สไมล์ลิ่งฯเขย่าเบียร์อิมพอร์ต ปูพรมแบรนด์ใหม่/คว้าสิทธิ์ขายเบียร์ลาว

“สไมล์ลิ่ง แม๊ด ด๊อก” เขย่าเบียร์อิมพอร์ต คว้าสิทธิ์นำเข้า “เบียร์ลาว” เสริมทัพ เพิ่มวาไรตี้ราคาเข้าถึงง่าย เริ่มต้น 59 บาท ขยายฐานลูกค้าใหม่ จัดเต็ม 4 เอสเคยู ก่อนปรับแผนรุกตลาดรอบใหม่ หันกระจายสินค้ารอบทิศ-เพิ่มน้ำหนักค้าปลีก รับแนวโน้มคนซื้อกินดื่มที่บ้านมากขึ้น
 
นายกัณฑ์ นาวิกผล กรรมการ บริษัท สไมล์ลิ่ง แม๊ด ด๊อก จำกัด ผู้นำเข้าและจัดจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นำเข้า อาทิ บัลลาส พอยต์, บริวด๊อก, โคโรนาโด, อีวิล ทวิน ฯลฯ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เทรนด์ของการบริโภคเบียร์นำเข้าและคราฟต์เบียร์เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา ทำให้ปัจจุบันมีแบรนด์ที่วางขายในตลาดมากกว่า 100 แบรนด์ ผ่านผู้นำเข้ากว่า 20 ราย
 
โดยตลาดของคราฟต์เบียร์นำเข้าในช่วงแรกเน้นเจาะกลุ่มผู้บริโภคที่ค่อนข้างนิช เนื่องจากผลิตภัณฑ์ส่วนใหญ่จะมีรสชาติที่ต่างออกไปจากเบียร์ประเภทลาเกอร์ ที่คนไทยคุ้นชินและมีราคาสูง ตั้งแต่ 250 บาทขึ้นไปต่อขวด แต่เมื่อตลาดและผู้บริโภคเอดูเคตมากขึ้น ผู้นำเข้าสินค้าเองก็มองหาแบรนด์ใหม่ ๆ เข้ามาตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภค ทำให้วาไรตี้ของสินค้ามีมากขึ้นเรื่อย ๆ ทั้งรสชาติและราคา
 
เช่นเดียวกับทิศทางของบริษัทที่ต้องการมีสินค้าใหม่ ๆ เข้ามารับกับโอกาสที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มที่มีราคาเข้าถึงง่าย รสชาติไม่ซับซ้อนมากนัก จึงได้นำ “เบียร์ลาว” เข้ามาจัดจำหน่าย และถือเป็นครั้งแรกที่นำเบียร์ราคาต่ำกว่า 100 บาท เข้ามาในพอร์ต มีทั้งหมด 4 เอสเคยู อาทิ เบียร์ลาว ลาเกอร์, เบียร์ลาว ดาร์กลาเกอร์, เบียร์ลาว โกลด์ และเบียร์ลาว ไวท์ลาเกอร์ ราคาเริ่มต้นอยู่ที่ 59 บาท/ขวด ซึ่งจะกระจายไปยังช่องทางต่าง ๆ อย่างครบครัน ทั้งออฟเทรด หรือร้านสะดวกซื้อ ค้าปลีกต่าง ๆ และออนเทรด หรือร้านอาหาร ผับ บาร์ ทั้งนี้ เพื่อเสริมทัพกับแบรนด์ที่มีอยู่เดิม 13 แบรนด์ ที่นำเข้ามาจากหลากหลายประเทศ อาทิ เยอรมนี สหรัฐอเมริกา เบลเยียม สกอตแลนด์ ฯลฯ ซึ่งส่วนใหญ่มีราคาค่อนข้างสูง 250-300 บาทต่อขวด
 
อย่างไรก็ตาม ในกลุ่มนำเข้าที่มีราคาสูงก็ยังมีแบรนด์ใหม่เข้ามาอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดได้นำเข้าคราฟต์เบียร์จากสหรัฐอเมริกา “Stillwater Artisanal” เพิ่มอีก 1 แบรนด์ เมื่อไม่นานมานี้ จำนวน 15 รสชาติ
 
นายกัณฑ์ยังระบุต่อไปอีกว่า ในปีนี้จะเพิ่มโฟกัสการขายของแบรนด์ต่าง ๆ ผ่านช่องทางออฟเทรดมากขึ้น เนื่องจากพฤติกรรมของผู้บริโภคในปัจจุบันที่ซื้อกลับมาบริโภคที่บ้านมีมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยจะเพิ่มสัดส่วนการขายผ่านออฟเทรดจาก 15-20% เป็น 25-30%
 
ขณะเดียวกันช่องทางออนเทรดก็จะเข้าไปจัดกิจกรรม หรืออีเวนต์กับร้านค้าต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง เช่น กิจกรรมการเปิดตัวสินค้าใหม่ รวมถึงรถทรัก ในการเข้าไปตามโลเกชั่นต่าง ๆ ที่อยู่ในความสนใจของคนรุ่นใหม่ ไม่ว่าจะเป็น จอร์ชโฮเทล ดับบลิวดิสทริก ฯลฯ เป็นต้น
 
“แม้ว่าคนจะสนใจคราฟต์เบียร์มากขึ้น แต่คราฟต์เบียร์ก็ยังไม่ใช่สินค้าที่คนจะดื่มได้ทุกวัน ราคาเป็นปัจจัยสำคัญที่ยังทำให้กลุ่มคนดื่มยังนิชอยู่ เราเล็งเห็นช่องว่างตรงนี้จึงมองหาตัวเลือกใหม่ที่มีราคาไม่สูงมากเข้ามาอยู่ในพอร์ต ซึ่งเบียร์ลาวก็เป็นสินค้าที่คนรู้จักกันดี มีราคาเข้าถึงง่าย และจะกลายเป็นสัดส่วนใหญ่ในพอร์ตของบริษัทต่อไป” นายกัณฑ์ระบุทิ้งท้าย