บริษัทแม่สั่งลุย-อัดงบฯพิเศษ “ไมเดีย” ท้าชิงแอร์เบอร์3ใน5ปี

บริษัทแม่ “ไมเดีย” ชูไทยเป็นยุทธศาสตร์หลักในอาเซียน พร้อมเร่งเครื่องบุกตลาดแอร์ 2.2 หมื่นล้านรอบทิศ พร้อมซัพพอร์ตงบฯจากส่วนกลางเพิ่ม หวังขึ้นแท่นเบอร์ 3 ใน 5 ปี ส่งรุ่นใหม่ทำตลาดปีนี้ 5 ซีรีส์ ชูฟังก์ชั่นเร็วทันใจ กรองฝุ่น ประหยัดไฟ พร้อมขยายช่องทางจำหน่ายโมเดิร์นเทรด ศูนย์บริการอีกกว่า 100 แห่งรองรับลูกค้าทั่วประเทศ

นายเฮนรี เฉิน ผู้จัดการทั่วไป ฝ่ายผลิตภัณฑ์เครื่องปรับอากาศประจำภูมิภาคอาเซียน บริษัท ไมเดีย เรซิเดนเชียล แอร์ คอนดิชันเนอร์ โอเวอร์ซี เซลส์ คอมปะนี ประเทศจีน กล่าวว่า ไมเดีย กรุ๊ป เป็นบริษัทผู้ผลิตและจำหน่ายเครื่องใช้ไฟฟ้ารายใหญ่ของจีน มีสินค้าครอบคลุมหลายประเภท อาทิ แอร์ ตู้เย็น เครื่องซักผ้า ไมโครเวฟ หม้อหุงข้าว พัดลม ฯลฯ โดยแอร์เป็นสัดส่วนใหญ่ที่สุด มีมาร์เก็ตแชร์ในจีน 28% เป็นอันดับ 2 และเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ที่สุดของโลก รวมกว่า 200 ประเทศ ซึ่งในปีที่ผ่านมาทั้งกรุ๊ปมีรายได้อยู่ที่ 1 ล้านล้านบาท

บริษัทมีเป้าหมายที่จะสร้างการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะตลาดแอร์อาเซียนที่ตั้งเป้าโตขึ้น 30% จึงมีแผนที่จะเดินหน้าขยายการลงทุนและทำตลาดในไทยมากขึ้น เนื่องจากไทยเป็นตลาดใหญ่ที่สุดในภูมิภาคนี้ มีมูลค่าประมาณ 2.2 หมื่นล้านบาท หรือกว่า 2 ล้านเครื่อง (ตลาดอาเซียนมี 10 ล้านเครื่อง) และมีศักยภาพการเติบโตทั้งในแง่ของการเข้าถึงสินค้าของคนในประเทศที่ยังขยายตัวได้อีกจำนวนมาก ตลอดจนความเชื่อมั่นในสินค้าแบรนด์จีนที่เพิ่มขึ้น และความร่วมมือระดับรัฐบาลไทย-จีน ในโครงการ One Belt One Road หรือเส้นทางสายไหม ที่จะเชื่อมต่อการค้าระหว่าง 2 ประเทศให้สะดวก และมีประสิทธิภาพ ส่งผลต่อต้นทุนการบริหารสินค้าที่จะลดลง

แม้ว่าบริษัทจะพึ่งเข้ามาทำตลาดในประเทศไทยอย่างจริงจังเมื่อ 2-3 ปีที่ผ่านมา และขณะนี้จะมีมาร์เก็ตแชร์ในตลาดอยู่ที่ 2.2% หรืออยู่ประมาณอันดับที่ 10 แต่ภายใน 5 ปีต่อจากนี้ ตั้งเป้าที่จะเติบโตอย่างก้าวกระโดด เพื่อขึ้นเป็นอันดับที่ 3 ของตลาด หรือมีมาร์เก็ตแชร์อยู่ที่ 13%

นายโทนี่ หลิว ผู้จัดการอาวุโส กลุ่มผลิตภัณฑ์เครื่องปรับอากาศ ประจำประเทศไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า ในช่วงที่ผ่านมาบริษัทใช้กลยุทธ์ป่าล้อมเมือง เพื่อสร้างการรับรู้แบรนด์และตลาดในต่างจังหวัดก่อน ผ่านช่องทางการขาย อาทิ ร้านเครื่องใช้ไฟฟ้า และเครื่องปรับอากาศ โดยชูเรื่องราคาที่เข้าถึงได้ง่าย เมื่อเทียบกับคู่แข่งที่มีฟังก์ชั่นเดียวกัน ทำให้การเติบโตในปีที่ผ่านมาของแบรนด์ไมเดีย อยู่ที่ 54% สวนทางกับตลาดภาพรวมที่หดตัวลง 8% ซึ่งมีผลมาจากสภาพอากาศที่แปรปรวน มีฝนตกเร็วกว่าทุกปี ตลอดจนกำลังซื้อที่ชะลอตัวลง

