“ฟิวเจอร์”เปิดเกมยึดค้าปลีก ดึง”ฮ็อปอินน์”ร่วมทัพ660ไร่

“ฟิวเจอร์รังสิต” เปิดเกมยึดค้าปลีกกรุงเทพฯตอนเหนือเต็มรูปแบบดักกำลังซื้อ-กลุ่มลูกค้าทุกระดับ กางแลนด์แบงก์ 660 ไร่ ระดมสารพัดแม็กเนตร่วมปั้นเมือง ล่าสุด แท็กทีม “ดิ เอราวัณ” ส่งโรงแรมฮ็อป อินน์ รังสิต ร่วมทัพต่อยอดศูนย์การค้า-เอาต์เลต-เวลเนส-สปอร์ตคอมเพล็กซ์ เปิดกว้างทุกการลงทุน

“ฟิวเจอร์พาร์ค รังสิต” เป็นศูนย์การค้าขนาดใหญ่และครบวงจร ด้วยทำเลซึ่งเป็นเกตเวย์เชื่อมต่อระหว่างกรุงเทพฯออกไปภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคอีสาน และแลนด์แบงก์ขนาดมหึมาของกลุ่มตระกูล “หวั่งหลี” กว่า 660 ไร่ ครอบคลุมเป็น 2 ฝั่งสำหรับการสร้างอาณาจักร คือ ฟิวเจอร์ฝั่งตะวันออก 457 ไร่ เป็นที่ตั้งของกลุ่มค้าปลีก ฟิวเจอร์พาร์ค รังสิต, โฮมโปร, เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์, อินเด็กซ์ ลีฟวิ่งมอลล์, บิ๊กซี, โรบินสัน, เซ็นทรัล และโรงพยาบาลเปาโล เป็นต้น ขณะที่ ฟิวเจอร์ ซิตี้ ฝั่งตะวันตก 203 ไร่ เป็นที่ตั้งของตลาดรังสิต รังสิตอพาร์ตเม้นท์ เทสโก้ โลตัส และโชว์รูมรถยนต์ โตโยต้า ฮอนด้า เป็นต้น และปัจจุบันยังเหลือที่ดินสำหรับรอการพัฒนาในอนาคตได้อีกมาก

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า ความเคลื่อนไหวของการลงทุนของกลุ่มฟิวเจอร์ ล่าสุด ได้จับมือกับกลุ่มดิ เอราวัณ ในรูปแบบของการเข้ามาเช่าที่ดินเพื่อเตรียมเปิดโรงแรมขนาด 7 ชั้น ภายใต้แบรนด์ “เอราวัณ ฮ็อป อินน์ รังสิต” ในพื้นที่ฟิวเจอร์พาร์ค โดยตั้งอยู่ฝั่งโรงหนังเมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ เป็นอาคารสูง 7 ชั้น พร้อมที่จอดรถ เพื่อรองรับกลุ่มลูกค้า ซึ่งเป็นโรงแรมระดับ 2 ดาว พื้นที่ 1 ไร่ จำนวน 79 ห้องพัก คาดว่าจะพร้อมเปิดให้บริการในปี 2563

สอดคล้องกับแหล่งข่าวพัฒนาพื้นที่ค้าปลีก ฉายภาพกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การขยายการลงทุนและสร้างอาณาจักรของกลุ่มฟิวเจอร์จะเห็นแม็กเนตใหม่ ๆ เข้ามามากขึ้น ต่อจากนี้ ไม่เพียงเอราวัณ ฮ็อป อินน์ ที่จะเปิดให้บริการระดับ 2-3 ดาว แต่ยังมีผู้ประกอบการโรงแรมเชนระดับ 4 ดาวอีกรายเข้ามาเช่าพื้นที่เพื่อเตรียมการลงทุนแล้วเช่นกัน ขนาดพื้นที่ 9 ไร่ เป็นอาคารสูง 11 ชั้น จำนวน 227 ห้อง มีห้องประชุมสัมมนา สระว่ายน้ำ ลานจอดรถรวม เพื่อรองรับกลุ่มลูกค้าทุกตลาดและไม่ต้องเดินทางเข้าใจกลางเมือง และคาดว่าแล้วเสร็จเปิดบริการไตรมาส 4 ปี 2563

