โรงหนังแดนมังกรซึมยาว วิกฤต ‘ฟ่าน ปิงปิง’ ป่วนตลาด

คอลัมน์ Market Move

แม้วงการภาพยนตร์จีนอาจจะไม่โด่งดังเท่าฮอลลีวูดของสหรัฐหรือบอลลีวูดของอินเดีย แต่แดนมังกรครองตำแหน่งอันดับ 2 ของตลาดภาพยนตร์โลก ด้วยยอดขายตั๋วแตะ 6 หมื่นล้านหยวนหรือประมาณ 8.8 พันล้านเหรียญสหรัฐเป็นครั้งแรกในปี 2562 ที่ผ่านมา และในจำนวนนี้ 60% มาจากภาพยนตร์จีนเอง เป็นผลจากการเติบโตต่อเนื่องนาน 1 ทศวรรษ ระหว่างปี 2551-2561 ซึ่งดีมานด์จากชนชั้นกลางที่เพิ่มขึ้นทำให้จำนวนโรงภาพยนตร์เติบโตจาก 4,000 โรงเป็น 60,000 โรง และจำนวนภาพยนตร์ที่ผลิตออกมาเพิ่มจาก 500 เรื่องเป็น 1,000 เรื่องต่อปี

อย่างไรก็ตาม ในปี 2562 นี้กลับมีสัญญาณว่าการเติบโตต่อเนื่องของวงการภาพยนตร์จีนอาจสะดุดลง หลังยอดขายตั๋วช่วงตรุษจีนที่เคยเป็นไฮซีซั่นสำคัญกลับลดลงเป็นครั้งแรก ต่อเนื่องจากเดือน ม.ค.ที่ยอดขายตั๋วต่ำสุดในรอบ 5 ปี แม้รัฐบาลจีนจะให้เหตุผลว่าเป็นผลของการละเมิดลิขสิทธิ์ แต่แหล่งข่าวในวงการและนักวิเคราะห์มองว่าอาจเป็นควันหลงจากนโยบายปราบปรามการเลี่ยงภาษีในปีที่แล้ว ซึ่งมีดาราดังอย่าง “ฟ่าน ปิงปิง” อยู่ในรายชื่อผู้กระทำผิดและต้องจ่ายภาษีย้อนหลังถึง 100 ล้านเหรียญสหรัฐ สร้างแรงสั่นสะเทือนในวงการ

สำนักข่าว “บลูมเบิร์ก” รายงานว่า ช่วงหยุดยาวตรุษจีนที่ผ่านมา ยอดบอกซ์ออฟฟิศจีนลดลงอย่างหนัก โดยมีการเติบโตเพียง 1% ต่ำมากเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2561 ซึ่งเติบโตถึง 69% ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการปราบปรามการเลี่ยงภาษีของรัฐบาลจีน ซึ่งโฟกัสตรงมายังวงการภาพยนตร์ หลังรัฐบาลเรียกร้องให้นักแสดง ผู้กำกับ และสตูดิโอ “ตรวจสอบตนเองและแก้ไขผิดพลาด” โดยใช้คดีของฟ่าน ปิงปิง เป็นการเชือดไก่ให้ลิงดูส่งผลให้เกิดการชะลอตัวทั้งด้านการเผยแพร่และผลิตภาพยนตร์ เนื่องจากสปอนเซอร์เกรงว่าภาพยนตร์นั้น ๆ จะมีผู้เกี่ยวข้อง มีความผิดฐานเลี่ยงภาษี จึงยกเลิกการฉาย

ในขณะที่บรรดาบุคลากรในวงการต้องทำตัวโลว์โปรไฟล์ ส่วนสตูดิโอต้องระงับหรือยกเลิกโปรเจ็กต์ระหว่างตรวจสอบภาษี ในขณะที่เงินทุนขาดแคลนเพราะสถาบันการเงินขาดความมั่นใจและปฏิเสธการปล่อยกู้ ด้านโรงภาพยนตร์ขยายตัวลดลงเล็กน้อย โดยมีโรงใหม่ 9,303 โรง น้อยกว่าปี 2561 ที่มีโรงใหม่ 9,597 โรง

