ค้าปลีกปตท.เปิดเกมรอบใหม่ ขนแบรนด์ในเครือโกอินเตอร์ตามอเมซอน

เปิดเกมบุก ปั้น “คาเฟ่ อเมซอน” สู่โกลบอลแบรนด์ วางเป้าหมาย 5-10 ปีทะลุ 20,000 สาขาตามแผน ล่าสุดเตรียมเปิดสาขา “จีน-อินโดนีเซีย” ย้ำภาพร้านกาแฟระดับอินเตอร์ จากปัจจุบันเปิดแล้วใน 6 ประเทศ เร่งพัฒนาแบรนด์อื่น ๆ ในพอร์ต หวังสร้างการเติบโตอีกแรง พร้อมเตรียมนำ “ปตท.น้ำมันและค้าปลีก” เข้าตลาดหลักทรัพย์ฯให้ทันปีนี้

เปิดเกมรุกอีกสเต็ป สำหรับ ปตท.น้ำมันและค้าปลีก กับเป้าหมายการปั้นแบรนด์ “คาเฟ่ อเมซอน” สู่โกลบอลแบรนด์ โดยล่าสุดเตรียมเจาะตลาดร้านกาแฟในจีน ซึ่งถือเป็นตลาดใหญ่และมีผู้เล่นทั้งโกลบอลแบรนด์และโลคอลแบรนด์ครองตลาดอยู่

อย่างไรก็ตาม แนวทางที่วางไว้ก็สอดรับกับนายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มปิโตรเลียมขั้นปลาย บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวก่อนหน้าว่า ปี 2562 เตรียมนำบริษัท ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด ซึ่งบริหารธุรกิจค้าปลีกและอาหาร เช่น ร้านกาแฟอเมซอน ฮั่วเซงฮง เป็นต้น เข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ และตั้งเป้าหมายว่าจะปั้นแบรนด์ร้านกาแฟ “คาเฟ่ อเมซอน” ให้เป็นโกลบอลแบรนด์ภายใน 5-10 ปี หรือคาดว่าจะมี 20,000 สาขา หรือคิดเป็น 1 ใน 3 ของจำนวนสาขาของโกลบอลแบรนด์อย่างสตาร์บัคส์

ปั้น ปตท.ค้าปลีกเข้าตลาด

นางสาวจิราพร ขาวสวัสดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือพีทีที โออาร์ กล่าวว่า สำหรับยุทธศาสตร์การเจาะตลาดต่างประเทศ ตอนนี้ยังให้รายละเอียดไม่ได้ เนื่องจากอยู่ระหว่างยื่นไฟลิ่ง (filing) ก.ล.ต. โดยปัจจุบันเปิดให้บริการ 6 ประเทศ ได้แก่ กัมพูชา ลาว เมียนมา ญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ และโอมาน ในลักษณะมาสเตอร์แฟรนไชส์ โดยกลุ่มบริษัท โอมานออยล์ได้ตั้งบริษัท โอมานรีเทลขึ้น เพื่อบริหารร้านคาเฟ่ อเมซอนในโอมาน

ทั้งนี้คอนเซ็ปต์หลักของการขยายสาขาต่างประเทศ คือ การสร้างการรับรู้เรื่องรสชาติ ความสะดวก และชูความชุ่มชื้น ความร่มรื่นของธรรมชาติภายในร้าน ในราคาที่เหมาะสม ซึ่งการเข้าไปในแต่ละประเทศก็ต้องเพิ่มและปรับรายละเอียดบางเรื่อง เช่น รสชาติ ขนาดให้เหมาะสมกับความต้องการดื่มกาแฟของผู้บริโภคแต่ละประเทศ แต่ท้ายที่สุดก็ยังคงจุดแข็งหลักของอเมซอนไว้ คือ โปรดักต์มาตรฐานของไทย และโปรดักต์ที่ต้องปรับให้สอดรับกับผู้บริโภคในประเทศนั้น ๆ ปัจจุบันคาเฟ่ อเมซอนมี 2,646 สาขา แบ่งเป็นไทย 2,459 สาขา และต่างประเทศ 187 สาขา

“ตอนนี้แบรนด์คาเฟ่ อเมซอน ประสบความสำเร็จในไทยและอาเซียน รวมถึงประเทศแถบตะวันออกกลางด้วย เพราะรสชาติ การตกแต่งร้านชูความกรีน และการเข้าถึงได้ทุกที่ กลายเป็นจุดแข็งที่ทำให้เราประสบความสำเร็จ และแสดงให้เห็นว่า แบรนด์อเมซอนมีความแข็งแรง ซึ่งตอกย้ำความเป็นโกลบอลแบรนด์ของเรา นั่นคือ การขยายไปยังต่างประเทศให้ได้มากกว่า 1 ภูมิภาค ซึ่งตอนนี้เปิดในอาเซียน ตะวันออกกลาง และกำลังจะขยายที่จีนใต้ด้วย”