ที่ผ่านมาการลงทุนพัฒนาพื้นที่ของฟิวเจอร์พาร์ค จะเปิดกว้างในทุกรูปแบบทั้งการลงทุนเอง การให้เช่าพื้นที่ หรือการร่วมลงทุนในแต่ละโครงการ เพื่อให้สอดรับกับความต้องการของกลุ่มลูกค้าและเติมแม็กเนตใหม่ ๆ สอดคล้องกับทิศทางของยุทธศาสตร์ “ฟิวเจอร์ ซิตี้” นอกจากนี้ พื้นที่และกลุ่มลูกค้าย่านรังสิตมีการเปลี่ยนแปลงมากขึ้น รัฐบาลมีการลงทุนระบบสาธารณูปโภค มีรถไฟฟ้าสายสีแดงอยู่ระหว่างก่อสร้าง สนามบินดอนเมืองมีการขยายเทอร์มินอลเพิ่ม

เช่นเดียวกับการเติบโตของที่อยู่อาศัยและอุตสาหกรรมในย่านนี้ พื้นที่มีความเจริญมากขึ้นและมีจำนวนประชากรมากขึ้น ส่งผลให้การลงทุนของฟิวเจอร์พาร์คต้องให้มีทุกอย่างที่พร้อมสำหรับรองรับตลาดที่เปลี่ยนแปลง ครอบคลุมทั้งศูนย์การค้า 2 แห่ง คือ ฟิวเจอร์พาร์คขนาด 5 แสน ตร.ม. ที่ตอบโจทย์ตลาดแมส และศูนย์การค้าสเปลล์ ขนาด 1 แสน ตร.ม. ที่รองรับกลุ่มตลาดพรีเมี่ยม รวมถึงการเป็นแหล่งรวมของร้านเฟอร์นิเจอร์และสินค้าตกแต่งบ้าน ศูนย์ออกกำลังกายขนาดใหญ่สปอร์ตคอมเพล็กซ์ โรงพยาบาลเปาโลขนาด 150 เตียง สถานีรถตู้สาธารณะทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัด โรงแรม สปอร์ตคลับ และเอาต์เลตมอลล์ ที่จะทยอยลงทุนต่อจากนี้

ทั้งนี้ ปัจจุบันกลุ่มฟิวเจอร์ได้พัฒนาโซนสปอร์ตฮับ พื้นที่รวม 20 กว่าไร่ อยู่ระหว่างการเตรียมขยายพื้นที่สนามฟุตบอลอีก 2 สนาม รวมเป็น 6 สนาม และเพิ่มสนามแบดมินตันอีก 2 สนาม รวมเป็น 4 สนาม และเตรียมแผนการสร้างสระว่ายน้ำขนาดใหญ่ ศูนย์สุขภาพหรือเวลเนสเฮลท์เซ็นเตอร์ ครอบคลุมทั้ง สกี ไอซ์สเกต บาสเกตบอล ฟิตเนส โยคะ โรงเรียนฝึกสอนมวยไทย โรงเรียนเทควันโด แทรมโปลีน และร้านสปอร์ตรีเทล

ปัจจุบันศูนย์การค้าฟิวเจอร์พาร์คมีทราฟฟิก 160,000-200,000 คนต่อวัน เติบโต 20% ต่อเนื่อง โดยสัดส่วนลูกค้าจะเป็นกลุ่มคนทำงาน 40% กลุ่มนักศึกษาและวัยรุ่น 30% กลุ่มทั่วไป 20% และกลุ่มผู้สูงวัย 10% ขณะที่แบ่งเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติ 10% ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นนักท่องเที่ยวจีนกับเวียดนาม

คลิกอ่าน…  ฟิวเจอร์รังสิตกางที่ดิน350ไร่ “โรงแรม-สปอร์ตฮับ-เอาต์เลต” เสริมทัพ

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลย พิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat 

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!