ADVERTISMENT

“อันเบิร์ต ลี” อดีตผู้บริหารของบริษัทภาพยนตร์ “เอ็มเพอเรอร์ โมชั่น พิกเจอร์ส” ฉายภาพว่า ช่วงที่ผ่านมาความตึงเครียดในวงการพุ่งสูงมาก บรรดานักแสดงบิ๊กเนมและผู้กำกับดังต่างถูกสื่อและเจ้าหน้าที่รัฐจับตามองอย่างใกล้ชิด จนพากันหยุดรับงานหรืองดออกสื่อ เพราะไม่ต้องการเป็นฟ่าน ปิงปิงคนต่อไป

สอดคล้องกับความเห็นของ “หว่อง รัน” ซีอีโอของธนาคารซีอีซี แคปิตอล ซึ่งกล่าวว่า ความกดดันนี้ส่งผลกับฝั่งผู้ผลิตด้วยเช่นกัน โดยสตูดิโอขนาดเล็กหลายรายต้องปิดกิจการ แม้แต่ยักษ์ใหญ่อย่าง “ฮัวยี่ บราเดอร์ส”
(Huayi Brothers) เจ้าของผลงานภาพยนตร์ “ตี๋เหรินเจี๋ย” ของผู้กำกับฉีเคอะ ยังต้องเสนอซื้อหุ้นคืนจาก
นักลงทุนและขอกู้เงินจากยักษ์อีคอมเมิร์ซอาลีบาบาเพื่อเรียกความเชื่อมั่นของนักลงทุน

ADVERTISMENT

“เชื่อว่าสถานการณ์นี้จะทำให้จำนวนบริษัทในวงการบันเทิงจีนจะลดลงอีก 1 ใน 3 ภายในปี 2562 นี้”

ด้านสมาคมผู้กำกับภาพยนตร์จีนได้ส่งจดหมายเปิดผนึกเมื่อเดือน ธ.ค. ระบุว่า เหตุการณ์นี้รัฐบาลสามารถจัดการผู้เลี่ยงภาษีได้เพียงหยิบมือ แต่สร้างความเสียหายให้กับทั้งวงการ

อย่างไรก็ตาม หลายฝ่ายคาดว่าในระยะยาววงการภาพยนตร์จีนจะกลับมาคึกคักอีกครั้ง “เจเน็ต หยาง” โปรดิวเซอร์สัญชาติจีน ให้ความเห็นว่า แม้ยาแรงของรัฐบาลจีนจะทำให้วงการสั่นสะเทือนไปบ้าง แต่เป็นประโยชน์ในระยะยาว นอกจากนี้ การที่วงการภาพยนตร์เริ่มถดถอย ยังมีสาเหตุจากช่วง 1-2 ปีนี้การลงทุนสร้างภาพยนตร์ฟุ้งเฟ้อมาก โดยมุ่งเน้นด้านภาพมากกว่าเนื้อหา เช่น เรื่อง “อสุรา” ซึ่งใช้งบฯสร้างถึง 100 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยมีการจ้างทีมงานระดับท็อป ไม่ว่าจะเป็นทีมออกแบบเครื่องแต่งกายจากลอร์ดออฟเดอะริงส์ ทีมสเปเชียลเอฟเฟ็กต์จากเดดพูล และอื่น ๆ แต่กลับอ่อนด้านบทจนทำรายได้เพียง 7 ล้านเหรียญสหรัฐเท่านั้น

ทั้งนี้ต้องรอดูว่าช่วงที่เหลือของปีวงการภาพยนตร์จีนจะสามารถฟื้นตัวกลับมาผลิตผลงานมาสเตอร์พีซเพื่อกวาดเม็ดเงินจากผู้ชม และแซงสหรัฐอเมริกาขึ้นเป็นตลาดภาพยนตร์เบอร์ 1 ของโลก ตามที่เคยมีผู้คาดการณ์ไว้ได้หรือไม่