อากาศเปลี่ยน-ธุรกิจป่วน ค้าปลีกอังกฤษมึน..ทำดีมานด์เพี้ยน

คอลัมน์ Market Move

ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ หรือไคลเมตเชนจ์ (climate change) ที่ทำให้ฤดูกาลทั่วโลกปั่นป่วนวุ่นวาย รวมถึงเกิดสภาพอากาศสุดขั้วอย่างหนาวจัดหรือร้อนจัดตลอดช่วงหลายปีที่ผ่านมานั้น นอกจากจะกระทบภาคเกษตรแล้ว ยังเริ่มลุกลามมากระทบภาคธุรกิจทั้งทางตรงและทางอ้อมในหลายประเทศ โดยเฉพาะเซ็กเมนต์ค้าปลีกและแฟชั่นที่ดีมานด์สินค้าหลายกลุ่มเชื่อมโยงกับฤดูกาล โดยหลายรายเริ่มปรับตัวทั้งลงทุนด้านระบบพยากรณ์อากาศหรือจ้างนักอุตุนิยมวิทยามาประจำบริษัท

สำนักข่าวบีบีซีรายงานว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ กำลังกลายเป็นอีกหนึ่งโจทย์สำคัญของบรรดาค้าปลีกและธุรกิจในอังกฤษซึ่งกำลังเผชิญหน้ากับเบร็กซิตอยู่แล้ว หลังสภาพอากาศต้นปีที่แล้วกับต้นปีนี้ตรงข้ามกันแบบคนละขั้ว โดยช่วงปลายเดือน ก.พ. 2561 อังกฤษเกิดคลื่นความเย็นผิดปกติ อุณหภูมิตกลงไปต่ำสุดที่ -11 องศาเซลเซียส และทำให้มีผู้เสียชีวิต 17 ราย จนมีการตั้งชื่อว่า Beast from the East

แต่ช่วงเดียวกันของปีนี้ อุณหภูมิกลับพุ่งสูงผิดปกติมาอยู่ที่ 21.2 องศาเซลเซียส ทำสถิติสูงสุดในรอบ 10 ปี ส่งผลให้ดีมานด์สินค้าปั่นป่วนตามไปด้วย สะท้อนจากยอดขายสินค้าหน้าร้อนพุ่งสูงขึ้นตามข้อมูลของยักษ์ค้าปลีก “จอห์น ลูว์อิส” (John Lewis) ที่ระบุว่า ในช่วงสัปดาห์เดียวแว่นกันแดด ชุดว่ายน้ำ และกางเกงขาสั้นขายดีขึ้นถึง 13% สอดคล้องกับข้อมูลของ “เซนส์บิวรีส์” (Sainsbury’s) ค้าปลีกรายใหญ่อีกรายที่เปิดเผยว่า ไวน์กุหลาบ ซึ่งเป็นสินค้ายอดนิยมช่วงฤดูร้อนขายดีจนเติมสินค้าแทบไม่ทัน

อย่างไรก็ตาม ในระยะยาวปรากฏการณ์นี้อาจส่งผลกระทบด้านลบกับภาคธุรกิจแทนได้ “ฟิล วิลเลียม” จากมหาวิทยาลัยอีสต์ แอลเกลีย กล่าวว่า ฤดูกาลที่ผิดเพี้ยนจะส่งผลแบบลูกโซ่ เริ่มจากภาคเกษตรที่มีผลผลิตลดลงและด้อยคุณภาพ ทำให้ร้านค้าต้องปรับขึ้นราคาเนื่องจากดีมานด์สูงกว่าซัพพลาย ขณะเดียวกันสภาพอากาศเย็นจัดยังขัดขวางการจับจ่ายของผู้บริโภค กระทบกับค้าปลีกเพราะผู้คนต่างหลบหนาวอยู่ในที่พัก

