ทีวี…เปิดเกมใหม่ ชิงคนดู ป้อนคอนเทนต์ ข้ามช่องเติมรายได้

เมื่อการเป็นแค่เจ้าของช่องทีวีอาจจะไม่ตอบโจทย์ด้านรายได้ของธุรกิจเหมือนที่ผ่านมา เพราะงบฯโฆษณาที่เป็นรายได้หลักของธุรกิจนี้ไม่ได้เติบโตขึ้น ประกอบกับแพลตฟอร์มออนไลน์ทั้งเน็ตฟลิกซ์ ไลน์ทีวี ยูทูบ ก็เข้ามาแย่งเก็บส่วนแบ่งตลาดไปพร้อม ๆ กับการโกยฐานคนดูรุ่นใหม่ ๆ ไปด้วย ทำให้ช่องทีวีต้องปรับตัวมาต่อเนื่อง ปรากฏการณ์ล่าสุดที่กำลังเกิดขึ้น คือ การทยอยผันตัวจากแค่การเป็นเจ้าของช่องทีวีมาเป็นผู้ผลิตคอนเทนต์เพื่อสร้างรายได้

“ชลากรณ์ ปัญญาโฉม” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายงานดิจิทัลทีวี บริษัท เวิร์คพอยท์ เอ็นเทอร์เทนเมนท์ จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารช่องเวิร์คพอยท์ทีวีบอกว่า ตอนนี้ธุรกิจสื่อไม่ได้จำกัดการแข่งขันอยู่แค่แพลตฟอร์มของตัวเองอีกแล้ว เพราะธุรกิจสื่อทั้งออฟไลน์และออนไลน์ต่างมีเป้าหมายเดียวกัน คือ ชิงความสนใจของผู้ชมให้ได้ ดังนั้นกลยุทธ์หลักของเวิร์คพอยท์จากนี้ไป คือ การใช้ศักยภาพด้านมีเดียที่มีมาสร้างรายได้ให้แก่ธุรกิจ โดยแบ่งออก 3 ส่วน ได้แก่ ธุรกิจทีวี คือ ช่องเวิร์คพอยท์ก็ยังมีรายได้หลักจากโฆษณาอยู่

ขณะเดียวกัน ก็เดินหน้าสู่การเป็นผู้ผลิตคอนเทนต์เพื่อป้อนให้แก่แพลตฟอร์มออนไลน์มากขึ้น ล่าสุดได้ผลิตคอนเทนต์ให้ “วิว” (VIU) แพลตฟอร์มโอทีที (Over-The-Top) จากเกาหลี และเปิดกว้างสำหรับการผลิตคอนเทนต์ให้แก่แพลตฟอร์มอื่น ๆ ด้วย อีกทั้งยังนำมากระจายคอนเทนต์เข้าไปออกอากาศทุก ๆ แพลตฟอร์มออนไลน์ เช่น ไลน์ทีวี ยูทูบ เป็นต้น

และสุดท้ายคือการร่วมกับพันธมิตรเพื่อสร้างธุรกิจใหม่ เช่น การนำเวลาที่เหลือจากการขายโฆษณาเฉลี่ยวันละ 100-120 นาทีมาทำธุรกิจทีวีโฮมช็อปปิ้ง หรือการเข้ามาดูแลด้านการตลาดให้แก่กลุ่มน็อนฟู้ด (nonfood) ของบริษัท เซ็น คอร์ปอเรชั่น กรุ๊ป จำกัดด้วย เช่น การทำตลาดให้น้ำปลาร้าปรุงรสของร้านตำมั่ว เป็นต้น

“ทีวียังเป็นสื่อหลักที่เข้าถึงผู้ชมได้ดี และคอนเทนต์บนทีวีก็ยังมีคนดูจำนวนมาก แต่การจะทำคอนเทนต์ให้ประสบความสำเร็จต้องบาลานซ์ระหว่างทีวีและออนไลน์ให้ได้ เพราะคนดูทีวีคือคนที่อายุ 35 ปีขึ้นไป ส่วนคนดูออนไลน์คือคนที่มีอายุต่ำกว่า 35 ปีลงมา ถ้าบาลานซ์ทั้งสองช่องทางได้ เท่ากับว่าจะได้ฐานผู้ชมที่ครอบคลุม”

“ชลากรณ์” ย้ำว่า โจทย์หลักของปีนี้ คือ ต้องขยายฐานคนดูออกไปให้กว้างขึ้น ด้วยการนำคอนเทนต์ออกไปสร้างรายได้จากทุกแพลตฟอร์ม พร้อมกับความพยายามในการสร้างรายได้จากช่องทางใหม่ ๆ ซึ่งสิ่งที่เวิร์คพอยท์ทำทั้งหมดคือการใช้ความเป็นเจ้าของช่องทีวีมาต่อยอดธุรกิจ

เช่นเดียวกับ “เขมทัตต์ พลเดช” กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า นโยบายหลักคือสร้างความแข็งแกร่งให้แก่ทุกหน่วยงานในบริษัท เพื่อให้สามารถสร้างรายได้ และแข่งขันในตลาดได้ ล่าสุดได้ปรับโครงสร้างทีมไนน์เอ็นเตอร์เทนใหม่ แต่ยังย้ำจุดแข็งด้านข่าวบันเทิง ซึ่งแบ่งเป็น 3 ธุรกิจ ได้แก่ จับมือกับพันธมิตรทั้งไทยและต่างประเทศในการผลิตคอนเทนต์

