้บริการนี้จะได้รับสินค้าในบรรจุภัณฑ์ซึ่งทำจากวัสดุที่สามารถนำมาทำความสะอาดและเติมสินค้าซ้ำได้อย่างขวดแก้วหรือโลหะ ซึ่งเมื่อใช้หมดแล้วจะสามารถนัดแนะให้พนักงานของ “เทอร่า ไซเคิล” มารับบรรจุภัณฑ์คืนถึงบ้าน พร้อมรับสินค้าชุดใหม่มาใช้ต่อ ส่วนบรรจุภัณฑ์ที่หมดแล้วจะนำไปล้างทำความสะอาดและนำมาใช้ใหม่อีกครั้ง

สำหรับสินค้าที่เข้าร่วมโครงการจะมีราคาใกล้เคียงหรือเท่ากับรูปแบบปกติ แต่ลูกค้าจะต้องจ่ายมัดจำประมาณ 1-10 เหรียญสหรัฐต่อบรรจุภัณฑ์ 1 ชิ้น รวมถึงค่าขนส่งเริ่มต้น 20 เหรียญสหรัฐ ซึ่งจะลดลงตามจำนวนชิ้นที่สั่ง

นับว่าเป็นการอุดช่องวางที่เคยทำให้ยูนิลีเวอร์ล้มเหลวในความพยายามแบบเดียวกันเมื่อปี 2553 ซึ่งยักษ์อุปโภคบริโภคพยายามขายผลิตภัณฑ์ซักผ้าแบบบอกรับสมาชิก แต่ลูกค้าไม่ตอบรับเพราะต้องล้างบรรจุภัณฑ์และนำไปคืนที่ร้านค้าด้วยตนเอง

โดย “ยูนิลีเวอร์” จะนำสินค้า 9 แบรนด์มาร่วมโครงการนี้ เช่น แอ๊กซ์ และโดฟ ในขวดโลหะ ด้านพีแอนด์จีมีแบรนด์แพนทีนในขวดอะลูมิเนียม, แปรงสีฟันออรัล-บี แบบเปลี่ยนหัวได้และสินค้าอื่น ๆ รวม 10 แบรนด์ ส่วน “เป๊ปซี่” นำแบรนด์น้ำส้ม ทรอปิคานาในขวดแก้ว กับซีเรียลเควกเกอร์ในกล่องโลหะ สำหรับ “เนสท์เล่” จะขายไอศกรีมฮาเก้น-ดาสในกระบอกโลหะเก็บอุณหภูมิ เป็นต้น

“อลัน โจฟ” ซีอีโอของ ยูนิลีเวอร์กล่าวว่า ขยะพลาสติกเป็นประเด็นที่ผู้บริโภคกำลังให้ความสนใจ และเราเป็นหนึ่งในบริษัทที่ถูกคาดโทษว่าเป็นส่วนหนึ่งของปัญหา ดังนั้น ความร่วมมือนี้จะช่วยสะท้อนความตั้งใจแก้ปัญหาและลบภาพลักษณ์ดังกล่าว รวมถึงสร้างแบรนด์ลอยัลตี้กับกลุ่มลูกค้ากำลังซื้อสูงที่สนใจสิ่งแวดล้อม โดยบรรจุภัณฑ์ของแอ๊กซ์และโดฟที่ใช้ในโครงการมีอายุนานถึง 8 ปี เท่ากับลดขยะไปได้ถึง 100 ชิ้นต่อคน

ในขณะที่ “ไซมอน โลวเดน” ประธานของกลุ่มธุรกิจขนมขบเคี้ยว บริษัทเป๊บซี่กล่าวอย่างท้าทายว่า ที่ผ่านมาผู้บริโภคจำนวนมากแสดงความกังวลเรื่องสิ่งแวดล้อมและส่งสัญญาณต้องการมีส่วนร่วม ซึ่งคราวนี้จะได้เห็นกันว่าคำพูดเหล่านั้นเป็นจริงแค่ไหน

ด้านบริษัทเทอร่า ไซเคิล ยังเดินหน้าเจรจากับผู้ค้าปลีกรายใหญ่ในแต่ละประเทศ เพื่อดึงเข้าร่วมโครงการหวังใช้เครือข่ายร้านค้าและเว็บไซต์เป็นช่องทางขายและรับคืนสินค้า เพื่อขยายฐานลูกค้าและลดต้นทุนของโครงการที่ปัจจุบันสูงมากในระดับที่ผู้เข้าร่วมแต่ละรายออกทุนระดับเลข 6-7 หลัก โดยปัจจุบันมีเพียง “คาร์ฟูร์” ของฝรั่งเศสที่ตกลงเข้าร่วมโครงการ

ทั้งนี้ โมเดลการขายสินค้าแบบใช้บรรจุภัณฑ์แบบนำกลับมาใช้ใหม่ได้ พบเห็นได้ในวงการเครื่องดื่มซึ่งแบรนด์จะนำขวดแก้วกลับไปใช้ใหม่ โดยมียุคเฟื่องฟูในช่วงปี พ.ศ. 2490 ที่ขวดแก้วแบบใช้ซ้ำมีสัดส่วน 100% ของตลาดน้ำอัดลม และ 86% ในตลาดเบียร์ แต่เสื่อมความนิยมลงเพราะพ่ายแพ้ให้กับความสะดวกของบรรจุภัณฑ์แบบใช้แล้วทิ้งจนเหลือสัดส่วนเพียง 0.4% และ 3.3% ในปี พ.ศ. 2541 ขณะเดียวกัน ยังสามารถพบได้ในกลุ่มแบรนด์สตาร์ตอัพที่มุ่งจับกลุ่มนิช

หากความร่วมมือนี้ประสบความสำเร็จนอกจากการลดขยะพลาสติกแล้ว ยังอาจเป็นการแจ้งเกิดของโมเดลค้าปลีกแบบบอกรับสมาชิกในระดับแมสก็เป็นได้

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลย พิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!