สำหรับแผนการลงทุนต่อจากนี้ ได้เตรียมที่จะขยายตลาดไปสู่กลุ่มลูกค้าใหม่ ๆ โดยเฉพาะกรุงเทพฯ และหัวเมืองหลักมากขึ้น เพื่อรับกับนโยบายการเติบโตและเป้าหมายของบริษัทแม่ เริ่มจากปีนี้ได้ส่งสินค้าใหม่จำนวน 5 ซีรีส์ จำนวน 20 เอสเคยู มีฟังก์ชั่นเด่นคือ ระบบที่ทำความเย็นได้อย่างรวดเร็ว ภายใน 30 วินาที ยับยั้งแบคทีเรีย และดักจับฝุ่นละอองอานุภาคขนาดเล็ก ตลอดจนรุ่นที่ประหยัดพลังงานได้ถึง 30% จากรุ่นปกติ ในราคาตั้งแต่ 12,900 บาท ถือเป็นราคาที่ต่ำกว่าคู่แข่งที่มีฟังก์ชั่นเท่ากัน หรือรุ่นอินเวอร์เตอร์ของไมเดียจะมีราคาใกล้เคียงรุ่นปกติของแบรนด์อื่น

พร้อมกับการขยายช่องทางจำหน่ายไปยังกลุ่มโมเดิร์นเทรด และการขายในรูปแบบของโปรเจ็กต์ ทั้งหน่วยงานรัฐ และเอกชนมากขึ้น จากปัจจุบันที่ขายผ่านร้านเครื่องใช้ไฟฟ้าเป็นช่องทางหลัก ตลอดจนการสร้างแบรนด์อะแวร์เนส ผ่านช่องทางต่าง ๆ อาทิ สื่อสิ่งพิมพ์ แมกาซีน สื่อท้องถิ่น สื่อออนไลน์ เป็นต้น รวมถึงการอัพเกรดศูนย์บริการที่มีอยู่ เพิ่มศักยภาพในการรองรับลูกค้าและบริการหลังการขายได้ดียิ่งขึ้น โดยปีนี้ตั้งเป้ามีเพิ่ม 108 แห่ง และมีการเติบโตของยอดขาย 74%

โดยจะใช้งบฯการลงทุน และงบฯการทำตลาด รวมทั้งสิ้นประมาณ 12% ของยอดขาย จากบริษัท โตชิบา ไทยแลนด์ จำกัด ซึ่งเป็นผู้นำเข้าและจัดจำหน่ายแบรนด์ไมเดียในไทย และอีก 5% จากบริษัทแม่ หรือ ไมเดีย เรซิเดนเชียล แอร์ คอนดิชันเนอร์ โอเวอร์ซี เซลส์ คอมปะนี ประเทศจีน

สำหรับกลยุทธ์ในช่วง 5 ปี ต้องการที่จะสร้างช่องทางการจัดจำหน่ายให้ครอบคลุมทั่วประเทศ ตลอดจนการนำสินค้าใหม่ ๆ เข้ามาทำตลาดเพิ่มขึ้นทุกปี เพื่อตอบรับกับความต้องการของผู้บริโภคอย่างต่อเนื่อง เช่น การนำเทคโนโลยีไอโอที (IOT) เข้ามาใช้ หรืออื่น ๆ ซึ่งมาจากการพัฒนาของวิศวกรและทีมไอทีของบริษัทกว่า 1,000 คนที่อยู่ในสำนักงานใหญ่

เนื่องจากปัจจุบันบริษัทได้ใช้ฐานผลิตในเมืองกว่างโจว ประเทศจีน ซึ่งเป็น 1 ใน 18 ฐานผลิตที่อยู่ในจีน สำหรับผลิตเพื่อป้อนให้กับตลาดไทย ซึ่งได้ลงทุนกว่า 5 พันล้านบาทเพื่ออัพเกรดโรงงานเมื่อไม่นานมานี้นำหุ่นยนต์ 800 ตัว เข้ามาใช้ในไลน์การผลิต เพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนทางธุรกิจ ประกอบกับในช่วงที่ผ่านมารัฐบาลไทยได้ลดอัตราภาษีนำเข้าแอร์จากจีนจาก 20% เหลือ 5% ยิ่งทำให้ควบคุมต้นทุนได้ดีขึ้น เมื่อคำนวณต้นทุนจากการผลิตจำนวนมาก ๆ (economy of scale) แม้รวมค่าขนส่งก็ยังถือว่าทำราคาได้ดีกว่า จึงยังไม่มีแผนที่ชัดเจน สำหรับการเข้ามาลงทุนตั้งโรงงานเครื่องปรับอากาศในไทย

สำหรับภาพรวมตลาดแอร์ในปีนี้ มองว่าตลาดจะกลับมาเติบโตขึ้นอีกครั้ง ประมาณ 5% หรือมีมูลค่า 2.5 หมื่นล้านบาท ด้วยสภาพอากาศที่ร้อนอย่างต่อเนื่อง และการบุกตลาดของไมเดียที่มากขึ้น