ทำไม ยูนิโคล่…ถึงโตไม่หยุด ซุ่มคุย “สะดวกซื้อ” ปั้นโมเดลใหม่

คอลัมน์ จับกระแสตลาด
“ยูนิโคล่” ฟาสต์แฟชั่นสัญชาติญี่ปุ่น หลังจากรุกตลาดแฟชั่นไทยครั้งแรกเมื่อ 8 ปีก่อน ก็ได้กลายเป็นดาวรุ่งพุ่งแรงด้วยจำนวนสาขา 48 แห่งทั่วประเทศ ยึดทำเลทั้งห้างสรรพสินค้า คอมมิวนิตี้มอลล์ ไฮเปอร์มาร์เก็ต รวมถึงสแตนด์อะโลน ซึ่งปีนี้ยังคงเดินหน้าลงทุนขยายสาขาต่อเนื่อง อาทิ โรดไซด์มีนบุรีและเซ็นทรัลเฟสติวัล ภูเก็ต จนสามารถกวาดรายได้ปีที่แล้วไปถึง 1 หมื่นล้านบาท พร้อมกำไร 1.9 พันล้านบาท หรือเกือบ 20% ของยอดขายอีกทั้งยังเติบโตต่อเนื่องระหว่างปี 2559-2561 ในระดับ 27%, 28% และ 15% ตามลำดับ เรียกได้ว่าเติบโตไม่หยุด
 
โดยในงานเปิดตัวยูนิโคล่ สาขาโรดไซด์ บุญถาวร ปิ่นเกล้า “โอกุริ โทโมโยชิ” ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท ยูนิโคล่ (ประเทศไทย) จำกัด ได้อธิบายถึงกลยุทธ์ที่ช่วยให้แบรนด์เติบโตต่อเนื่องไว้ว่า แนวคิด “ไลฟ์แวร์” (LifeWear) เป็นหัวใจหลักของความสำเร็จ ไม่ว่าจะเป็นตัวสินค้าที่ออกแบบให้เรียบง่าย แต่ทันสมัยและมีคุณภาพ เหมาะกับทุกเพศทุกวัยตั้งแต่เด็กเล็กถึงสูงวัย รวมถึงอัพเดตดีไซน์และนวัตกรรมอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้ตอบโจทย์ผู้บริโภคแต่ละตลาดได้ตรงจุด
 
ขณะที่การตลาดนั้นเน้นให้ผู้บริโภคเข้าถึงสินค้าได้ง่ายที่สุดเพื่อเพิ่มโอกาสขาย ไม่ว่าจะเป็นการเปิดช่องทางอีคอมเมิร์ซ เมื่อปี 2559 ซึ่งนอกจากขายสินค้าผ่านออนไลน์แล้ว ยังเสริมด้วยบริการอย่างการเลือกรับสินค้าเองที่สาขา หรือ “คลิกแอนด์คอลเลกต์”
 
ซึ่งขณะนี้กำลังเจรจากับพันธมิตรเพื่อเพิ่มตัวเลือกให้สามารถรับสินค้าในช่องทางอื่น ๆ เช่น ร้านสะดวกซื้อได้ด้วย รวมถึงมีบริการส่งด่วนภายในวันเดียวและบริการเก็บเงินปลายทาง รวมถึงจัดโปรโมชั่นกระตุ้นการใช้งานแอปพลิเคชั่นเพื่อสร้างช่องทางสื่อสารกับลูกค้าโดยตรง
 
บริการเสริมเหล่านี้ช่วยให้ยอดขายผ่านช่องทางอีซี่ในไทยมีสัดส่วนเป็นเลข 1 หลัก ในขณะที่ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีสัดส่วนประมาณ 5% ของยอดขายรวม ด้านออฟไลน์เดินหน้าขยายสาขาเข้าไปในทุกทำเลที่มีศักยภาพ ทั้งจำนวนผู้บริโภคและระดับกำลังซื้อ รวมถึงความสะดวกในการเดินทาง ไม่ว่าจะเป็นภายในศูนย์การค้า ไฮเปอร์มาร์เก็ต รวมถึงคอมมิวนิตี้มอลล์และสแตนด์อะโลนด้วยโมเดลโรดไซด์ ซึ่ง 2 สาขาแรกประสบความสำเร็จสูงมาก
 
ทั้งนี้ ผู้บริหารหนุ่มยังได้ขยายความถึงยูนิโคล่โรดไซด์ ในฐานะตัวแปรใหม่ที่เข้ามามีบทบาทหนุนการเติบโตของธุรกิจทั้งในไทยและอาเซียนหลังจากนี้ จากการช่วยเปิดความเป็นไปได้ของการขยายธุรกิจนอกห้างสรรพสินค้า อีกทั้งยังกรุยทางไปสู่ตำแหน่งแม็กเนตของธุรกิจค้าปลีกที่บริษัทหวังไว้
 
โดยกล่าวอย่างตื่นเต้นว่า โมเดลโรดไซด์นั้นนอกจากจะสามารถดึงดูดผู้บริโภคโดยเฉพาะกลุ่มครอบครัวที่เดินทางมาใช้บริการได้สะดวกขึ้น เพราะสามารถขับรถมาจอดหน้าร้านหรือเดินมาจากบ้านได้ไม่ต้องฝ่ารถติดและวนหาที่จอดรถในห้าง ขณะเดียวกันก็ไม่ต้องแข่งขันกับแบรนด์แฟชั่นอื่น ๆ รวมถึงช่วยหนุนธุรกิจในพื้นที่และชุมชนโดยรอบอีกด้วย
 
ซึ่งจากการสำรวจของบริษัทพบว่า การเข้าไปตั้งร้านช่วยสนับสนุนกิจการและสภาพสังคมในพื้นที่ ตั้งแต่การเพิ่มปริมาณทราฟฟิกจึงเพิ่มโอกาสขายให้กับผู้ค้าในย่าน และสร้างโอกาสให้ผู้ค้ารายอื่น ๆ เข้ามาเปิดกิจการเพิ่มเติม การจ้างงานในชุมชน รวมถึงเพิ่มความปลอดภัยช่วงพระอาทิตย์ตกถึง 4 ทุ่มจากแสงสว่างและความคึกคัก ในขณะที่บริษัทจัดกิจกรรมร่วมกับผู้บริโภคในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง เช่น แนะนำเรื่องการแต่งตัวให้เยาวชน
 
“ทั้งนี้เป็นผลจากการลงพื้นที่ศึกษาทำเลและชุมชนรอบ ๆ สาขาล่วงหน้าก่อนที่จะเข้าไปตั้งธุรกิจ จึงสามารถปรับกลยุทธ์ให้เข้ากับลักษณะของพื้นที่และชุมชนได้ เช่น สาขาบุญถาวรได้ขยายพื้นที่จอดรถให้มากขึ้น เป็นต้น”
 
หลังจากนี้จึงมีแผนเพิ่มสาขาโมเดลนี้ให้มากขึ้น อีกทั้ง กทม.และต่างจังหวัด โดยเน้นให้เป็นโซเชียลฮับ หรือศูนย์รวมของชุมชนในพื้นที่โดยรอบไปพร้อมกัน เรียกได้ว่านอกจาก “ไลฟ์แวร์” แล้ว “โรดไซด์” กำลังกลายเป็นไม้ตายท่าที่ 2 ของยักษ์ฟาสต์แฟชั่นรายนี้ที่จะใช้เร่งสปีดขยายธุรกิจในภูมิภาคอาเซียน