ค้าปลีกออนไลน์ดันงบโฆษณาดิจิทัลอู้ฟู่

มาแรงแซงโค้ง ค้าปลีกออนไลน์ ดาวรุ่งใหม่ดันโฆษณาดิจิทัลคึกคัก หลังผู้เล่นอีคอมเมิร์ซจัดหนัก ส่งโปรโมชั่นเด็ดแบบเดือนเว้นเดือน หวังกระตุ้นยอดขายต่อเนื่อง สมาคมโฆษณาดิจิทัลคาดมูลค่าตลาดปีนี้แตะ 1.9 หมื่นล้านบาท โดยรถยนต์ สื่อสาร สกินแคร์ ยังครองแชมป์ใช้งบฯสูงสุด ขณะที่เฟซบุ๊ก ยูทูบ เสิร์ช ยังไม่สิ้นมนต์ กวาดเม็ดเงิน 60% ของงบฯโฆษณาสื่อดิจิทัล

นายศิวัตร เชาวรียวงษ์ นายกสมาคมโฆษณาดิจิทัล (ประเทศไทย) กล่าวว่า การใช้งบฯโฆษณาผ่านสื่อดิจิทัลมีแนวโน้มการเติบโตต่อเนื่องทุกปี โดยปีนี้คาดว่าจะโต 16% จากปีก่อน หรือมีมูลค่า 19,692 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนถึง 18-20% ของงบฯโฆษณารวม ซึ่งคาดว่ากลุ่มสินค้าที่จะใช้เม็ดเงินผ่านสื่อดิจิทัลสูงสุด 5 อันดับแรก ก็ยังเป็นกลุ่มเดิม ได้แก่ รถยนต์ 2,783 ล้านบาท ธุรกิจสื่อสาร 2,115 ล้านบาท สกินแคร์ 1,753 ล้านบาท ธนาคาร 1,396 ล้านบาท และเครื่องดื่มน็อนแอลกอฮอล์ 1,239 ล้านบาท

“แนวโน้มการใช้งบฯโฆษณาผ่านสื่อดิจิทัลเติบโตเป็นตัวเลขสองหลักทุกปี โดยปี 2555 มีมูลค่าเพียง 2,783 ล้านบาท และโตขึ้นแบบก้าวกระโดดในปี 2560 ที่มีมูลค่าสูงถึง 12,402 ล้านบาท ส่วนปี 2561 ก็โตถึง 16,928 ล้านบาท ซึ่งสูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ว่า จะมีมูลค่าเพียง 14,973 ล้านบาท นั่นหมายถึงสินค้าต่าง ๆ ก็ใช้งบฯกับสื่อดิจิทัลสูงขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งปัจจัยหลักมาจากสื่อดิจิทัลสามารถเข้าถึงคนทุกกลุ่มได้ดีขึ้น และวัดยอดขายได้อย่างมีประสิทธิภาพ”

ขณะเดียวกัน กลุ่มค้าปลีก ถือเป็นดาวรุ่งที่จะหนุนให้การใช้เม็ดเงินผ่านสื่อนี้โตขึ้น โดยเฉพาะค้าปลีกออนไลน์ หรืออีคอมเมิร์ซ เนื่องจากพฤติกรรมผู้บริโภคขณะนี้นิยมซื้อสินค้าผ่านออนไลน์สูงขึ้น ขณะที่การแข่งขันของผู้เล่นในตลาดนี้ก็คึกคักขึ้น มีการจัดโปรโมชั่นแรงขึ้น ถี่ขึ้น และไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะช่วงเทศกาลพิเศษปลายปีเหมือนที่ผ่านมา แต่สร้างแคมเปญ โปรโมชั่นใหม่ที่แบ่งย่อยมากขึ้น เช่น ยิงโปรโมชั่นแบบเดือนเว้นเดือน หรือทุกเดือน หวังกระตุ้นตลาดต่อเนื่อง

“กลุ่มอีคอมเมิร์ซลงเงินกับสื่อดิจิทัลมากขึ้น ขณะที่กลุ่มค้าปลีกเดิมอย่าง ห้าง กลุ่มโมเดิร์นเทรดต่าง ๆ ก็มีแนวโน้มการใช้งบฯกับสื่อนี้มากขึ้น เพื่อเป็นช่องทางในการสร้างยอดขายอีกทาง ทำให้เม็ดเงินบนสื่อดิจิทัลก็โตตามไปด้วย ส่วนกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ก็เป็นอีกกลุ่มที่ใช้งบฯมาก เนื่องจากต้องการโละคอนโดฯที่มีอยู่ เพราะสถานการณ์ที่ผ่านมาก็ไม่ดี บางโครงการยอดไม่โต ซึ่งการใช้สื่อนี้สามารถให้ข้อมูลข่าวสารและเจาะตรงกลุ่มเป้าหมายได้ดี”

นายศิวัตรกล่าวต่อว่า นอกจากนี้รูปแบบการสื่อสารผ่านสื่อดิจิทัลเปลี่ยนไป โดยสินค้าเน้นการสร้างแคมเปญ สร้างกระแส และดึงคนเข้าไปที่สโตร์ เพื่อปิดการขายมากขึ้น ซึ่งแตกต่างจากเดิมที่ใช้สื่อดิจิทัล เพื่อสร้างการรับรู้เท่านั้น ทำให้ความเข้มข้นในการใช้สื่อนี้ก็สูงขึ้นตามไปด้วย

ในแง่แพลตฟอร์มคาดว่า เฟซบุ๊กยังครองส่วนแบ่งตลาดสูงสุด คิดเป็นสัดส่วน 28% หรือมีมูลค่า 5,558 ล้านบาท ตามด้วยยูทูบ 17% คิดเป็น 3,364 ล้านบาท และเสิร์ช 10% คิดเป็น 2,010 ล้านบาท ส่วนไลน์อยู่ที่ 7% หรือคิดเป็นมูลค่า 1,425 ล้านบาท

“เฟซบุ๊ก ยูทูบ และเสิร์ช ยังเป็นแพลตฟอร์มหลักที่แบรนด์เลือกใช้ในการสื่อสารกับผู้บริโภค เพราะสามารถเข้าถึงผู้บริโภคได้จำนวนมาก โดยคิดเป็นสัดส่วนถึง 60% ของงบฯโฆษณาสื่อดิจิทัล”