“เจ้าสัว” โปรยพันล้านรุกสื่อ “เจริญ-อากู๋” วิน-วิน

สร้างแรงกระเพื่อมอีกครั้ง สำหรับ ธุรกิจสื่อ เมื่อชื่อของ บริษัท อเดลฟอส จำกัด ที่มี นายฐาปน สิริวัฒนภักดี และ นายปณต สิริวัฒนภักดี ทายาท “เจ้าสัวเจริญ” อภิมหาเศรษฐีอันดับต้นๆ ของเอเซีย ในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ ควักกระเป๋า 1,000 ล้านบาท ซื้อหุ้นเพิ่มทุน ของบริษัท จีเอ็มเอ็ม แชนแนล เทรดดิ้ง จำกัด บริษัทในเครือของ บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) ของ “อากู๋-ไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม”

หลังเพิ่มทุนเสร็จ อเดลฟอส จะถือหุ้นจีเอ็มเอ็ม แชนแนล ในสัดส่วน 50% ขณะที่ แกรมมี่ จะลดสัดส่วนการถือหุ้นในจีเอ็มเอ็ม แชนแนล ลงเหลือ 50%

จากเมื่อปลายปีที่ผ่านมา “ฐาปน” ในนาม บริษัท วัฒนภักดี จำกัด ได้ใช้เงิน 850 ล้านบาท ซื้อหุ้น บริษัท อมรินทร์ พริ้นติ้ง แอนด์ พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน) เจ้าของสื่อสิ่งพิมพ์รายใหญ่ และช่อง 34 อมรินทร์ทีวี มาแล้วคำรบหนึ่ง

นี่คือการรุกคืบสู่ธุรกิจสื่ออย่างเต็มตัวและเต็มรูปแบบของทายาทมือวางของเจ้าสัวเจริญ

อีกด้านหนึ่ง การขายหุ้นของ “แกรมมี่” ครั้งนี้ ถือเป็นการยอมถอยครั้งที่ 2 จากก่อนหน้านี้ที่ได้ขายหุ้น บริษัท วัน เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด (ช่องวัน 31) ให้บริษัท ประนันท์ภรณ์ จำกัด ในกลุ่มปราสาททองโอสถ เจ้าของกลุ่มโรงพยาบาลกรุงเทพ และช่อง พีพีทีวี ไปแล้ว

มุ่ง “คอนเทนต์ โพรไวเดอร์”

แหล่งข่าวระดับสูงจากบริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การเพิ่มทุนของจีเอ็มเอ็ม แชนแนล เทรดดิ้ง และขายหุ้นให้พันธมิตร คือ อเดลฟอส ครั้งนี้ จะทำให้แกรมมี่ลดการขาดทุนสะสมจากการดำเนินธุรกิจทีวีดิจิทัลลง ขณะเดียวกัน จากนี้ไป แกรมมี่ จะปรับกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจ ด้วยการหันไปโฟกัสการเป็นผู้ผลิตคอนเทนต์ (content provider) ที่เป็นจุดแข็งของบริษัทอีกครั้ง ซึ่งธุรกิจนี้จะให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าทีวีดิจิทัลที่มีต้นทุนสูง โดยเฉพาะค่าไลเซนส์ และการแข่งขันสูง เนื่องจากมีจำนวนช่องมาก ขณะที่เม็ดเงินโฆษณาที่มีประมาณ 6 หมื่นล้าน ไม่เติบโต

“สายทิพย์ มนตรีกุล ณ อยุธยา” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายธุรกิจจีเอ็มเอ็ม มีเดีย บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) ชี้แจงว่า การขายหุ้นเพิ่มทุนให้ อเดลฟอส ครั้งนี้จะมาช่วยเสริมให้แกรมมี่มีความแข็งแกร่งด้านคอนเทนท์มากขึ้น และจะส่งผลให้ธุรกิจเติบโตในอนาคต

อย่างไรก็ตาม หลังเพิ่มทุนแล้ว บริษัทจะมีการปรับโครงสร้างใหม่ โดยที่กลุ่มจีเอ็มเอ็ม แชนแนล เทรดดิ้งจะประกอบไปด้วย บริษัท จีเอ็มเอ็ม แชนแนล เทรดดิ้ง จำกัด, บริษัท จีเอ็มเอ็ม แชนแนล จำกัด (ช่อง จีเอ็มเอ็ม 25), บริษัท จีเอ็มเอ็ม ทีวี จำกัด, บริษัท จีเอ็มเอ็ม มีเดีย จำกัด (มหาชน), บริษัท เอ-ไทม์ มีเดีย จำกัด และบริษัท เอ-ไทม์ ทราเวิลเวอร์ จำกัด

