โซนี่ ปรับโครงสร้างธุรกิจ ยืดสายป่าน…รับมือถือ 5G

คอลัมน์ Market Move

วันที่ 1 เม.ย.ที่ผ่านมา นับเป็นวันขึ้นปีงบประมาณใหม่ของรัฐบาลญี่ปุ่น ซึ่งธุรกิจสัญชาติญี่ปุ่นหลายรายจะใช้วันนี้เป็นจุดเริ่มต้นสำหรับโครงการต่าง ๆ ด้วยเช่นกัน หนึ่งในนั้นคือ “โซนี่” ยักษ์อิเล็กทรอนิกส์รายใหญ่ ซึ่งประกาศปรับโครงสร้างธุรกิจครั้งใหม่ มีผลในวันที่ 1 เม.ย.เป็นต้นไป หวังยื้อธุรกิจผลิตโทรศัพท์มือถือที่ประสบปัญหาขาดทุนต่อเนื่องให้สามารถไปต่อได้จนกว่ากระแสบูมจากเทคโนโลยี 5G จะมาถึง

สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า “โซนี่” ประกาศปรับโครงสร้างกลุ่มธุรกิจสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ใหม่ โดยควบรวมธุรกิจโทรศัพท์มือถือแบรนด์ “เอ็กซ์พีเรีย” และกลุ่มสินค้าอิเล็กทรอนิกส์อื่น ๆ เช่น ทีวี เครื่องเสียง กล้องดิจิทัล เป็นกลุ่มธุรกิจใหม่ในชื่อ “สินค้าอิเล็กทรอนิกส์และโซลูชั่น” (Electronics Products and Solutions) มี “ชิเกคิ อิชิสึกะ” รองประธานธุรกิจกล้องมากุมบังเหียน พร้อมเดินหน้าปรับลดพนักงานของหน่วยธุรกิจโทรศัพท์มือถือทั่วโลกลง 50% จาก 4,000 คนเหลือ 2,000 คน ภายในสิ้นเดือน มี.ค. 2563 ด้วยการให้ข้อเสนอเออร์ลี่รีไทร์ในจีนและยุโรป ส่วนในญี่ปุ่นจะใช้การโยกย้ายไปยังหน่วยธุรกิจอื่นภายในบริษัท

ขณะเดียวกันยังปรับโครงสร้างการผลิต โดยปิดโรงงานผลิตโทรศัพท์มือถือในประเทศจีนและหันมาใช้โรงงานที่ประเทศไทยร่วมกับการเอาต์ซอร์ซเป็นกำลังผลิตหลักแทน ส่วนการทำตลาดจะไปเน้นหนักที่ตลาดยุโรปและเอเชียตะวันออกเป็นหลัก

พร้อมกันนี้ “ฮิโรกิ โทโทกิ” ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงินของโซนี่ กล่าวว่า การขาดทุนของธุรกิจมือถือนั้นยังอยู่ในระดับที่สามารถยอมรับได้ เนื่องจากส่วนหนึ่งเป็นผลจากการลงทุนพัฒนาเทคโนโลยี 5G ด้วยหน่วยงานภายในองค์กร เพื่อชิงความได้เปรียบจากเทรนด์ 5G ที่เชื่อว่าจะเป็นปัจจัยบวกสำคัญของตลาดโทรศัพท์มือถือ

ทั้งนี้บรรดานักวิเคราะห์มองว่าความเคลื่อนไหวนี้เป็นความพยายามยื้อธุรกิจมือถือซึ่งปัจจุบันเป็นธุรกิจเดียวในพอร์ตโฟลิโอของโซนี่ที่ยังขาดทุนอยู่ ซึ่งปีงบฯ 2561 (สิ้นสุด 31 มี.ค. 2562) ที่ผ่านมาคาดว่าจะขาดทุนถึง 910 ล้านเหรียญสหรัฐ นับเป็นการขาดทุนต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 จากยอดขายทั่วโลกเพียง 6.5 ล้านเครื่อง ลดลงถึง 50% จากปีก่อนหน้า และเป็นเพียง 1 ใน 6 ของยอดขายเมื่อ 5 ปีก่อน

โดยการควบรวมธุรกิจนี้จะช่วยซ่อนผลประกอบการด้านโทรศัพท์มือถือจากสายตาของนักลงทุนและลดแรงกดดันทางธุรกิจลง หลังเริ่มมีเสียงเรียกร้องให้โซนี่ตัดใจขายธุรกิจนี้ทิ้ง เช่นเดียวกับธุรกิจคอมพิวเตอร์ แต่ทางบริษัทกลับต้องการอุ้มธุรกิจโทรศัพท์มือถือเอาไว้ก่อน เนื่องจากเชื่อว่ายังมีโอกาสตีตื้นเมื่อกระแส 5G มาถึง


ดังนั้นต้องรอดูกันว่ายักษ์อิเล็กทรอนิกส์รายนี้จะสามารถสร้างปาฏิหาริย์พลิกฟื้นธุรกิจโทรศัพท์มือถือให้กลับมามีกำไรอีกครั้งเช่นเดียวกับธุรกิจอื่น ๆ ได้หรือไม่