ล่าสุดได้ผลิตรายการข่าวบันเทิงเชิงวิเคราะห์ “วันเอ็นเตอร์เทน” ให้ช่องวัน 31 ตามด้วยการบริหารกิจกรรมพิเศษ เช่น การมอบรางวัล จัดคอนเสิร์ต เป็นต้น สุดท้ายคือการรุกตลาดออนไลน์เต็มรูปแบบเพื่อขยายกลุ่มผู้ชม

“อสมท ไม่ยึดติดเพียงการหารายได้ในช่องทางสื่อเดิมที่เป็นเจ้าของ ทั้งทีวีและวิทยุเท่านั้น แต่จะสร้างรายได้จากช่องทางอื่น ๆ มากขึ้น ทั้งออนไลน์ ผลิตคอนเทนต์ ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นใหม่ของ อสมท ที่กำลังก้าวสู่การเป็นผู้ผลิตคอนเทนต์อย่างเต็มตัว โดยใช้ศักยภาพที่มีมาต่อยอดธุรกิจแบบรอบด้าน ซึ่งคาดว่าการดำเนินการที่หลากหลายนี้จะทำให้รายได้ของ อสมท เติบโตขึ้น”

ขณะเดียวกัน แหล่งข่าวระดับสูงจากบริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารช่องวัน 31 และช่องจีเอ็มเอ็ม 25 ให้ข้อมูลว่า ล่าสุดแกรมมี่ได้เดินหน้าสู่การเป็นผู้ผลิตคอนเทนต์เต็มรูปแบบ โดยเมื่อปลายปี 2561 ได้แยกทีม “จีเอ็มเอ็ม บราโว่” ที่เคยอยู่ในกลุ่มจีเอ็มเอ็ม มิวสิค ซึ่งมี “ฟ้าใหม่ ดำรงชัยธรรม” เป็นผู้ดูแล ออกมาเป็นบริษัท จีเอ็มเอ็ม สตูดิโอส์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด หรือบราโว่ สตูดิโอ ภายใต้การดูแลของบริษัท จีเอ็มเอ็ม แชนแนล โฮลดิ้ง จำกัด (ช่องจีเอ็มเอ็ม 25) เพื่อดูแลด้านการผลิตคอนเทนต์อย่างชัดเจนตามนโยบายของ “ไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม” ประธานกรรมการบริษัท และล่าสุดบราโว่ สตูดิโอเพิ่งจับมือกับเน็ตฟลิกซ์ ในการผลิตซีรีส์ไทย ออริจินัลเรื่องแรก “เคว้ง” ให้แก่เน็ตฟลิกซ์ด้วย โดยมีเป้าหมายเพื่อนำคอนเทนต์ไทยเข้าไปสู่ตลาดอินเตอร์เนชั่นแนลคอนเทนต์มากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ค่ายบันเทิงยักษ์ใหญ่อย่างแกรมมี่เริ่มมองเห็นสัญญาณบางอย่าง จึงยอมขายหุ้นช่องวันให้แก่กลุ่มปราสาททองโอสถเมื่อปี 2559 และขายหุ้นช่องจีเอ็มเอ็ม 25 ให้แก่กลุ่มเจ้าสัวเจริญเมื่อปี 2560 พร้อมปรับกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจใหม่ ด้วยการหันกลับมาโฟกัสที่จุดแข็งเดิมนั่นคือ การเป็นผู้ผลิตคอนเทนต์โดย “ไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม” ประธานกรรมการบริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด เคยกล่าวก่อนหน้านี้ว่า ภาพลักษณ์และแนวทางของแกรมมี่ตอนนี้ชัดเจนว่าคือผู้ผลิตคอนเทนต์และพร้อมจะซัพพอร์ตคอนเทนต์ให้กับทุกช่องทาง

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า หลังจากนั้นการขายหุ้นช่องทีวีแล้ว แกรมมี่ก็ประกาศตัวเองชัดเจนว่าจะเป็นผู้ผลิตคอนเทนต์ ด้วยการตั้งทีม “จีเอ็มเอ็ม บราโว่” (GMM BRAVO) ขึ้นตั้งแต่กลางปี 2559 เพื่อผลิตคอนเทนต์ป้อนให้แก่ทุกแพลตฟอร์ม นอกจากนี้ ยังมีบริษัท จีดีเอช 559 จำกัด บริษัท จีเอ็มเอ็มทีวี จำกัด และล่าสุดบริษัท เชนจ์ 2561 จำกัด ภายใต้การดูแลของ “สายทิพย์ มนตรีกุล ณ อยุธยา” ตอกย้ำภาพของการเป็นผู้ผลิตคอนเทนต์ที่ป้อนคอนเทนต์ให้แก่ทุกแพลตฟอร์ม และสร้างรายได้จากทุกทิศทุกทางให้แก่แกรมมี่ถือเป็นการเปลี่ยนเกมใหม่จากเจ้าของช่องสู่การเป็นผู้ผลิตคอนเทนต์อย่างชัดเจน เมื่อคนดูไม่สนใจว่าชมคอนเทนต์จากแพลตฟอร์มไหน ก็จำเป็นต้องพลิกตัวเองให้เข้าถึงคนดูให้มากที่สุดพร้อม ๆ กับสร้างรายได้

เพราะท้ายที่สุดผลลัพธ์ของสมรภูมินี้คือใครแย่งคนดูได้มากที่สุดคนนั้นชนะ

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลย พิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!