เปิดเทรนด์ดึง กำลังซื้อนักช็อป สินค้าพรีเมี่ยม-เมืองรอง…โอกาสใหม่

คอลัมน์ จับกระแสตลาด

จะเกิดอะไรขึ้นกับผู้บริโภคในปีนี้ และแบรนด์ควรจะปรับตัวอย่างไร กลายเป็นคำถามสุดฮิตที่แบรนด์ก็พยายามหาคำตอบ เพื่อเจาะเข้าหาผู้บริโภคให้ได้ ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมผู้บริโภคที่เคลื่อนตัวอยู่ต่อเนื่อง

“สมวลี ลิมป์รัชตามร” กรรมการผู้จัดการ บริษัท นีลเส็น (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวในงานสัมมนา “What”s Next in 2019” ภายใต้หัวข้อ “เจาะเทรนด์ตลาด ผู้บริโภค และโอกาสทางธุรกิจที่ต้องรู้ในปี 2019 ของไทย” ว่า ปีนี้คาดว่าเศรษฐกิจไทยยังเติบโต โดยปัจจัยหลักมาจากการส่งออก การท่องเที่ยว และนโยบายของรัฐบาลที่อัดฉีดเข้าสู่ระบบทั้งโครงการเมกะโปรเจ็กต์ บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ รวมถึงจำนวนสนามบินที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต ซึ่งทั้งหมดส่งผลให้เศรษฐกิจกระจายตัวมากขึ้น ระบบขนส่ง การเดินทางดีขึ้น และเมืองรองจะเพิ่มความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจไทยในอนาคตมากขึ้นด้วย

อย่างไรก็ตาม แนวโน้มที่กำลังเกิดขึ้นตลาดไทยขณะนี้ แบ่ง 5 เทรนด์ ได้แก่ สังคมเมืองขยายตัวขึ้น คาดว่าปี 2568 คนกลุ่มนี้จะเพิ่มขึ้นอีก 1.1 ล้านคน ครอบคลุม 20 จังหวัด นั่นหมายถึงเมืองรองจะมีบทบาทต่อระบบเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น คนมีกำลังซื้อดีขึ้น กล้าจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น ทำให้สินค้ากลุ่มพรีเมี่ยมมีแนวโน้มการเติบโตที่ดีจากรายได้ที่มากขึ้น โดยสิ่งที่แบรนด์ต้องทำเป็นอันดับแรก คือ ต้องเข้าใจว่าพฤติกรรมผู้บริโภคกรุงเทพฯ และเมืองรองแตกต่างกัน ดังนั้น การวางแผนการตลาดก็ต้องเจาะตามกลุ่มและละเอียดมากขึ้น ด้วยการใช้เทคโนโลยีและดาต้าเข้ามาช่วย ขณะเดียวกันก็ต้องสร้างการรับรู้ให้แก่สินค้าพรีเมี่ยม เพื่อให้ผู้บริโภครู้สึกว่าแตกต่างจากแมสโปรดักต์ทั่ว ๆ ไปและรู้สึกว่าสินค้านั้นคุ้มค่าที่จ่าย

อีกเทรนด์ที่กำลังเกิดขึ้น คือ ขนาดครัวเรือนเล็กลง ล่าสุดเฉลี่ย 3 คนต่อครัวเรือน จากเดิมเฉลี่ย 6 คนต่อครัวเรือน สะท้อนจากจำนวนร้านสะดวกซื้อที่โตขึ้นโดยปัจจุบันมี 15,000 สาขากระจายอยู่ทั่วประเทศ และยังขยายตัวเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ อีกทั้งพฤติกรรมซื้อสินค้าในร้านสะดวกซื้อก็เปลี่ยนไป โดยนิยมซื้ออาหารสด อาหารพร้อมรับประทานมากขึ้น จากเดิมที่ซื้อเฉพาะสินค้าจำเป็น หรือซื้อสินค้าทดแทนเมื่อของที่ใช้อยู่หมดลงเท่านั้น โดยแบรนด์ต้องทำบรรจุภัณฑ์ และราคาให้ลดลงตามขนาดครัวเรือนที่เปลี่ยนไปด้วย

“สมวลี” กล่าวว่า แนวโน้มประชากรผู้สูงอายุที่เพิ่มจำนวนขึ้น คาดว่าปี 2568 สัดส่วนผู้สูงอายุจะคิดเป็น 40% ของประชากรทั้งหมด กลายเป็นอีกเทรนด์ที่แบรนด์ต้องเตรียมตัวให้พร้อมโดยเฉพาะสินค้าอุปโภคบริโภคและร้านค้าปลีก ซึ่งสินค้าอุปโภคบริโภคควรจะปรับบรรจุภัณฑ์ให้สอดรับกับคนกลุ่มนี้ ฉลากต้องอ่านง่าย สินค้าต้องเปิดง่าย ขณะที่ร้านค้าปลีกก็ควรเร่งพัฒนาระบบการขนส่งสินค้าแบบถึงบ้าน

นอกจากนี้อีกเทรนด์ที่สำคัญ คือ กลุ่มผู้หญิงมีแนวโน้มจะมีบทบาทในการตัดสินใจซื้อสินค้าและบริการเพิ่มขึ้น เนื่องจากรายได้เฉลี่ยของผู้หญิงสูงขึ้น ดังนั้น แบรนด์ก็พัฒนาสินค้าและบริการที่ตอบโจทย์คนกลุ่มนี้ด้วย เทรนด์สุดท้าย คือ พฤติกรรมการรับสื่อและซื้อสินค้าเปลี่ยนไป กระตุ้นให้ตลาดอีคอมเมิร์ซโตขึ้นต่อเนื่อง จากข้อมูลสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA) ระบุว่า ตลาดอีคอมเมิร์ซมีมูลค่ากว่า 8 แสนล้านบาท ซึ่งระบบขนส่งที่พัฒนาขึ้น การส่งสินค้าทำได้เร็วขึ้น ส่งผลให้ตลาดนี้เติบโตอย่างก้าวกระโดด

โดยสิ่งที่ผู้บริโภคนิยมซื้อผ่านออนไลน์ เช่น สินค้าแฟชั่น อาหาร สินค้าสุขภาพ ท่องเที่ยว สินค้าอุปโภคบริโภค เครื่องสำอาง เป็นต้น ขณะที่แนวโน้มการรับสื่อผ่านทีวีก็ไม่ได้ลดลง เฉลี่ย 4.12 ชม.ต่อวัน เพิ่มขึ้นจากปี 2557 ที่เฉลี่ย 4.07 ชม.ต่อวัน เพราะมีช่องมากขึ้นและทีวีก็พัฒนาตัวเองในหลากหลายมิติ แต่ต้องยอมรับว่าคนดูทีวี คือ กลุ่มคนสูงอายุและเป็นคนกลุ่มใหญ่ ซึ่งสิ่งที่แบรนด์ต้องทำ คือ หาให้เจอว่าผู้บริโภคอยู่ตรงไหนแล้วทำให้แบรนด์เข้าไปอยู่ตรงนั้น


ท้ายที่สุด เป้าหมายของนักการตลาดและแบรนด์ คือ ดึงกำลังซื้อออกจากกระเป๋าผู้บริโภคให้ได้ ท่ามกลางโจทย์ที่ยากขึ้นเรื่อย ๆ