Advertisment

นอกจากนี้แม้อากาศร้อนเช่นเดียวกับปีนี้จะช่วยเพิ่มความเชื่อมั่นของผู้บริโภค แต่สำหรับธุรกิจสามารถสร้างผลลบได้เช่นกัน ตัวอย่างเช่น “ซูเปอร์ดราย” (Superdry) ซึ่งกล่าวว่า สภาพอากาศร้อนผิดปกติช่วงเดือน มิ.ย.-ก.ค. ในหลายภูมิภาคเมื่อปีที่แล้ว ทำให้การกระจายสินค้าคอลเล็กชั่นฤดูหนาวมีปัญหาจนกระทบกับยอดขาย นอกจากนี้หากเกิดคลื่นความร้อนจะส่งผลกับโครงสร้างพื้นฐานด้วย โดยฤดูร้อนที่ผ่านมาระบบรถไฟฟ้าและระบบมือถือล่มเพราะอุปกรณ์เสียหาย ส่วนถนนหลายแห่งถึงกับละลาย แต่ยังมีฝ่ายที่เห็นต่างว่า ธุรกิจสามารถพลิกวิกฤตนี้ให้เป็นโอกาสได้เช่นกัน โดย “ลี สปาร์ก” ศาสตราจารย์ด้านค้าปลีกของมหาวิทยาลัยสเตอร์ลิง อธิบายว่า สภาพอากาศหนาวจัดอาจทำให้ผู้คนไม่ออกจากบ้าน และไม่สามารถขนส่งสินค้าได้ แต่อาจเป็นโอกาสสำหรับร้านค้าในย่านชุมชนและซัพพลายเชน โดยจุดสำคัญคือต้องส่งสินค้าเข้าไปให้เร็วและสต๊อกสินค้าให้ถูกชนิดและปริมาณ

Advertisment

ขณะเดียวกันพฤติกรรมของผู้บริโภคจะเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย โดยหากอากาศร้อน ผู้บริโภคอาจผันเม็ดเงินจากการซื้อสินค้าไปใช้กับการพักผ่อน-ท่องเที่ยวแทน ส่วนสินค้าหลายกลุ่มอาจมีช่วงพีกที่แตกต่างไปจากเดิมเพื่อรับมือกับความผันผวนเหล่านี้ หลายบริษัทในอังกฤษเริ่มลงทุนซื้อและติดตั้งระบบพยากรณ์อากาศของตนเอง หรือบางรายถึงกับจ้างนักอุตุนิยมวิทยามาประจำไว้ในออฟฟิศ พร้อมกับเพิ่มความหลากหลายของสินค้าที่ลอนช์ในแต่ละช่วงเวลาเผื่อเอาไว้ รวมถึงเร่งสปีดการส่งสินค้าเข้าหน้าร้านให้ทันกับความเปลี่ยนแปลงของอากาศ

สำหรับทิศทางในอนาคตนั้น “เอ็ด ฮอว์กิ้น” ศาสตราจารย์ด้านวิทยาศาสตร์ภูมิอากาศ มหาวิทยาลัยรีดดิ้ง กล่าวว่า หากสถานการณ์โลกร้อนยังดำเนินต่อไป ธุรกิจอังกฤษต้องตื่นตัวและเร่งปรับตัวให้ชินกับสภาพอากาศที่จะร้อนขึ้น ซึ่งนับว่าท้าทายมาก เพราะแม้ที่ผ่านมาคณะกรรมการตรวจสอบด้านสิ่งแวดล้อมของสภาจะลงความเห็นว่า ธุรกิจต้องวางแผนระยะยาวเพื่อรับมือ แต่หลายรายยังเพิกเฉย

“ปัญหาของภาคธุรกิจตอนนี้คือ แนวคิดแบบไม่เห็นโลงศพไม่หลั่งน้ำตา โดยจะมีแอ็กชั่นก็ต่อเมื่อตนเองได้รับผลกระทบแล้วเท่านั้น”