“อเมซอน” ลุยจีน-อินโดนีเซีย

ทิศทางธุรกิจจากนี้ไปจะเดินหน้าปั้นแบรนด์ “คาเฟ่ อเมซอน” เป็นโกลบอลแบรนด์ตามแผนที่วางไว้ โดยปีนี้จะเข้าไปเปิดสาขาในจีน อินโดนีเซีย ซึ่งเบื้องต้นจะเข้าไปลงทุนเองก่อน เพื่อสร้างการรับรู้แบรนด์และทดลองตลาด ทั้งเรื่องรสชาติเครื่องดื่ม บริการ และรูปแบบการสื่อสารทางการตลาดว่าสอดรับกับความต้องการของผู้บริโภคประเทศนั้น ๆ หรือไม่ ส่วนนโยบายหลังจากนั้นก็เปิดกว้างสำหรับการร่วมทุน การหาพันธมิตร หรือการหามาสเตอร์แฟรนไชส์สำหรับการขยายสาขาต่อไป

นอกจากนี้ยังมีแผนจะขยายไปยังประเทศอื่น ๆ ด้วย โดยล่าสุดได้ตั้งบริษัท พีทีที โออาร์ สิงคโปร์ จำกัดขึ้น เพื่อจะเปิดร้านอเมซอน 3 สาขาในปีนี้

“การแข่งขันของร้านกาแฟในจีน ถือว่าดุเดือดมาก เพราะมีทั้งโลคอลแบรนด์และโกลบอลแบรนด์เข้าไปเปิดสาขาจำนวนมาก แต่เราเชื่อว่าด้วยจำนวนประชากร และพื้นที่ในแต่ละภูมิภาคที่กว้าง ทำให้ตลาดจีนจึงมีโอกาสเติบโตอีกมาก และเตรียมจะเข้าเปิดร้านอเมซอนที่จีนให้ทันในปลายปีนี้ด้วย”

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า จากรายงานของสำนักข่าวแชนเนลนิวส์ เอเชีย ระบุว่า ปัจจุบันตลาดกาแฟในจีนมีมูลค่าประมาณ 3.4 พันล้านเหรียญสหรัฐ และมีโอกาสเติบโตอีกมาก เนื่องจากอัตราการบริโภคกาแฟของคนจีนเฉลี่ยอยู่ที่ 4-5 แก้วต่อปีเท่านั้น เมื่อเทียบกับอัตราการบริโภคกาแฟของคนเกาหลี ญี่ปุ่น และไต้หวันที่เฉลี่ย 300 แก้วต่อปี

พัฒนาแบรนด์อื่น ๆ ตามรอย

นางสาวจิราพรขยายความว่า ถ้าย้อนกลับไปเมื่อ 10 ปีก่อน โปรดักต์หลักของบริษัทที่ต่างประเทศรู้จัก คือ น้ำมัน ขณะที่ตอนนี้ไลฟ์สไตล์ผู้บริโภคเปลี่ยนไป ดังนั้นโมเดลการจัดตั้งบริษัท พีทีที โออาร์ ที่สิงคโปร์ขึ้น เพื่อขยายธุรกิจรีเทลนั้น เป็นเพียงจุดเริ่มต้นในการใช้แบรนด์คาเฟ่ อเมซอน เป็นหัวหอกหลักในการบุกตลาดต่างประเทศ เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ สร้างการรับรู้ให้แก่แบรนด์ก่อน หลังจากนั้นก็เปิดกว้าง

สำหรับการหาพันธมิตรในหลากหลายโมเดล รวมถึงมีแผนจะนำแบรนด์อื่น ๆ ที่อยู่ในพอร์ตขยายออกไปยังต่างประเทศด้วยเช่นกัน

ขณะเดียวกันก็เดินหน้าพัฒนาแบรนด์อื่น ๆ ที่มีอยู่ควบคู่ตามไปด้วย โดยเมื่อปลายปีก่อน ได้ทดลองเพิ่มเมนูอาหารในร้านแด๊ดดี้ โด เช่น พิซซ่า พาย สปาเกตตี สลัด เป็นต้น จากเดิมที่ขายเฉพาะโดนัทและเครื่องดื่มเท่านั้น เพื่อสร้างความหลากหลายและทดลองโมเดลใหม่ ๆ ต่อเนื่อง หวังสร้างโอกาสทางการขาย

สำหรับไก่ทอดเท็กซัส ซึ่งบริษัทได้สิทธิมาสเตอร์แฟรนไชส์ในไทยนั้น ปีนี้ยังเดินหน้าขยายสาขาต่อ แต่อาจจะเปิดเพิ่มไม่มาก เนื่องจากมีข้อจำกัดด้านโลเกชั่น ประกอบกับราคาค่าเช่าพื้นที่ภายในศูนย์การค้าค่อนข้างสูง โดยตอนนี้มี 23 สาขา ทั้งในศูนย์การค้าและสถานีบริการน้ำมัน

“การหาทำเลยากขึ้น ซึ่งจากนี้ก็จะเน้นการเปิดสาขาในปั๊มน้ำมัน ควบคู่ไปกับการพัฒนาสินค้าใหม่ ๆ ต่อเนื่อง เฉลี่ย 5 เดือนจะออกเมนูใหม่ เพื่อกระตุ้นตลาดและสร้างความแปลกใหม่ให้แก่ผู้บริโภคต่อเนื่อง”