ทุนใหม่ยืดลมหายใจทีวีดิจิทัล

แหล่งข่าวจากวงการทีวีดิจิทัลรายใหญ่ แสดงทรรศนะว่า อีกด้านหนึ่ง เงินที่ได้จากการเพิ่มทุนครั้งนี้ นอกจากจะช่วยลดการขาดทุนทีวีดิจิทัลของแกรมมี่ลงได้ในระดับหนึ่งแล้ว อีกด้านหนึ่งก็จะช่วยให้พยุงสถานการณ์ของทีวีดิจิทัลให้สามารถยืนระยะท่ามกลางการแข่งขันที่สูงได้นานขึ้น จากตัวแปรสำคัญ คือ งบฯโฆษณาผ่านสื่อทีวีไม่โตจากปัญหาเศรษฐกิจ ซึ่งทำให้ทีวีทั้ง 22 ช่อง ต้องแบกรับภาระต้นทุนและและค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูง ทั้งค่าใบอนุญาต ค่าเช่าโครงข่าย และที่หนักที่สุด คือ ต้นทุนด้านคอนเทนต์

รายงานข่าวจากบริษัทแกรมมี่ฯ ยอมรับว่า การกระโดดเข้าสู่สมรภูมิทีวีดิจิทัลในช่วงที่ผ่านมา ทำให้สภาพคล่องทางการเงินลดลง เนื่องจากต้องจ่ายค่าธรรมเนียมใบอนุญาตทีวีดิจิทัลให้ กสทช. และต้องกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงินเพื่อใช้หมุนเวียนในทีวีดิจิทัลเพิ่มขึ้น และสิ่งที่ตามมาคือ ภาระดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้น

ถึงวันนี้ เป็นที่รับรู้กันดีของคนในแวดวงว่า นอกจาก ช่อง 7 ช่อง 3 และ เวิร์คพอยท์ ที่ลอยลำแล้ว อีกด้านหนึ่งก็ยังมีทีวีอีกหลาย ๆ ช่องที่สถานการณ์ “น่าเป็นห่วง” เพราะนอกจากเรตติ้งไม่ได้แล้ว เม็ดเงินโฆษณาก็กระจายไปไม่ถึง

นี่คือ สิ่งที่ทำให้ทีวีหลาย ๆ ช่อง ต้องดิ้นหาทางออกด้านการหาผู้ร่วมทุนรายใหม่เพื่อยืดลมหายใจ

เจียดเม็ดเงินกุมธุรกิจสื่อครบ

สำหรับการรุกคืบเข้าสู่ธุรกิจสื่อของทายาทเจ้าสัวเจริญครั้งนี้ อาจจะกล่าวได้ว่า เป็นการรุกคืบที่ก้าวไปข้างหน้าอีกก้าวหนึ่ง เพราะเป็นที่รับรู้กันในแวดวงว่า กลุ่มจีเอ็มเอ็มแชนแนล ก็มีศักยภาพในหลายด้าน ทั้งธุรกิจวิทยุ ผลิตรายการทีวี จัดคอนเสิร์ต และธุรกิจท่องเที่ยว

ขณะที่ “อมรินทร์” เจ้าของสื่อรายใหญ่ที่มีธุรกิจครอบคลุมตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ไล่เรียงตั้งแต่โรงพิมพ์ สำนักพิมพ์ แมกาซีนที่แข็งแกร่งมากกว่า 10 หัว นอกจากนี้ยังมีธุรกิจอีเวนต์ และช่อง 34 อมรินทร์ทีวี

ทั้งหมดนี้ เจ้าสัวน้อย “ฐาปน” สามารถที่จะนำมาต่อยอดหรือใช้ให้เป็นประโยชน์กับ ธุรกิจของกลุ่มทีซีซีที่มีหลากหลาย ทั้งกลุ่มเครื่องดื่ม อย่าง ไทยเบฟฯ บีเจซี ดูแลธุรกิจสินค้าอุปโภคบริโภค-ค้าปลีก ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ประกันภัย เป็นต้น

สำหรับเกมนี้ อาจจะกล่าวได้ว่า “วิน-วิน” ทั้งสองฝ่าย